การใช้ฮอร์โมนในวัยรุ่นหญิงข้ามเพศ

การเหนี่ยวนำลักษณะทางเพศด้วยฮอร์โมนเอสตราดิออล ในวัยรุ่นหญิงข้ามเพศกรณีก่อนหรือกำลังเข้าสู่ระยะเป็นหนุ่มสาว

การใช้ฮอร์โมนเอสตราดิออล แบบรับประทาน

แนะนำ ให้ใช้ยาเอสตราดิออล (17β-estradiol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดเดียวกับฮอร์โมนที่สร้างมากที่สุดจากรังไข่ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดย 17β-estradiol มีทั้งในรูปแบบรับประทานและแบบผ่านทางผิวหนัง แนะนำให้ค่อย ๆ เพิ่มขนาดยา 17β-estradiol ทุกๆ 6 เดือน เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายคล้ายกับการเข้าสู่วัยสาวตามธรรมชาติมากที่สุด การเหนี่ยวนำลักษณะทางเพศดังกล่าวนี้อาจใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีนับจากขนาดยาเริ่มต้นไปจนถึงขนาดยาสุดท้าย ผลิตภัณฑ์ยาฮอร์โมน 17β-estradiol ที่มีใช้ในปัจจุบันถูกออกแบบและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของไทยและนานาชาติ ในฐานะฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการประยุกต์โดยการนำ ฮอร์โมน 17β-estradiol ชนิดนี้มาใช้ในหญิงข้ามเพศได้อย่างปลอดภัย

ตัวอย่างการใช้ฮอร์โมนเอสทราดิออลแบบรับประทาน ในวัยรุ่นหญิงข้ามเพศ กรณีก่อนหรือกำลังเข้าสู่ระยะเป็นหนุ่มสาว

เริ่มใช้ยา 17β-estradiol
ขนาด 5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 6 เดือน แล้วตามด้วย
10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 6 เดือน แล้วตามด้วย
15 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 6 เดือน แล้วตามด้วย
20 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 6 เดือน
หลังจากนั้นให้ปรับเป็นขนาดยาสุดท้าย คือ 2-6 มิลลิกรัมต่อวัน โดยให้ปรับขนาดยาตามระดับฮอร์โมนเอสตราดิออลในเลือด โดยมีเป้าหมายคือ ระดับเอสตราดิออลอยู่ในช่วง 100-200 พิโคกรัม/มิลลิลิตร

การใช้ฮอร์โมนเอสตราดิออล แบบผ่านทางผิวหนัง

ในทางปฏิบัติยา 17β-estradiol ชนิดรับประทานที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมีเฉพาะขนาดเม็ดละ 1 มิลลิกรัม จึงมีความยากลำบากในการค่อยๆ เพิ่มขนาดยาตามที่แนะนำข้างต้น ดังนั้น การใช้ยาทาผ่านทางผิวหนังอาจทำให้บริหารยาได้สะดวกกว่า เนื่องจากสามารถปรับขนาดของยาได้ง่าย อีกทั้งการใช้ฮอร์โมนผ่านทางผิวหนังจะไม่มีการรบกวนการทำงานของตับ (ต่างจากการใช้ฮอร์โมนแบบรับประทาน ซึ่งจะมีกลไกที่เรียกว่า First pass hepatic effects) นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้ฮอร์โมนผ่านทางผิวหนังทำ ให้ระดับของเอสทราดิออลในเลือดคงที่กว่าการใช้แบบรับประทาน ในปัจจุบันประเทศไทยมียา 17β-estradiol แบบผ่านทางผิวหนังมี 2 ชนิด คือชนิดแผ่นแปะผิวหนัง และชนิดเจล

17β-estradiol ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

วิธีใช้คือ ให้แปะค้างไว้ที่บริเวณผิวหนัง โดยตำแหน่งที่เหมาะสม ได้แก่ บริเวณหน้าท้องส่วนล่างหรือบั้นท้าย ไม่ควรแปะที่เต้านมหรือบริเวณที่มีการเสียดสีกับเสื้อผ้า เช่น รอบสะโพก ผิวหนังที่มีขนเยอะ หรือที่ที่มีรอยหยักของผิวหนังมากๆ ทำการเปลี่ยนแผ่นทุกๆ 3.5 วัน (สัปดาห์ละ 2 ครั้ง) เพื่อให้ระดับยาในเลือดอยู่ในระดับเป้าหมาย แนะนำให้ค่อยๆ ปรับเพิ่มขนาดยาทุก 6 เดือนเช่นเดียวกับแบบยาแบบรับประทาน

