ผ่าตัดแปลงเพศ

การสร้างช่องคลอดใหม่

การผ่าตัดสร้างช่องคลอดใหม่ เป็นการสร้างช่องคลอดในหญิงข้ามเพศ เพื่อทำให้สามารถมีเพศสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกับผู้หญิงเพศกำเนิดได้ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการสร้างอวัยวะภายนอก ให้เหมือนเพศหญิงมากที่สุดได้แก่ การสร้างคลิตอริส การสร้างแคมในและแคมนอก การตัดและเปลี่ยนแนวของท่อปัสสาวะ และการตัดลูกอัณฑะออก

เกณฑ์ประเมินก่อนการสร้างช่องคลอดใหม่

  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะที่มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก (Gender Dysphoria) และมีเอกสารรับรองจากจิตแพทย์ 1 ท่าน
  • สามารถรับรู้ และเข้าใจข้อมูล เกี่ยวกับการผ่าตัด และลงนามในเอกสารยินยอมฯ ได้
  • มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมด้วย)
  • ไม่มีโรคทางกายที่เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อการผ่าตัด หรือการระงับความรู้สึก
  • ถ้าหากมีโรคทางจิตเวชอยู่ จะต้องได้รับการรักษา จนสามารถควบคุมอาการได้ดีก่อน
  • ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงอย่างน้อย 12 เดือน (ยกเว้นมีข้อห้ามที่ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนได้)
  • ผ่านการใช้ชีวิตเป็นเพศหญิงอยู่ในสังคมตลอดเวลา และประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน

เทคนิคการสร้างช่องคลอดใหม่ 

มีหลายวิธีซึ่งแตกต่างกันที่เนื้อเยื่อที่ใช้บุผนังช่องคลอด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผิวหนังบริเวณองคชาตและอัณฑะเพียงพอ วิธีการผ่าตัดที่เป็นมาตรฐานคือ การใช้ผิวหนังองคชาตม้วนกลับ ร่วมกับการปลูกถ่ายผิวหนังอัณฑะ เพื่อเพิ่มความยาวในส่วนปลาย ซึ่งในกลุ่มหญิงข้ามเพศนิยมเรียกวิธีนี้แบบสั้นๆ ว่า “ต่อกราฟ” โดยวิธีนี้เป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน แต่มีข้อเสียคือ ช่องคลอดใหม่มีโอกาสตีบตันได้ ต้องถ่างขยายช่องคลอดอย่างสม่ำเสมอ ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ ได้แก่ แผลเป็นนูน แผลผ่าตัดปริแยกหรือหายไม่สนิท ท่อปัสสาวะตีบหรือปัสสาวะไม่ตรง สูญเสียความรู้สึกทางเพศ หรือไม่สามารถถึงจุดสุดยอดได้ และช่องคลอดทะลุเข้าช่องท้องหรือลำไส้ใหญ่

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผิวหนังองคชาตและอัณฑะน้อยหรือไม่เพียงพอ เช่น เคยขลิบหนังหุ้มปลาย หรือเคยตัดอัณฑะมาแล้ว อาจไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีต่อกราฟได้ ซึ่งต้องพิจารณาผ่าตัดด้วยวิธีอื่นต่อไป เช่น การปลูกถ่ายลำไส้ใหญ่ เยื่อบุช่องท้อง หรือใช้ผิวหนังจากบริเวณอื่นมาทดแทน

เทคนิคการสร้างช่องคลอดใหม่ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน 

  • การใช้ผิวหนังจากองคชาตม้วนกลับ
  • การใช้ผิวหนังจากองคชาตม้วนกลับร่วมกับการปลูกถ่ายผิวหนังอัณฑะ
  • การปลูกถ่ายผิวหนังของอัณฑะ
  • การปลูกถ่ายลำไส้ใหญ่
  • การปลูกถ่ายเยื่อบุช่องท้อง
  • การปลูกถ่ายผิวหนังจากบริเวณอื่น เช่น ขาหนีบ หรือต้นขา เป็นต้น

การสร้างช่องคลอดใหม่ด้วยการปลูกถ่ายลำไส้ใหญ่ (นิยมเรียกสั้นๆ ว่าการ “ต่อลำไส้”) มีข้อดีคือสามารถสร้างช่องคลอดที่มีความลึกได้มาก และมีโอกาสตีบตันน้อยกว่า นอกจากนี้ ยังมีเมือกซึ่งเป็นสารหล่อลื่นในตัวเอง อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของวิธีนี้คือ ต้องมีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง และต้องทำการตัดต่อลำไส้ซึ่งทำให้มีความซับซ้อนในการผ่าตัดมากกว่ามาก ใช้เวลาการพักฟื้นนานกว่า และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า นอกจากนี้ ในระยะยาวอาจเกิดพังผืดในช่องท้อง ซึ่งอาจทำให้มีลำไส้อุดตันตามมาได้ ผู้ป่วยที่เหมาะสมในการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีผิวหนังอวัยวะเพศเดิมไม่เพียงพอ ต้องการช่องคลอดที่มีความลึกมาก หรือเป็นการผ่าตัดแก้ไขหลังการผ่าตัดครั้งแรกตีบตัน

