ศัลยธรรมทรวงอก

การเสริมหน้าอก

โดยทั่วไปผู้หญิงข้ามเพศที่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิง จะมีการเจริญของเต้านมขึ้นมาบางส่วน แต่ก็มักจะไม่เพียงพอที่จะให้มีหน้าอกขนาดใหญ่เหมือนในผู้หญิงเพศกำเนิดได้ ดังนั้นหญิงข้ามเพศส่วนใหญ่ จึงนิยมผ่าตัดเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน โดยเทคนิคการผ่าตัดในกลุ่มนี้ เหมือนกับการเสริมหน้าอกในเพศหญิง แต่มักจะต้องใส่ซิลิโคนไว้ใต้ชั้นกล้ามเนื้อ เนื่องจากมีเนื้อเยื่อเต้านมไม่มากเพียงพอ

เกณฑ์ประเมินก่อนการผ่าตัดการเสริมหน้าอก

  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะที่มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก (Gender Dysphoria)
  • สามารถรับรู้ และเข้าใจข้อมูล เกี่ยวกับการผ่าตัด และลงนามในเอกสารยินยอมฯ ได้
  • มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมด้วย)
  • ไม่มีโรคทางกายที่เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อการผ่าตัด หรือการระงับความรู้สึก
  • ถ้าหากมีโรคทางจิตเวชอยู่ จะต้องได้รับการรักษา จนสามารถควบคุมอาการได้ดีก่อน

การใช้ฮอร์โมนก่อนการผ่าตัดเสริมหน้าอกไม่ได้เป็นข้อบังคับ แต่แนะนำว่า ผู้ป่วยควรผ่านการใช้ฮอร์โมนมาเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเจริญของเนื้อเยื่อเต้านมให้เต็มที่ก่อน เพื่อผลการรักษาในแง่ของความสวยงาม

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการเสริมหน้าอก ได้แก่ มีเลือดออกหลังผ่าตัด การติดเชื้อ การเลื่อนตำแหน่งหรือผิดรูปของซิลิโคน และปัญหาระยะยาวต่างๆ ของซิลิโคน เช่น การเกิดพังผืดหดรัดซิลิโคน และการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สัมพันธ์กับการใส่ซิลิโคน เป็นต้น

การผ่าตัดหน้าอก

การตัดหน้าอก เป็นการผ่าตัดที่นิยมทำกันมากที่สุดในกลุ่มผู้ชายข้ามเพศ ซึ่งช่วยให้ไม่ต้องพันผ้ารัดหน้าอก เพื่อปิดบังขนาดของหน้าอก ในเวลาที่ออกสู่ที่สาธารณะ อนึ่งการพันหน้าอกมาเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ผิวหนังบริเวณหน้าอก สูญเสียความยืดหยุ่น อีกทั้งยังทำ ให้เกิดความไม่สุขสบายทางกาย ทั้งความไม่สะดวกที่ต้องรัดหน้าอกทุกวัน และในระยะยาวอาจเกิดการติดเชื้อรา หรือบาดแผลกดทับได้

เทคนิคของการตัดหน้าอก มีความหลากหลายขึ้นอยู่กับขนาด และปริมาณของเนื้อเยื่อของหน้าอก และเทคนิคของแพทย์ผู้ผ่าตัดแต่ละคน โดยสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 แบบ ดังนี้

  1. เทคนิคแบบแผลเล็ก อยู่บริเวณลานนม
  2. เทคนิคแบบแผลยาว ร่วมกับการย้ายตำแหน่งของหัวนม
  3. เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้อง

เกณฑ์ประเมินก่อนการผ่าตัดหน้าอก

  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะที่มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก (Gender Dysphoria) และมีเอกสารรับรองจากจิตแพทย์ 1 ท่าน
  • สามารถรับรู้ และเข้าใจข้อมูล เกี่ยวกับการผ่าตัด และลงนามในเอกสารยินยอมฯ ได้
  • มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมด้วย)
  • ไม่มีโรคทางกายที่เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อการผ่าตัด หรือการระงับความรู้สึก
  • ถ้าหากมีโรคทางจิตเวชอยู่ จะต้องได้รับการรักษา จนสามารถควบคุมอาการได้ดีก่อน