ตัวอย่างการใช้ฮอร์โมนเอสทราดิออลชนิดแผ่นแปะผิวหนัง ในวัยรุ่นหญิงข้ามเพศ กรณีก่อนหรือกำลังเข้าสู่ระยะเป็นหนุ่มสาว

เริ่มใช้ยา 0.06% 17β-estradiol
ขนาด 0.625 กรัม (เท่ากับ1/4 ของไม้ตวง หรือ1/2 ปั๊ม) เป็นเวลา 6 เดือน แล้วตามด้วย
1.25 กรัม (เท่ากับ1/2 ของไม้ตวง หรือเท่ากับ 1 ปั๊ม) เป็นเวลา 6 เดือน แล้วตามด้วย
2.5 กรัม (เท่ากับ1 ไม้ตวงหรือเท่ากับ2 ปั๊ม) เป็นเวลา 6 เดือน แล้วตามด้วย
หลังจากนั้นให้ปรับเป็นขนาดยาสุดท้าย 2.5-10 กรัม (เท่ากับ 1-4 ไม้ตวง หรือเท่ากับ 2-8 ปั๊ม) โดยให้ปรับขนาดยาตามระดับฮอร์โมนเอสตราดิออลในเลือด โดยมีเป้าหมายคือ ระดับเอสตราดิออลอยู่ในช่วง 100-200 พิโคกรัม/มิลลิลิตร

การเหนี่ยวนำลักษณะทางเพศด้วยฮอร์โมนเอสตราดิออล ในวัยรุ่นหญิงข้ามเพศ กรณีผ่านเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว

ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย เนื่องจากคนข้ามเพศส่วนใหญ่มาปรึกษาการใช้ฮอร์โมนค่อนข้างช้า การใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ จึงมักเป็นกรณีการให้ฮอร์โมนหลังจากผ่านการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว ซึ่งในกรณีนี้เนื่องจากไม่ต้องการเหนี่ยวนำ ลักษณะทางเพศให้เลียนแบบตามธรรมชาติเหมือนในกรณีแรก ดังนั้นสามารถเริ่มด้วยขนาดของยาที่สูงขึ้นได้

ตัวอย่างการใช้ฮอร์โมนเอสทราดิออล ในวัยรุ่นหญิงข้ามเพศ กรณีผ่านเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว

  • 17β-estradiol ชนิดรับประทาน: ให้เริ่มยาที่ 1 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นเพิ่มเป็น 2 มิลลิกรัมต่อวัน
  • 17β-estradiol ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง: เริ่มยาแผ่นแปะได้ที่ 50 ไมโครกรัม/24 ชั่วโมง (1 แผ่น)
  • 0.06% 17β-estradiol ชนิดเจลทาผิวหนัง: เริ่มยาแบบเจล ที่ 2.5 กรัม (เท่ากับ 1 ไม้ตวง หรือเท่ากับ 2 ปั๊ม) ให้ปรับขนาดยาสุดท้าย ตามระดับฮอร์โมนเอสตราดิออลในเลือด โดยมีเป้าหมายคือ ระดับเอสตราดิออลอยู่ในช่วง 100-200 พิโคกรัม/มิลลิลิตร

การใช้ฮอร์โมนในผู้หญิงข้ามเพศวัยผู้ใหญ่

ฮอร์โมนเอสตราดิออล (Estradiol)

เอสตราดิออลชนิดรับประทาน

อาจใช้เป็น 17β-estradiol Hemihydrate (Estrofem) หรือ Estradiol Valerate (Progynova) ก็ได้ซึ่ง estradiol valerate สามารถถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็น 17β-estradiol ในร่างกายได้ที่ลำไส้และตับอย่างรวดเร็ว หลังรับประทานยา ขนาดยาที่ใช้คือ 2-6 มิลลิกรัม/วัน โดยขนาดมิลลิกรัมของ Estradiol Valerate เทียบเคียงได้กับ 17β-estradiol Hemihydrate ไม่แนะนำ ให้ใช้เอสโตรเจนที่อยู่ในยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบรับประทาน (Ethinyl Estradiol) ในผู้หญิงข้ามเพศ เนื่องจากมีรายงานว่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน คือโรคหลอดเลือดดำอุดตันสูงกว่าการใช้17β-estradiol อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในผู้หญิงข้ามเพศที่อายุมากกว่า 40 ปี

มีข้อควรระวังหากใช้ Conjugated Equine Estrogens และ Conjugated Estrogens เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตัน สูงกว่าการใช้ 17β-estradiol โดยเฉพาะในผู้หญิงข้ามเพศ ที่อายุมากกว่า 40 ปี  (ในปัจจุบันประเทศไทย ไม่มี Conjugated Equine Estrogens ที่ผลิตจากปัสสาวะม้าจำหน่ายแล้ว แต่ยังคงมี Conjugated Estrogens ที่ผลิตจากพืชจำหน่าย แต่เป็นยาที่มีการศึกษาทางคลินิกไม่มาก จึงไม่ได้รับความนิยม)

