การใช้ฮอร์โมนในวัยรุ่นชายข้ามเพศ

การเหนี่ยวนำลักษณะทางเพศด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนแบบฉีด ในวัยรุ่นชายข้ามเพศ กรณีก่อนหรือกำลังเข้าสู่ระยะเป็นหนุ่มสาว

การใช้ยาฮอร์โมนในชายข้ามเพศ อาจมีความแตกต่างจากหญิงข้ามเพศในประเด็นช่องทางการบริหารยาเนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนชนิดรับประทาน มักมีปัญหาเรื่องการดูดซึมยาจากทางเดินอาหาร ส่วนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนแบบผ่านทางผิวหนังมีราคาสูง และต้องทาทุกวัน ดังนั้นยาที่มักถูกนำมาใช้ในชายข้ามเพศจึงเป็นในรูปแบบยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ตัวอย่างยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนชนิดฉีดคือ Testosterone Enanthate โดยแนะนำให้ค่อยๆ เพิ่มขนาดยาทุกๆ 6 เดือนเช่นเดียวกัน เพื่อให้ใกล้เคียงกับการเข้าสู่วัยหนุ่มตามธรรมชาติ

ตัวอย่างการใช้ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนแบบฉีด ในวัยรุ่นชายข้ามเพศ กรณีก่อนหรือกำลังเข้าสู่ระยะเป็นหนุ่มสาว

เริ่มใช้ยา Testosterone Enanthate ขนาด 25 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย (ตารางเมตร) โดยฉีดทุก 2 สัปดาห์เป็นเวลา 6 เดือน ทั้งนี้อาจปรับขนาดยาให้ลดลงครึ่งหนึ่ง แล้วฉีดทุก 1 สัปดาห์ หรือเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่าแล้วฉีดทุก 4 สัปดาห์ก็ได้ หลังจากนั้นให้ปรับเพิ่มขนาดยาเป็น

  • 50 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย (ตารางเมตร) ฉีดทุก 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 6 เดือน แล้วตามด้วย
  • 75 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย (ตารางเมตร) ฉีดทุก 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 6 เดือน แล้วตามด้วย
  • 100 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย (ตารางเมตร) ฉีดทุก 2 สัปดาห์ เป็นเวลา 6 เดือน

หลังจากนั้นให้ปรับเป็นขนาดยาสุดท้าย 100-200 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย (ตารางเมตร) ฉีดทุก 2 สัปดาห์ โดยปรับขนาดยาฉีดตามผลของฮอร์โมนจากการเจาะเลือด โดยมีเป้าหมายสุดท้ายให้ได้ใกล้เคียงกับระดับเทสโทสเตอโรนในผู้ชายเพศกำเนิดทั่วไป คือประมาณ 400-700 นาโนกรัม/เดซิลิตร

การเหนี่ยวนำลักษณะทางเพศด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ในวัยรุ่นชายข้ามเพศกรณีผ่านเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว

เนื่องจากคนข้ามเพศส่วนใหญ่จะมาปรึกษาการใช้ฮอร์โมนค่อนข้างช้า การใช้ฮอร์โมนข้ามเพศจึงให้พิจารณาเริ่มด้วยขนาดยาที่สูงขึ้น ดังตัวอย่างในตาราง

ตัวอย่างการใช้ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนแบบฉีดในวัยรุ่นชายข้ามเพศ กรณีผ่านเข้าสู่วัยหนุ่มสาวแล้ว
 

เริ่มใช้ยา Testosterone Enanthate ขนาด 75 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย (ตารางเมตร) ฉีดทุก 2 สัปดาห์เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นให้เพิ่มขนาดยาเป็น 125 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวร่างกาย (ตารางเมตร) ฉีดทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งก็จะเป็นขนาดยาที่เทียบเคียงกับขนาดยาสุดท้ายที่ใช้กับชายข้ามเพศวัยผู้ใหญ่ หลังจากนั้น ให้ปรับขนาดยาตามผลของฮอร์โมนจากการเจาะเลือด โดยมีเป้าหมายให้มีระดับเทสโทสเตอโรนประมาณ 400-700 นาโนกรัม/เดซิลิตร


