ผ่าตัดมดลูก

การตัดมดลูกและรังไข่ นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างหนึ่ง ของกระบวนการข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย โดยมีประโยชน์ในด้านจิตใจในการที่ไม่ต้องมีสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นเพศหญิงอยู่ในร่างกาย หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของการผ่าตัดสร้างองคชาต หรือการตัดช่องคลอดในอนาคต นอกจากนี้ การผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่อาจจำเป็นในกรณีที่มีเนื้องอก มีโรคเกี่ยวกับเยื่อบุโพรงมดลูก หรือรังไข่ หรือมีประวัติเป็นมะเร็งดังกล่าวในครอบครัว

โดยทั่วไปการผ่าตัดจะทำโดยสูตินรีแพทย์ ซึ่งเทคนิคการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดแบบส่องกล้อง และการผ่าตัดแบบผ่านช่องคลอด ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการสร้างอวัยวะเพศชายด้วยสามารถที่จะทำผ่าตัดไปพร้อมกันในครั้งเดียว หรือจะผ่าตัดแยกกัน โดยตัดมดลูกและรังไข่ก่อน แล้วค่อยมาผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชายในภายหลังก็ได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้วางแผนจะผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชาย แต่ต้องการตัดมดลูกและรังไข่เพียงอย่างเดียว จำเป็นที่จะต้องได้รับการประเมินก่อนผ่าตัดอย่างละเอียด และต้องผ่านการประเมินและได้รับการรับรองจากจิตแพทย์จำนวน 2 ท่าน เนื่องจากการผ่าตัดจะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย และทำให้สูญเสียความสามารถในการมีบุตรอย่างถาวร

เกณฑ์ประเมินก่อนการการผ่าตัดมดลูก ปีกมดลูกและรังไข่

  • ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะที่มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก (Gender Dysphoria) และมีเอกสารรับรองจากจิตแพทย์ 2 ท่าน
  • สามารถรับรู้ และเข้าใจข้อมูล เกี่ยวกับการผ่าตัด และลงนามในเอกสารยินยอมฯ ได้
  • มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ (ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมด้วย)
  • ไม่มีโรคทางกายที่เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อการผ่าตัด หรือการระงับความรู้สึก
  • ถ้าหากมีโรคทางจิตเวชอยู่ จะต้องได้รับการรักษา จนสามารถควบคุมอาการได้ดีก่อน
  • ได้รับฮอร์โมนเพศชายอย่างน้อย 12 เดือน (ยกเว้นมีข้อห้ามที่ไม่สามารถใช้ฮอร์โมนได้)

 

ที่มา: การผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ (Gender Affirmation Surgery) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)