การปลูกถ่ายเยื่อบุช่องท้อง แต่เดิมเป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้รักษาผู้หญิงเพศกำเนิดที่ไม่มีช่องคลอด แต่ในปัจจุบันได้มีการนำเทคนิคนี้ มาใช้สร้างช่องคลอดใหม่ในผู้หญิงข้ามเพศมากขึ้น ข้อดีของวิธีนี้คือ สามารถสร้างช่องคลอดใหม่ที่มีผิวสัมผัสที่เรียบลื่น คล้ายช่องคลอดจริง และมีสารหล่อลื่นในตัวเองเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของวิธีนี้คือ ต้องผ่าตัดเข้าช่องท้อง (ซึ่งทำ ให้มีโอกาสเกิดพังผืดภายในช่องท้องได้) และมีแผลเป็นบริเวณหน้าท้อง นอกจากนี้ ช่องคลอดใหม่ที่สร้างด้วยเยื่อบุช่องท้อง มีโอกาสตีบตันได้เช่นกัน ต้องอาศัยการขยายช่องคลอดสม่ำเสมอ

การปลูกถ่ายผิวหนังจากขาหนีบ หรือต้นขามักใช้เป็นการผ่าตัดแก้ไขกรณีที่ต้องการขยายช่องคลอด ในปริมาณที่ไม่มากนัก หรืออาจใช้เป็นการผ่าตัดครั้งแรก ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผิวหนังอวัยวะเพศไม่เพียงพอ แต่ไม่ต้องการผ่าตัดช่องท้อง ข้อเสียของวิธีนี้คือ ต้องมีแผลเป็นบริเวณต้นขา

การเลือกวิธีการผ่าตัดแปลงเพศ ว่าจะใช้เทคนิคใด ขึ้นกับหลายปัจจัย อาทิเช่น ความต้องการของผู้ป่วย ปริมาณเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศเดิม ประวัติการผ่าตัดบริเวณอวัยวะเพศ เช่น การขลิบหนังหุ้มปลาย หรือการตัดอัณฑะ รวมถึงสรีระบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นตัวกำหนดว่าจะสามารถสร้างช่องคลอดได้ลึกมากเท่าไร แพทย์ผู้ที่จะทำการผ่าตัดต้องอธิบายข้อดีข้อเสีย และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ให้ผู้ป่วยทราบและตัดสินใจร่วมกัน

การผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชาย

การสร้างอวัยวะเพศชายด้วยวิธีเมตตอยด์ (Metoidioplasty)

การผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชายด้วยวิธีเมตตอยด์ เป็นการสร้างองคชาตขนาดเล็กด้วยการใช้คลิตอริสเดิม ที่ถูกขยายขนาดขึ้นจากการใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถยืนปัสสาวะได้ แต่ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์โดยการสอดใส่ได้ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดที่ซับซ้อน และเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงนัก อย่างไรก็ตาม ถ้าหากผู้ป่วยทำการผ่าตัดเมตตอยด์ไปแล้ว ต้องการที่จะผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชายขนาดใหญ่ด้วยวิธีฟาโลในภายหลัง ก็สามารถทำได้เช่นกัน

กระบวนการผ่าตัดเมตตอยด์ประกอบด้วย การปลดแยกกลีบหุ้มคลิตอริส และเส้นเอ็นภายในออก เพื่อเพิ่มความยาวของอวัยวะเพศ และยกระดับตำแหน่งของอวัยวะดังกล่าวมาทางด้านหน้า โดยที่ยังเก็บเนื้อเยื่อที่แข็งตัวได้และส่วนที่รับรู้ความรู้สึกทางเพศไว้อยู่ จากนั้นแพทย์จะทำการต่อท่อปัสสาวะมาเปิดที่ส่วนปลายอวัยวะเพศถ้าทำการผ่าตัดเมตตอยด์ ควบคู่กับการปิดช่องคลอดแพทย์ผู้ผ่าตัดจะนำผนังช่องคลอดที่ถูกตัดออกมาสร้างเป็นผนังท่อปัสสาวะ แต่ถ้าหากผู้ป่วยเคยผ่าตัดปิดช่องคลอดมาแล้ว อาจจะต้องปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นมาแทน (เช่น จากกระพุ้งแก้ม) แพทย์ผู้ผ่าตัดควรแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่า ผลการรักษาในแง่ของการยืนปัสสาวะนั้นไม่สามารถยืนยันผลได้แน่นอนทุกราย (พบว่าได้ผลดีประมาณ 90-95%) โดยทั่วไปแนะนำว่า ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเมตตอยด์ ควรมีขนาดคลิตอริสอย่างน้อย 3 เซนติเมตร เมื่อดึงออกมาทางด้านหน้าเต็มที่ จึงจะได้ผลการผ่าตัดที่ดี ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของการผ่าตัดเมตตอยด์ คือ ท่อปัสสาวะตีบ และท่อปัสสาวะรั่ว ซึ่งพบได้บ่อยประมาณ 5% และ 15% ตามลำดับ

