ผ่าตัดเส้นเสียง

จุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนเสียงในผู้หญิงข้ามเพศ

จุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนเสียงในผู้หญิงข้ามเพศคือ การทำ ให้เสียงของเพศชายซึ่งมีความถี่ประมาณ 90-150 เฮิรตซ์เปลี่ยนเป็นเสียงของเพศหญิงที่ความถี่ประมาณ 160-220 เฮิรตซ์ โดยขนาดของกล่องเสียงจะเจริญเติบโตเต็มที่ และเสียงจะเริ่มทุ้มเป็นเพศชายที่อายุประมาณ 12-15 ปี วิธีการเปลี่ยนเสียงในทางการแพทย์ปัจจุบันมี 2 แบบคือ

การฝึกออกเสียงเป็นผู้หญิง (Speech Therapy) 

ทำโดยนักอรรถบำบัด เป็นการปรับความถี่เสียงให้สูงขึ้น รวมถึงท่าทาง จังหวะ และทำนองให้มีลักษณะการพูดเป็นเพศหญิงแบบธรรมชาติ โดยการฝึกควบคุมการขยับของปาก ลิ้น และการหายใจ วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องผ่าตัด แต่จำเป็นต้องมีการฝึกเป็นประจำ และยังมีเสียงธรรมชาติเป็นเพศชายอยู่ แนะนำในรายที่ไม่ต้องการผ่าตัด หรืออาจทำร่วมกับการผ่าตัดเปลี่ยนเสียง เพื่อให้ลักษณะการพูดเป็นผู้หญิงโดยธรรมชาติที่สุด

การผ่าตัดเปลี่ยนเสียง (Male-to-Female Voice Surgery) 

แนะนำ ให้ทำ เมื่อกล่องเสียงเจริญเติบโตเต็มที่และมีภาพลักษณ์ภายนอกเหมือนเพศหญิงแล้วการผ่าตัดที่นิยมใช้ในประเทศไทยมี 2 วิธีดังนี้

การผ่าตัดเส้นเสียงให้ตึงขึ้น

เป็นการผ่าตัดโดยเย็บกระดูกกล่องเสียงส่วนบนให้ติดกับกระดูกกล่องเสียงส่วนล่าง ทำให้เส้นเสียงตึงขึ้น เสียงจึงแหลมขึ้น วิธีนี้จำเป็นต้องมีแผลผ่าตัดบริเวณลำคอด้านหน้า ซึ่งสามารถทำร่วมกับการกรอกระเดือกได้ในแผลเดียวกัน และมักไม่เกิดแผลเป็นที่เส้นเสียง แต่ข้อเสียคือ ระยะยาวเสียงอาจจะกลับมาทุ้มเหมือนก่อนผ่าตัดได้

การผ่าตัดให้เส้นเสียงสั้นลง

ทำได้โดยการเย็บเส้นเสียงด้านหน้าให้ติดกัน ส่งผลให้เส้นเสียงสั้นลง วิธีนี้สามารถทำผ่านการส่องกล้องผ่านทางปาก หรือทำผ่านแผลผ่าตัดที่คอก็ได้ โดยอาจใช้เลเซอร์ช่วยในการเชื่อมกันของเส้นเสียง การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะได้เสียงที่แหลมขึ้นถาวร เนื่องจากมีการเชื่อมกันของแผลที่เกิดขึ้น แต่คุณภาพเสียงอาจเปลี่ยนแปลง เช่น มีเสียงแหบหลังผ่าตัดได้จนกว่าแผลผ่าตัดจะหาย

การเตรียมตัวก่อน และหลังผ่าตัดเปลี่ยนเสียง

ก่อนผ่าตัด แพทย์ หู คอ จมูก จะทำการตรวจระดับเสียง และลักษณะของสายเสียง ด้วยกล้องส่องตรวจพิเศษ (Laryngostroboscopy) ในห้องตรวจ เพื่อประเมินให้ข้อมูลชนิดของการผ่าตัด รวมถึงข้อดีข้อเสีย และจะแนะนำให้พบนักอรรถบำบัด เพื่อเตรียมการฟื้นฟูเส้นเสียงการผ่าตัด ที่ทำผ่านการส่องกล้องจำเป็น ต้องมีการดมยาสลบก่อนการผ่าตัดทุกชนิด ควรงดสูบบุหรี่ งดการใช้เสียงมากๆ และงดยาหรืออาหารเสริม ที่อาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์

หลังการผ่าตัด แพทย์จะทำการนัดตรวจติดตามทุก 1-2 สัปดาห์ในช่วงแรก และทุก 3-6 เดือนจนครบ 1 ปี แพทย์จะมีการส่องกล้องตรวจเส้นเสียงเป็นระยะ ขึ้นกับชนิดการผ่าตัด หลังการผ่าตัดเส้นเสียง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน เสียงจึงมีการแหลมสูงขึ้นอย่างคงที่ ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยเรื่องวิธีการผ่าตัด อายุ การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด และการฝึกฟื้นฟูการออกเสียง

แนวทางการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเปลี่ยนเสียง

  • งดการใช้เสียงอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้เริ่มออกเสียงในปริมาณจำกัดอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
  • งดการไอ จาม กระแอมแรง ๆ อย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • งดรับประทานอาหารที่กระตุ้นกรดไหลย้อนอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • แนะนำให้พบนักอรรถบำบัด เพื่อเริ่มการฟื้นฟูเส้นเสียงหลังการผ่าตัด 1-2 เดือน (ขึ้นกับชนิดการผ่าตัด)
  • หลีกเลี่ยงการดมยาสลบ หลังการผ่าตัดเปลี่ยนเสียงอย่างน้อย 1-3 เดือน เพื่อป้องกันเส้นเสียงอักเสบบวมจากการใส่ท่อช่วยหายใจ

การผ่าตัดลดขนาดลูกกระเดือก

ลูกกระเดือก เป็นโครงสร้างที่เป็นกระดูกอ่อน อยู่บริเวณหน้าต่อกล่องเสียง ซึ่งในเพศชายกระดูกด้านซ้ายและขวาจะทำมุมแหลมมากกว่า ทำให้เห็นลูกกระเดือกมีความนูนมากกว่าในเพศหญิง การผ่าตัดลดขนาดกระเดือกจะเป็นการตัดกระดูกอ่อนส่วนนี้ ให้แบนราบลงโดยสามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ การผ่าตัดลูกกระเดือกจะไม่มีผลทำให้เสียงแหลมขึ้นอย่างในเพศหญิง แต่อาจจะทำให้มีเสียงพูดเบาลงได้ชั่วคราว จากอาการบวมของเส้นเสียง ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นได้เองภายใน 3-4 สัปดาห์

ข้อควรระวังในการผ่าตัดลดขนาดกระเดือกคือ ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 30 ปี กระดูกอ่อนบริเวณนี้จะมีแคลเซียมมาเกาะ ทำให้มีลักษณะที่แข็งขึ้น ซึ่งอาจทำ ให้ต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการผ่าตัด เช่น เครื่องกรอ รวมทั้งต้องทำภายใต้การดมยาสลบ นอกจากนี้ ในรายที่ลูกกระเดือกแข็งมาก อาจไม่สามารถลดขนาดลงให้แบนราบได้มากเท่าที่ควร

 

ที่มา: การเปลี่ยนเสียงในผู้หญิงข้ามเพศ (Voice Feminization in Transgender Women) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)