ผ่าตัดลูกอัณฑะออก

การตัดอัณฑะ เพื่อการข้ามเพศ มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพื่อให้ไม่ต้องใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายอีก อีกทั้งยังทำ ให้สามารถลดปริมาณการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนลงได้ด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่เข้ารับการตัดอัณฑะ เพื่อให้สามารถอำพรางอวัยวะเพศได้ง่ายขึ้น (หรือที่เรียกว่า “การแต๊บ” หรือการเหน็บ) ในแง่ของการป้องกันมะเร็ง พบว่าการตัดอัณฑะ สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็งอัณฑะ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคมะเร็งเต้านมในเพศชายได้

อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการตัดอัณฑะ ได้แก่ องคชาตไม่แข็งตัว ความต้องการทางเพศลดลง และสูญเสียความสามารถในการสืบพันธุ์อย่างถาวร นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดอัณฑะ โดยที่ยังไม่ผ่าตัดสร้างช่องคลอดใหม่ จะส่งผลทำ ให้ผิวหนังบริเวณถุงอัณฑะหดเล็กลงมาก ซึ่งถ้าผู้ป่วยต้องการมาผ่าตัดแปลงเพศในภายหลัง จะทำ ได้ยากลำบากมากขึ้น และอาจต้องใช้เนื้อเยื่อส่วนอื่นมาทดแทน เช่น ลำไส้ใหญ่ หรือเยื่อบุช่องท้อง เป็นต้น

แนะนำว่าหญิงข้ามเพศที่วางแผนจะผ่าตัดแปลงเพศในอนาคต ยังไม่ควรทำการตัดอัณฑะออก แต่ควรกดการสร้างฮอร์โมนเพศชายด้วยยาต้านฮอร์โมนเพศชาย ภายใต้การดูแลของแพทย์ต่อมไร้ท่อ อย่างไรก็ตาม หากมั่นใจว่าไม่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศแน่นอน และมีความจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนในปริมาณที่สูง ก็สามารถที่จะปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตัดอัณฑะได้ เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการใช้ฮอร์โมนในอนาคต

เกณฑ์ประเมินก่อนการผ่าตัดลูกอัณฑะออก

  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะที่มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก (Gender Dysphoria) และมีเอกสารรับรองจากจิตแพทย์ 2 ท่าน
  • สามารถรับรู้ และเข้าใจข้อมูล เกี่ยวกับการผ่าตัด และลงนามในเอกสารยินยอมฯ ได้
  • มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมด้วย)
  • ไม่มีโรคทางกายที่เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อการผ่าตัด หรือการระงับความรู้สึก
  • ถ้าหากมีโรคทางจิตเวชอยู่ จะต้องได้รับการรักษา จนสามารถควบคุมอาการได้ดีก่อน
  • ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงอย่างน้อย 12 เดือน (ยกเว้นมีข้อห้ามที่ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนได้)

 

ที่มา: การผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ (Gender Affirmation Surgery) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)