เอสตราดิออลชนิดผ่านทางผิวหนัง (แบบแผ่นแปะ และแบบเจล)

ขนาดของยาที่แนะนำ คือ 17β-estradiolชนิดแผ่นแปะ 25-200 ไมโครกรัม/24ชั่วโมง (1/2-4แผ่น) เปลี่ยนแผ่นแปะทุก 3.5 วัน (สัปดาห์ละ 2 ครั้ง) หรือ 0.06% 17β-estradiol ชนิดเจลให้ใช้ 2.5-10กรัม/วัน ทาผิวหนังวันละหนึ่งครั้ง

เอสตราดิออลชนิดฉีด (Estradiol Valerate หรือ Cypionate)

ขนาดของยาที่แนะนำ คือ 5-30 มิลลิกรัม ทุก 2 สัปดาห์หรือ 2-10 มิลลิกรัม ทุก 1 สัปดาห์ แนวทางการใช้ฮอร์โมนเอสทราดิออลชนิดฉีด มีความแตกต่างจากเทสโทสเตอโรนฉีดอยู่บ้าง คือ ถึงแม้ว่าเทสโทสเตอโรนชนิดฉีดเป็นยาที่ได้รับความนิยมสูง เป็นยาที่มีอยู่ในสถานบริการทางสาธารณสุขทั่วไปในการใช้รักษาผู้ชายที่มีฮอร์โมนต่ำผิดปกติ และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา แต่สำหรับเอสตราดิออลชนิดฉีด ไม่ได้เป็นยาที่ใช้ในสตรีวัยหมดประจำเดือนทั่วไป จึงไม่มียาอยู่ในสถานพยาบาลของรัฐ และการใช้ยาเอสทราดิออลชนิดฉีดอาจมีข้อเสีย ได้แก่ อาจมีอาการเจ็บบริเวณที่ฉีดในบางราย และหลังฉีดใหม่ๆ อาจทำ ให้มีระดับฮอร์โมนเอสตราดิออล สูงขึ้นเกินค่าปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่ฉีดไม่ถูกต้อง ในปัจจุบันจึงยังไม่แนะนำ ให้ใช้เอสตราดิออลชนิดฉีดในหญิงข้ามเพศ

การให้เอสตราดิออลทุกๆ แบบในหญิงข้ามเพศวัยผู้ใหญ่ ให้ปรับขนาดของยาตามระดับของเอสตราดิออลในเลือด โดยมีจุดมุ่งหมายของระดับเอสทราดิออลในเลือดที่ 100-200 พิโคกรัม/มิลลิลิตร

การติดตามผู้หญิงข้ามเพศวัยผู้ใหญ่ที่ได้รับฮอร์โมนเอสตราดิออล
  1. ประเมินทุก 3 เดือนในปีแรก หลังจากนั้นติดตามทุก 6-12 เดือน เพื่อติดตามลักษณะของความเป็นเพศหญิง และอาการข้างเคียงของเอสตราดิออลที่อาจเกิดขึ้น
  2. วัดระดับของฮอร์โมนเอสตราดิออล และเทสโทสเตอโรนในเลือดทุก 3 เดือน โดยเป้าหมายคือให้มีระดับเอสทราดิออลในเลือด อยู่ในช่วง100-200 พิโคกรัม/มิลลิลิตร และระดับของเทสโทสเตอโรนในเลือดต่ำกว่า 50 นาโนกรัม/เดซิลิตร
  3. กรณีที่ได้รับยาต้านฮอร์โมนเพศชาย ชนิด Spironolactone ร่วมด้วย แนะนำให้มีการตรวจระดับโพแทสเซียมในเลือด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะมีระดับของโพแทสเซียมสูงขึ้น โดยตรวจทุก 3 เดือนในปีแรก หลังจากนั้นตรวจซ้ำทุก 1 ปี
  4. แนะนำ ให้ตรวจคัดกรองมะเร็งเหมือนกับในคนที่เป็นไม่ใช่คนข้ามเพศ เนื่องจากยังมีเนื้อเยื่อเดิม เช่น ต่อมลูกหมาก เป็นต้น
  5. พิจารณาส่งตรวจความหนาแน่นกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) เป็นค่าพื้นฐานไว้ก่อน สำหรับในกลุ่มคนข้ามเพศที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน พิจารณาตรวจ BMD ซ้ำที่อายุ 60 ปีหรือในคนที่ใช้ฮอร์โมนข้ามเพศไม่สม่ำเสมอ
  6. เนื่องจากมีรายงานว่า พบการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนโปรแลคตินในเลือด ในสตรีข้ามเพศที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน (พบได้สูงถึงร้อยละ 20) ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่เอสโตรเจนอาจไปกระตุ้นเซลล์ที่ต่อมใต้สมอง หรืออาจเป็นจากการใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายชนิด Cyproterone Acetate ดังนั้นหากมีการใช้เอสโตรเจนขนาดสูง ให้พิจารณาเจาะวัดระดับของค่าโปรแลคติน เป็นพื้นฐาน และตรวจซ้ำทุก 1-2 ปี

