คนข้ามเพศกับสิทธิในการจัดตั้งครอบครัว
ตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบครอบครัวตามธรรมชาติหรือการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองไว้อย่างชัดเจนทั้งตามกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น ในตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคีได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมค.ศ. 1966 และในหลักการยอกยาการ์ตา ข้อ2423 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า
“มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการสร้างครอบครัว โดยไม่ขึ้นกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ครอบครัวมีหลากหลายรูปแบบ ห้ามมิให้ครอบครัวใดตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุแห่งวิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ จากสมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัว"
รัฐจัก: ใช้มาตรการทางนิติบัญญัติทางปกครอง และอื่น ๆ ที่จำ เป็น เพื่อรองรับสิทธิในการสร้างครอบครัวรวมทั้งให้มีโอกาสในการอุปการะบุตรบุญธรรม หรือการตั้งครรภ์โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วย (รวมถึงการผสมเทียม) โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากสาเหตุแห่งวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ”
นอกจากนี้ การศึกษารูปแบบความต้องการของการใช้ชีวิตคู่ของบุคคลหลากหลายทางเพศ จาก 4 ภูมิภาคของประเทศไทย พบว่ากลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ มีความต้องการที่จะได้รับความคุ้มครองด้านกฎหมายมากที่สุด เพราะคู่ของบุคคลหลากหลายทางเพศ ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในฐานะคู่ชีวิตได้เหมือนคู่รักต่างเพศ เช่น สิทธิในการลดหย่อนภาษีหรือสิทธิในการทำ สัญญาประกันชีวิต, การค้ำประกัน หรือการขอสินเชื่อร่วมกันได้ในกรณีคู่ต่างเพศที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้เขียนไว้โดยตรงว่าการทำสัญญาเหล่านี้ จะต้องเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติบริษัทประกันชีวิตสามารถยอมรับทำ การธุรกรรมให้ได้
โดยอาจจะพิจารณาว่ามีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านร่วมกัน แต่ในกรณีของคู่ชีวิตหลากหลายทางเพศนั้น ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะกฎหมายเกี่ยวกับการรับทำประกันจะไม่ยอมให้ทำประกัน ในกรณีที่ยกทรัพย์สินให้คนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ ส่วนธนาคารก็เชื่อถือการค้ำประกันการขอสินเชื่อ หรือการกู้ร่วมของคนที่เป็นญาติกัน มากกว่าคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ ตามกฎหมาย ดังนั้น คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศจึงไม่สามารถทำธุรกรรมเหล่านี้ได้ เพราะคู่สัญญาอีกฝ่ายจะไม่ยอมรับ หรือสิทธิในรับสวัสดิการการรักษาพยาบาล
ในคู่สมรสต่างเพศที่จดทะเบียนนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับราชการ คู่สมรสก็จะมีสิทธิได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลด้วย รวมถึงสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม แต่คู่ชีวิตหลากหลายทางเพศจะไม่สามารถได้รับสิทธิเหล่านี้ให้แก่คู่ของตนได้เลย และนั่นก็รวมไปถึงสวัสดิการอื่นๆ เช่น ที่พักอาศัย, เงินทุนเพื่อการศึกษา, สิทธิการลาติดตามคู่สมรส, สิทธิการติดตามคู่สมรสไปทำงานต่างประเทศ ฯลฯ
การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการรับรองสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวและการสมรส ในปัจจุบันนั้น มี 2 แนวทางแนวทางแรก คือ การร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติคู่ชีวิต ซึ่งเป็นการเสนอกฎหมายใหม่ แต่ด้วยเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีความท้าทายและถกเถียงกันในสังคมถึงการนำไปใช้ในการคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนิยาม “คู่ชีวิต” กับ “คู่สมรส” ที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังไม่ได้รับรองสิทธิบางประการที่สำคัญ เช่น การรับบุตรบุญธรรมโดยให้อำนาจปกครองร่วมกัน แนวทางการเสนอกฎหมายดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางอ้อม และอาจขัดต่อพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แนวทางที่ 2 คือ การเสนอแก้ไขบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ มาตรา 1448 พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 ที่กำหนดให้ชายและหญิงเท่านั้นที่สามารถสมรสกันได้ ทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสและจัดตั้งครอบครัว รวมถึงไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายดังกล่าว
ที่มา: คนข้ามเพศในบริบทของสังคม กฎหมาย และวัฒนธรรมไทย (Social, Legal and Cultural Perspectives on Transgender People in Thailand) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)