การตรวจติดตามหลังใช้ฮอร์โมนในวัยรุ่นข้ามเพศ

  • การประเมินทุก 3-6 เดือน: ประเมินน้ำหนัก ส่วนสูง ความดันโลหิต และพัฒนาการทางเพศโดยใช้Tanner staging 
  • การประเมินทุก 6-12 เดือน:
    • ชายข้ามเพศ: ติดตามระดับความเข้มข้นเลือด ไขมันในเลือด ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเลือดและวิตามินดี
    • หญิงข้ามเพศ: ติดตามระดับฮอร์โมนเอสตราดิออลในเลือด และวิตามินดี 
  • การประเมินทุก 1-2 ปี: ตรวจความหนาแน่นกระดูก โดยตรวจเป็นระยะจนถึงอายุประมาณ 25-30 ปีหรือถึงช่วงที่มีความหนาแน่นของกระดูกสูงสุด และตรวจเอกซเรย์อายุกระดูก

การใช้ฮอร์โมนในผู้ชายข้ามเพศวัยผู้ใหญ่

หลักการสำคัญของการใช้ฮอร์โมนในผู้ชายข้ามเพศวัยผู้ใหญ่คือ ทำให้ระดับเทสโทสเตอโรนในเลือดใกล้เคียงกับระดับปกติของเพศชายโดยกำเนิด และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเกิดภาวะเลือดข้น, ความดันโลหิตสูง, การคั่งของเกลือและน้ำ, การเปลี่ยนแปลงของไขมันในเลือด, เป็นสิวรุนแรงและการหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ ดังที่กล่าวไปแล้วว่าในชายข้ามเพศ สามารถใช้ฮอร์โมนเพศชาย คือเทสโทสเตอโรนเพียงตัวเดียว โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยาที่กดเอสโตรเจนจากรังไข่ สำหรับยาเทสโทสเตอโรนที่มีใช้ในปัจจุบันผลิตมาเพื่อใช้ในผู้ป่วยเพศชายที่ขาดฮอร์โมน แต่มีการนำมาประยุกต์ใช้ในชายข้ามเพศด้วย ยาที่พิจารณาให้เลือกใช้มีดังนี้

Testosterone enanthate หรือ Cypionate

เป็นฮอร์โมนที่ถูกใช้มากที่สุด เนื่องจากมีราคาจำหน่ายไม่สูง แต่มีข้อควรระวังคือการเกิดภาวะเลือดข้นผิดปกติได้บ่อยกว่า และต้องฉีดยาบ่อยกว่า Testosterone Undecanoate ขนาดยาที่แนะนำ ให้ใช้คือ 100-200 มิลลิกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อ ทุก 2 สัปดาห์ หรืออาจลดขนาดยาลงครึ่งหนึ่ง แต่ฉีดเป็นทุก 1 สัปดาห์ก็ได้ สำหรับยา Testosterone Cypionate ในปัจจุบันไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

Testosterone Undecanoate

เนื่องจากยาอยู่ในรูปน้ำมัน ทำให้ฮอร์โมนค่อยๆ ดูดซึม มีข้อดีคือ สามารถฉีดห่างกันได้ทุก 12 สัปดาห์แต่มีราคาสูง และปริมาตรยาต่อการฉีดแต่ละครั้ง มากกว่า ขนาดยาที่แนะนำ ให้ใช้คือ 1,000 มิลลิกรัม ฉีดทุก 12 สัปดาห์ มีรายงานการเกิดภาวะลิ่มน้ำมันของยาอุดกั้นปอด แต่พบได้น้อยมาก

Testosterone Gel 1%

เป็นเจลทาผิวหนัง ทาวันละหนึ่งครั้ง ขนาดของยาที่แนะนำ คือ 50-100 มิลลิกรัม/วัน แต่มีราคาสูง และอาจมีการปนเปื้อนจากผู้ใช้ยาไปสู่คนอื่นหากมีการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่ทาเจล

Testosterone Transdermal Patch

เป็นเทสโทสเตอโรนแบบแผ่นแปะ ขนาดที่แนะนำ ให้ใช้คือ 2.5-7.5 มิลลิกรัม/วัน (ปัจจุบันไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย)

การใช้ยาเทสโทสเตอโรนทุกรูปแบบ ให้ทำการปรับขนาดของยาตามค่าระดับเทสโทสเตอโรนในเลือดโดยมีเป้าหมายให้มีระดับเทสโทสเตอโรนประมาณ 400-700 นาโนกรัม/เดซิลิตร

