คนข้ามเพศ (Transgender) 

คือ ผู้ที่มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด (Gender Dysphoria) โดยการวินิจฉัยภาวะนี้มีเกณฑ์ที่ใช้กันอย่างหลากหลาย ซึ่งแต่ละเกณฑ์ก็มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ในทุกภูมิภาคทั่วโลก

ตามบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ (ICD) ขององค์การอนามัยโลก ให้การวินิจฉัยผู้มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดไว้แตกต่างกัน โดยในบัญชีจำแนกโรคฯ ฉบับที่ 10 (ICD-10) เรียกภาวะนี้ว่า “Transsexualism” และบรรยายลักษณะทางคลินิกว่า เป็นภาวะที่มีความต้องการที่จะมีลักษณะภายนอก และบทบาททางสังคมเหมือนเพศตรงข้าม รวมถึงความต้องการที่จะผ่าตัดแปลงอวัยวะเพศของตน ให้เป็นลักษณะเหมือนเพศตรงข้าม โดยราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กำหนดศัพท์ภาษาไทยของภาวะนี้ว่า “ภาวะอยากแปลงเพศ”

สำหรับบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับที่ 11 (ICD-11) ซึ่งองค์การอนามัยโลกวางแผนจะประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2022 ได้มีการปรับเปลี่ยนคำ โดยเรียกภาวะนี้ว่า “Gender Incongruence of adolescence or adult hood”และให้คำอธิบายไว้ว่า เป็นภาวะที่มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก และต่อเนื่อง (Marked and persistent incongruence) ระหว่างเพศสภาพที่ตนรับรู้ (Individual’s experienced gender) กับเพศที่ถูกกำหนดมาแต่กำเนิด (Assigned Sex) ซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่จะเปลี่ยนไปใช้ชีวิตและได้รับการยอมรับ เช่นเดียวกับเพศสภาพที่ตนรับรู้ โดยอาศัยการรักษาด้วยฮอร์โมน การผ่าตัด หรือการบริการทางสุขภาพอื่นๆ เพื่อทำให้ร่างกายของตนมีลักษณะตามเพศสภาพที่ตนรับรู้ ทั้งนี้ไม่สามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้ ก่อนที่จะเริ่มเข้าวัยเจริญพันธุ์หรืออาศัยข้อมูลจากพฤติกรรม หรือรสนิยมทางเพศเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ ยังมีเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลาย คือ เกณฑ์การวินิจฉัย DSM-5 (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th Edition) ซึ่งเป็นของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ประกอบด้วยเกณฑ์การวินิจฉัย ดังนี้

ความไม่สอดคล้องอย่างมากระหว่างเพศสภาพที่ตนรับรู้

หรือแสดงออกและเพศกำเนิดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน โดยอาจแสดงออกในอย่างน้อย 2 ลักษณะดังต่อไปนี้

  • มีความต้องการอย่างยิ่งที่จะมีลักษณะทางเพศทั้งปฐมภูมิและ/หรือทุติยภูมิของอีกเพศหนึ่ง
  • มีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าตนมีความรู้สึก และการตอบสนองต่างๆ เหมือนตนเป็นอีกเพศหนึ่ง
  • มีความต้องการอย่างยิ่งที่จะเป็นอีกเพศหนึ่ง (รวมถึงเพศอื่นนอกเหนือจากเพศกำเนิดของตน)
  • มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก ระหว่างเพศสภาพที่ตนรับรู้ หรือแสดงออก กับลักษณะทางเพศทั้งปฐมภูมิและ/หรือทุติยภูมิ
  • มีความต้องการอย่างยิ่งที่จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับตนเป็นอีกเพศหนึ่ง (รวมถึงเพศอื่นนอกเหนือจากเพศกำเนิดของตน)
  • มีความต้องการอย่างยิ่งที่จะกำจัดลักษณะทางเพศทั้งปฐมภูมิและ/หรือทุติยภูมิ เนื่องจากมีความไม่สอดคล้องอย่างมากกับเพศสภาพที่ตนรับรู้ หรือแสดงออก

ภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดความทุกข์ใจอย่างมาก หรือส่งผลต่อการทำหน้าที่ในด้านต่างๆ เช่น การเข้าสังคม การทำงาน หรือด้านอื่นๆ ทั้งนี้เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดข้างต้น ใช้สำหรับคนข้ามเพศที่เป็นผู้ใหญ่ หรือวัยรุ่นเท่านั้น ส่วนในเด็กข้ามเพศ มีเกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน โดยเฉพาะและมีรายละเอียดแตกต่างกัน

ตามประกาศข้อบังคับแพทยสภาว่า ด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่องเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ.2552 จิตแพทย์เป็นผู้มีหน้าที่ในการประเมิน วินิจฉัย และวินิจฉัยแยกโรค รวมถึงให้คำปรึกษา และรับรองสำหรับการให้การรักษาเพื่อแปลงเพศ โดยอาศัยการรับรองจากจิตแพทย์อย่างน้อย 2 ท่าน

คำแนะนำสำหรับจิตแพทย์

ในการวินิจฉัยภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด มีข้อแนะนำตามแนวทางปฏิบัติทั่วไป สำหรับจิตแพทย์ของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ในการช่วยเหลือผู้มีปัญหาเอกลักษณ์ทางเพศดังนี้

จิตแพทย์เป็นผู้ประเมินทางจิตเวช เพื่อการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช วินิจฉัยแยกโรคหรือภาวะอื่นๆ และโรคที่พบร่วม รวมถึงปัญหาบุคลิกภาพปัญหาทางกาย ปัญหาในครอบครัว และระดับการปรับตัวในชีวิต เพื่อประกอบการวางแผนช่วยเหลือ โดยข้อมูลที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค ควรได้จากหลายฝ่ายครอบคลุม ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่นในบริบทต่างๆ ที่บ่งบอกถึงการแสดงออกทางเพศ รวมถึงประวัติครอบครัว หน้าที่ของครอบครัว ทัศนคติของผู้ปกครอง การเลี้ยงดู พัฒนาการทางเพศ บทบาทประจำเพศ ตลอดจนการตรวจร่างกาย เพื่อแยกโรคหรือภาวะทางกายที่เกี่ยวข้อง และการตรวจสภาพจิต เพื่อประเมินปัจจัยด้านเพศต่างๆ และพยาธิสภาพทางจิต

นอกจากนี้ จิตแพทย์ยังสามารถส่งตรวจการทดสอบทางจิตวิทยา และซักถามประวัติการทดลองใช้ชีวิตแบบเพศตรงข้าม เช่น การแต่งกาย กิจกรรม การเข้าสังคม ระยะเวลา ความต่อเนื่อง และผลจากการทดลองใช้ชีวิต โดยกำหนดให้มีการทดลองใช้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 12 เดือน พร้อมบันทึกข้อมูลดังกล่าวอย่างละเอียด และสามารถตรวจสอบได้ การวินิจฉัยของจิตแพทย์สำหรับผู้มีภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด จะครอบคลุมโรคทางจิตเวช ปัญหาบุคลิกภาพ โรคทางกายที่มีผลต่อการปรับตัว ปัญหาในครอบครัว การยอมรับจากครอบครัว และระดับความสามารถในการปรับตัวในปัจจุบัน และในระยะเวลา 12 เดือนก่อนหน้านั้น

 

ที่มา: การวินิจฉัยภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)