การสร้างอวัยวะเพศชายด้วยวิธีฟาโล (Phalloplasty)

การสร้างอวัยวะเพศชายด้วยวิธีฟาโล เป็นการสร้างอวัยวะเพศชายที่มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของอวัยวะเพศชายในขณะแข็งตัว โดยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น แขน ขา หน้าท้อง หรือขาหนีบ การผ่าตัดฟาโลจะทำให้สามารถยืนปัสสาวะได้ และสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยการผ่าตัดอาจทำ เป็นการผ่าตัดครั้งแรกหรือทำหลังจากที่ทำเมตตอยด์มาแล้วก็ได้

ในปัจจุบันนิยมใช้เนื้อเยื่อจากแขนและเนื้อต้นขาด้านนอก มาใช้สร้างเป็นอวัยวะเพศชายใหม่ การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อมักจะต้องทำการตัดต่อเส้นเลือด และเส้นประสาทส่วนรับความรู้สึก โดยแพทย์จะทำการต่อเส้นประสาทจากคลิตอริสไปยังเส้นประสาทของเนื้อเยื่อองคชาตใหม่ เพื่อให้มีความรู้สึกขณะมีเพศสัมพันธ์ สำหรับความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ สามารถสร้างได้โดยการผ่าตัดใส่อุปกรณ์ช่วยการแข็งตัว แบบกึ่งแข็งหรือแบบปั๊มลม หรืออาจผ่าตัดปลูกถ่ายกระดูก เพื่อที่จะไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริมในร่างกายก็ได้

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้จากการทำผ่าตัดฟาโล 

  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ เช่น ท่อปัสสาวะตีบหรือรั่ว ปัสสาวะไม่สุด มีเส้นขนขึ้นภายในท่อปัสสาวะ หรือปัสสาวะไหลย้อนกลับจากกระเพาะปัสสาวะขึ้นสู่ไตหรือท่อไต
  • การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อล้มเหลว
  • องคชาตที่สร้างขึ้นไม่มีความรู้สึก หรือไม่สามารถใช้ร่วมเพศได้
  • รอยแผลเป็นบริเวณตำแหน่งของเนื้อเยื่อที่นำมาใช้
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดอื่นๆ เช่น มีเลือดออกจากแผลผ่าตัด การติดเชื้อหรือมีแผลแยก หรือหายไม่สนิท

เกณฑ์ประเมินก่อนการการผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชาย

  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะที่มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก (Gender Dysphoria) และมีเอกสารรับรองจากจิตแพทย์ 2 ท่าน
  • สามารถรับรู้ และเข้าใจข้อมูล เกี่ยวกับการผ่าตัด และลงนามในเอกสารยินยอมฯ ได้
  • มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมด้วย)
  • ไม่มีโรคทางกายที่เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อการผ่าตัด หรือการระงับความรู้สึก
  • ถ้าหากมีโรคทางจิตเวชอยู่ จะต้องได้รับการรักษา จนสามารถควบคุมอาการได้ดีก่อน
  • ได้รับฮอร์โมนเพศชายอย่างน้อย 12 เดือน (ยกเว้นมีข้อห้ามที่ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนได้)
  • ผ่านการใช้ชีวิตเป็นเพศชายอยู่ในสังคมตลอดเวลา และประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน

การสร้างอวัยวะเพศชายด้วยวิธีฟาโล นับเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน และอาจต้องทำ การผ่าตัดมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี เช่น ผ่าตัดสร้างท่อปัสสาวะก่อน แล้วจึงค่อยผ่าตัดสร้างองคชาต ทำให้ในปัจจุบัน การผ่าตัดชนิดนี้ ยังไม่เป็นที่นิยมนัก อย่างไรก็ตาม ชายข้ามเพศบางคนอาจให้ความสำคัญกับขนาดและ ลักษณะของอวัยวะเพศมากกว่าความสามารถในการแข็งตัว และความรู้สึกทางเพศ แนะนำว่าผู้ที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อศึกษารายละเอียด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ก่อนตัดสินใจ

การสร้างถุงอัณฑะ

การสร้างถุงอัณฑะสามารถทำได้ โดยใช้ผิวหนังบริเวณแคมนอก ร่วมกับการผ่าตัดสอดใส่ซิลิโคนทรงอัณฑะเข้าไป โดยสามารถทำร่วมกับการผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชายทั้งแบบเมตตอยด์และแบบฟาโล ปัญหาที่พบบ่อยของการสร้างถุงอัณฑะคือ ตำแหน่งของถุงอัณฑะที่สร้างขึ้น มักจะอยู่ค่อนไปทางด้านหลัง ท ให้ไม่ได้รูปทรงที่สวยงาม ซึ่งแพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดย้ายผิวหนังของแคมนอก มาให้เคลื่อนที่มาด้านหน้า ก่อนใส่ซิลิโคนอัณฑะ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้อเยื่อไม่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือขยายเนื้อเยื่อก่อน

 

ที่มา: การผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ (Gender Affirmation Surgery) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)