ไม่แนะนำ ให้ใช้เทสโทสเตอโรนชนิดรับประทานที่มีหมู่ Alkylation ที่คาร์บอนอะตอมตำแหน่งที่ 17 เนื่องจากอาจส่งผลเป็นพิษต่อตับ อีกทั้งยังมีการดูดซึมที่ไม่แน่นอน โดยต้องอาศัยระบบน้ำเหลืองในการดูดซึมยาดังกล่าว สำหรับการเป็นพิษต่อตับพบได้น้อย หากเลือกใช้เทสโทสเตอโรนชนิดฉีดและชนิดผ่านทางผิวหนัง ส่วนใหญ่ของชายข้ามเพศจะขาดประจำเดือนภายใน 2-3 เดือน หลังจากได้รับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน โดยในบางรายอาจต้องใช้ขนาดยาที่สูงขึ้น เพื่อไม่ให้มีเลือดออกจากโพรงมดลูก แต่หากยังมีเลือดออกต่อเนื่องให้พิจารณาเพิ่มยากลุ่มโปรเจสเตอโรนเข้าไป โดยรับประทานระยะสั้นๆ หรือหากกังวลอาจพิจารณาให้ฉีด Depot  Medroxyprogesterone หรือ GnRH agonist เพื่อให้ขาดประจำเดือนก่อนที่จะเริ่มให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
 

การติดตามผู้ชายข้ามเพศวัยผู้ใหญ่ที่ได้รับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

  • ประเมินทุก 3 เดือนในปีแรก หลังจากนั้นติดตามทุก 6-12 เดือน เพื่อติดตามลักษณะของความเป็นเพศชาย และอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
  • วัดระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเลือดทุก 3 เดือน จนกระทั่งได้ระดับเทสโทสเตอโรนอยู่ในช่วงปกติของเพศชายแต่กำเนิด คือ ประมาณ 400-700 นาโนกรัม/เดซิลิตร
    • กรณีที่ฉีด Testosterone Enanthate หรือ Cypionate การเจาะเลือดวัดระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนให้เจาะเลือดที่กึ่งกลางของแต่ละครั้งที่ฉีดยา ตัวอย่างเช่น หากฉีดยาทุก 4 สัปดาห์ควรเจาะเลือดที่ 2 สัปดาห์หลังฉีดยา อย่างไรก็ตาม หากไม่สะดวก และระดับฮอร์โมนโทสเตอโรนในเลือดยังอยู่ในช่วง 400-700 นาโนกรัม/เดซิลิตร อาจเจาะในช่วงเวลาใดก็ได้
    • กรณีที่ฉีด Testosterone Undecanoate การเจาะเลือดวัดระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ให้เจาะเลือดในวันก่อนเริ่มฉีดเข็มถัดไป หากระดับเทสโทสเตอโรนในเลือดต่ำกว่า 400 นาโนกรัม/เดซิลิตร ควรพิจารณาฉีด Testosterone undecanoate ให้ถี่ขึ้นกว่าเดิม
    • กรณีใช้เทสโทสเตอโรนชนิดผ่านทางผิวหนัง การเจาะเลือดวัดระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ให้เจาะหลังจากเริ่มใช้ยาไปแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์และควรเจาะหลังจากทายาไปแล้ว 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
      แนะนำให้ตรวจวัดระดับความเข้มข้นเม็ดเลือดแดงเป็นค่าพื้นฐาน และให้ตรวจซ้ำทุก 3 เดือนในปีแรก หลังจากนั้นติดตามทุก 6-12 เดือน และควรมีการติดตามความดันโลหิต วัดน้ำหนัก และตรวจไขมันในเลือดเป็นระยะตามความเหมาะสมของผู้รับบริการแต่ละราย
  • พิจารณาตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน ในผู้ที่หยุดใช้หรือใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไม่สม่ำเสมอ หรือในรายที่มีความเสี่ยงอื่นๆ ของโรคกระดูกพรุน
  • หากยังไม่ได้ผ่าตัดมดลูกออก (ยังมีปากมดลูก) แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เหมือนในเพศหญิงแต่กำเนิด
  • ให้พิจารณาผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกได้ หากผู้รับบริการมีความประสงค์และมีการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
  • หากทำการผ่าตัดเต้านมออกแล้ว ให้พิจารณาตรวจเต้านมปีละครั้ง โดยเน้นตรวจคัดกรองบริเวณใต้และรอบๆ หัวนม เนื่องจากอาจยังมีเนื้อเยื่อเต้านมหลงเหลืออยู่ได้ในบริเวณนี้ แต่หากไม่ได้ผ่าตัดเต้านมออก ให้พิจารณาตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วย Mammogram ตามคำแนะนำทั่วไปของเพศหญิงแต่กำเนิด
     

 

ที่มา: การให้ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ (Gender-Affirming Hormone Treatment for Transgender People : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)