การเลือกปฎิบัติและการเหยียดเพศ
มายาคติว่าด้วยการกีดกันและการเลือกปฏิบัติว่าด้วยเหตุแห่งเพศมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จนแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเหยียด การกีดกัน การไม่นับรวมจากเพศสภาพ ยังปรากฏอยู่ในสังคมเราอย่างมาก ทั้งๆ ที่มีการรณรงค์ว่าคนเท่ากัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากความเชื่อฝังหัว (Internalization) ที่ฝังรากลึกอยู่ในชุดความคิดของผู้คน เช่น ผู้หญิงต้องเป็นแม่ศรีเรือน ผู้ชายต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือ กลุ่มประหลาด ฯลฯ และการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) โดยเมื่อคนที่มีลักษณะไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคมกำหนด จะต้องถูกมองด้วยความแปลกแยก เหยียด กีดกัน ไม่นับรวม จากคนเท่ากันจึงกลายเป็นคนชายขอบ
ทุกคนรู้หรือไม่ว่าการเหยียดเพศ ความเชื่อเรื่องเพศ หรือการกีดกันทางเพศสามารถนําไปสู่การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) คําว่าการเลือกปฏิบัติอาจหมายถึง สิ่งที่แตกต่างกันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับว่าคุณหมายถึงการเลือกปฏิบัติตามกฎหมาย หรือถ้าคุณพูดถึงการเลือกปฏิบัติในชีวิตประจําวัน ในบริบทในชีวิตประจําวันคําว่า การเลือกปฏิบัติ มักใช้เพื่ออธิบายว่าบุคคลได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ดีในทางใดทางหนึ่ง รวมไปถึงสามารถนำไปสู่ความรุนแรงว่าด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender based-violence) และการเกลียดกลัวพวกเรา (Homophobic or transphobic) ได้
วันนี้ผู้เขียนมีอีกหนึ่งคำที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความหวง หวงในความเป็นออริจินอล การวิจารณ์ว่าเธอไม่ถูก ฉันถูก ฉันมาก่อน คำในลักษณะนี้เรียกว่าทำตัวเป็นการกระทำแบบ ‘Gatekeeper’ และ ‘Gatekeeping’ เป็นหนึ่งในคำยอดนิยมของวัยรุ่น Gen Z ในปี 2021
หากแปลอย่างตรงตัว ‘Gatekeeper’ มีความหมายว่าผู้รักษาประตู แต่ระยะหลังคำนี้มักถูกใช้ในการเรียกคนที่กีดกันผู้อื่นออกจากบางสิ่ง ซึ่งอาจเป็นเพลง, วงดนตรี, เกม หรือสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน โดยผู้ที่เป็น Gatekeeper อาจใช้วิธีอวดอ้างถึงความรู้หรือประสบการณ์ที่มากกว่า เพื่อตัดโอกาสไม่ให้ผู้อื่นได้เข้าถึงสิ่งนั้นเพราะหวังที่จะเก็บไว้เชยชมเองหรือไว้ดูเฉพาะในกลุ่มของตน ดูไปดูมาก็สามารถเชื่อมโยงกับการกีดกันทางเพศได้นะ เช่น งานนี้เหมาะสำหรับคนเป็นผู้หญิงเท่านั้น เธอไม่มีสิทธิ์!! หรือแม้แต่ผับนี้กะเทยห้ามเข้า เป็นกฎที่มีมาตั้งนานแล้ว!! และความหวงนี้ก็ตามมาด้วยข้ออ้างบลาๆๆๆ จนทำให้เกิดเป็นการกีดกันทางเพศหรือเลือกปฏิบัติว่าด้วยเหตุแห่งเพศได้และปัจจุบันมีการผลักดัน พรบ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ ทั้งฉบับที่เข้าสู่รัฐสภาแล้ว และยังมีการผลักดันจากเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) จึงอยากให้สาว ๆ Sisterhood ทุกคนช่วยกันจับตามองว่ากฎหมายนี้ว่า จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยเมื่อไร มาร่วมด้วยช่วยกันจับตามองและผลักดันกันนะคะ
อ้างอิงจาก: Tjejjouren Väst, The Momentum, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, Thai PBS