หลักการผ่าตัดหน้าอกในผู้ชายข้ามเพศ 

แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นเนื้อเต้านมออกทั้งหมดและเหลือส่วนของไขมันหน้าอกไว้บางส่วน เพื่อป้องกันความไม่สม่ำเสมอของผิวหนังหลังผ่าตัด โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีหน้าอกขนาดเล็ก (ขนาดไม่เกินคัพ B) สามารถผ่าตัดด้วยเทคนิคแบบแผลเล็กได้ ข้อดีของวิธีนี้คือ รอยแผลเป็น มีขนาดเล็กและซ่อนอยู่บริเวณลานนม และความรู้สึกของหัวนมจะยังคงอยู่ นอกจากนี้ หากต้องการลดขนาดของหัวนมและลานนมก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของวิธีนี้คือ อาจเกิดรอยย่นของผิวหนังหลังผ่าตัด ซึ่งต้องอาศัยการพันผ้ารัดหน้าอกต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน

สำหรับผู้ป่วยที่มีหน้าอกขนาดใหญ่ (ใหญ่กว่าคัพ C ขึ้นไป) หรือมีการรัดหน้าอกมาเป็นระยะเวลานาน จนผิวหนังสูญเสียความยืดหยุ่นไปมาก มักจะต้องทำการผ่าตัดด้วยเทคนิคแบบแผลยาว ร่วมกับการย้ายตำแหน่งของหัวนม วิธีนี้มีข้อดีคือ ทำ ให้ได้หน้าอกที่แบนราบได้ในการผ่าตัดครั้งเดียว แต่ข้อเสียคือมีรอยแผลเป็นยาว อาจเกิดแผลเป็นนูนได้ และความรู้สึกของหัวนม และลานนมมักจะสูญเสียไปด้วย

ผู้ป่วยที่มีขนาดหน้าอกก้ำกึ่ง (ระหว่างคัพ B-C) การเลือกเทคนิคการผ่าตัด จะพิจารณาตามคุณภาพของผิวหนังเป็นหลัก ในรายที่ผิวหนังมีความยืดหยุ่นที่ดี อาจทำผ่าตัดแบบแผลเล็ก ร่วมกับการพันหน้าอกหลังผ่าตัดได้ แต่ในรายที่รัดหน้าอกมานาน จนผิวหนังหย่อนคล้อยไปมาก อาจจำเป็นต้องทำผ่าตัดแบบแผลยาว เพื่อไม่ให้เกิดรอยย่นหลังผ่าตัดที่มากเกินไป

สำหรับการผ่าตัดหน้าอกผ่านกล้อง เทคนิคจะคล้ายกับการผ่าตัด เพื่อรักษาภาวะเต้านมโตในผู้ชาย โดยแพทย์จะทำการใส่เครื่องมือเข้าไปทางรักแร้และบริเวณหน้าอกด้านข้าง เพื่อเลาะเอาเนื้อเยื่อเต้านมออก วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีขนาดหน้าอกเล็ก และมีขนาดของหัวนม และลานนมเล็กแบบเพศชายอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องมีแผลบริเวณหน้าอก ข้อจำกัดของวิธีนี้คือ ไม่สามารถทำได้ทุกสถานพยาบาล และมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ในปัจจุบันจึงยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากการตัดหน้าอก

  • มีเลือดออกหลังผ่าตัด 
  • มีน้ำเหลืองขังใต้ผิวหนัง 
  • การติดเชื้อ 
  • มีรอยช้ำของหัวนม 
  • มีหัวนมหลุดลอกบางส่วน (พบได้บ่อย) 

สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดแบบแผลเล็ก อาจจำเป็นต้องผ่าตัดครั้งที่สอง เพื่อแก้ไขรอยย่นของผิวหนังที่ยังหลงเหลืออยู่ ส่วนในรายที่ผ่าตัดแบบแผลยาวอาจเกิดแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์บริเวณแผลผ่าตัดได้

 

ที่มา: การผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ (Gender Affirmation Surgery) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)