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)

หญิงข้ามเพศบางราย มีการใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ร่วมกับการใช้เอสโตรเจน โดยมีความเชื่อว่าจะให้มีการพัฒนาของเต้านม คล้ายกับในการเข้าสู่วัยสาวตามธรรมชาติมากกว่าการใช้เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ การใช้โปรเจสเตอโรน ยังเชื่อว่าอาจช่วยส่งผลดีในด้านอารมณ์และความรู้สึกทางเพศ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาดีพอ ที่จะช่วยยืนยันถึงประโยชน์ หรือความเสี่ยงของการให้โปรเจสเตอโรนในหญิงข้ามเพศที่ชัดเจนจึงยังไม่นับเป็นมาตรฐานในการให้ฮอร์โมนในหญิงข้ามเพศ

ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย (Anti-androgens)

ความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งระหว่างการใช้ฮอร์โมนในชายและหญิงข้ามเพศ คือ ในกรณีหญิงข้ามเพศที่ยังไม่ได้ตัดอัณฑะ อาจจำเป็นต้องใช้ยาที่กดฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่สร้างจากอัณฑะ (ต่างกับชายข้ามเพศที่ไม่ต้องใช้ยา เพื่อกดเอสโตรเจนจากรังไข่) โดยยาต้านฮอร์โมนเพศชายที่มีแนะนำให้ใช้ในหญิงข้ามเพศในประเทศไทยมี 2 ชนิดให้เลือกใช้ คือ Spironolactone และ Cyproterone Acetate (ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ไม่มี Cyproterone Acetate) โดยขนาดยาที่แนะนำมีดังนี้

  • Spironolactone ขนาด 100-300 มิลลิกรัม/วัน
  • Cyproteroneacetate ขนาด 25-50 มิลลิกรัม/วัน

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ GnRHagonist ขนาด 3.75 มิลลิกรัม ฉีดทุก 1 เดือน หรือ 11.25 มิลลิกรัม ทุก 3 เดือนเพื่อต้านฮอร์โมนเพศชาย แต่เนื่องจากเป็นยาที่มีราคาสูง และกดฮอร์โมนเพศลงในระดับต่ำมาก จึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก โดยอาจพิจารณาใช้ในบางกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชาย Spironolactone หรือ Cyproterone Acetate ได้

*ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม 5α-reductase inhibitors เป็นยาต้านฮอร์โมนเพศชายในกลุ่มหญิงข้ามเพศ เนื่องจากไม่ช่วยกดระดับของเทสโทสเตอโรนในเลือดและมีผลข้างเคียงสูง

เป้าหมายในการกดการทำงานของฮอร์โมนจากอัณฑะด้วยยาต้านฮอร์โมนเพศชาย คือ ทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนในเลือดต่ำกว่า 50 นาโนกรัม/เดซิลิตร สำหรับหญิงข้ามเพศที่ไม่ได้ตัดอัณฑะ ควรใช้เอสตราดิออลควบคู่ไปกับยาต้านฮอร์โมนเพศชาย แต่หากได้ทำการผ่าตัดอัณฑะออกแล้ว สามารถหยุดใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายและใช้เฉพาะเอสตราดิออลเพียงตัวเดียว

ในการติดตามการใช้เอสตราดิออลควบคู่กับยาต้านฮอร์โมนเพศชาย นอกจากการใช้ระดับของเทสโทสเตอโรนในเลือดที่ต่ำกว่า 50 นาโนกรัม/เดซิลิตร ควรพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของหญิงข้ามเพศผู้รับฮอร์โมนด้วย เนื่องจากยาต้านฮอร์โมนเพศชายจะออกฤทธิ์ที่ระดับตัวรับในเซลล์ซึ่งไม่สามารถวัดได้จากการตรวจระดับในเลือด อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านวิธีและเครื่องมือที่ใช้วัดระดับฮอร์โมนในห้องปฏิบัติการแต่ละที่ซึ่งมีความแตกต่างกันด้วย

 

ที่มา: การให้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ (Gender-Affirming Hormone Treatment for Transgender People : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)