โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกกลุ่มประชากรรวมไปถึงกลุ่มคนข้ามเพศ แต่เนื่องจากในกลุ่มคนข้ามเพศนั้น มีทั้งผู้ที่ใช้ฮอร์โมน หรือใช้ฮอร์โมนร่วมกับการผ่าตัดแปลงเพศ และมีบางกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมน หรือไม่มีการผ่าตัดแปลงเพศ ดังนั้น อาการ การตรวจวินิจฉัย และการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในกลุ่มคนข้ามเพศ อาจแตกต่างจากกลุ่มประชากรทั่วไปได้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยพบมากในหมู่วัยรุ่น
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ดังนั้น อาจส่งต่อให้ผู้อื่นได้โดยที่ผู้ส่งต่อหรือ
    ผู้ที่รับเชื้อไม่รู้ตัว
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อให้เกิดปัญหาต่อตัวเอง คู่นอน และอาจติดไปยังทารกในครรภ์ได้
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิดเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง เช่น การติดเชื้อหูดหงอนไก่บางสายพันธุ์(human papilloma virus หรือ HPV) ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่อวัยวะเพศ และมะเร็งทวารหนักได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และคนข้ามเพศ
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้หลายวิธี เช่น ลดพฤติกรรมเสี่ยง, ใช้ถุงยางอนามัย และบางโรคมีวัคซีนป้องกันได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ, ไวรัสตับอักเสบบีและวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรครักษาหายขาดได้เช่นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ(เช่นซิฟิลิส,หนองใน, หนองในเทียม)
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคก่อให้เกิดอาการเรื้อรัง เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (เช่น เอชไอวี,เริม, หูดหงอนไก่) แต่สามารถลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้

ความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มคนข้ามเพศอาจเกิดจากหลายปัจจัยเช่นพฤติกรรมในการมีเพศสัมพันธ์ของแต่ละบุคคลหรือชนิดของการผ่าตัดแปลงเพศซึ่งปัจจัยต่าง ๆ สามารถพิจารณาได้ตามกลุ่มของคนข้ามเพศได้ดังนี้

กลุ่มหญิงข้ามเพศ

  • หญิงข้ามเพศที่ไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศจะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหมือนกลุ่มประชากรทั่วไป
  • หญิงข้ามเพศที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศอาจได้รับการผ่าตัดโดยใช้เทคนิคที่แตกต่างกันซึ่งอาจทำให้มีโอกาสและความเสี่ยงในการได้รับเชื้อหนองในและหนองในเทียมต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับเนื้อเยื่อที่ใช้สร้างช่องคลอดใหม่ ซึ่งมีข้อควรพิจารณาดังนี้
    • ช่องคลอดใหม่ที่สร้างจากผิวหนังอวัยวะเพศและการต่อกราฟ สามารถติดเชื้อหนองในได้
    • ช่องคลอดใหม่ที่มีการใช้เนื้อเยื่อของท่อปัสสาวะ, เยื่อบุช่องท้องหรือผนังสำ ไส้สามารถติดเชื้อหนองในและหนองในเทียมได้
    • มีรายงานว่าหญิงข้ามเพศที่ใช้ผนังลำ ไส้ใหญ่ในการสร้างช่องคลอดใหม่ หากได้รับเชื้อหนองในอาจพบเลือดออกขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ได้

กลุ่มชายข้ามเพศ

  • ชายข้ามเพศที่ไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศและใช้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนอาจมีผลทำให้ผนังช่องคลอดบางลง ซึ่งถ้าหากไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายเพศกำ เนิด อาจทำให้เกิดรอยถลอกหรือเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์และอาจทำให้มีโอกาสในการรับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวีสูงขึ้น
  • ชายข้ามเพศที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว พบการติดเชื้อหนองในอวัยวะเพศชายใหม่น้อยมาก

 

 

อาการและอาการแสดงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มคนข้ามเพศ

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยทั่วไปแบ่งได้เป็นกลุ่มที่มีอาการ และกลุ่มที่ไม่มีอาการอาการและอาการแสดงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มคนข้ามเพศไม่ต่างจากจากกลุ่มประชากรทั่วไป

การเก็บสิ่งส่งตรวจและการส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในคนข้ามเพศ

กลุ่มที่มีอาการ

  • โรคหนองในและหนองในเทียม: เก็บสิ่งส่งตรวจจากช่องทางที่มีอาการ เพื่อส่งตรวจย้อมสีแกรม เพาะเชื้อหรือตรวจ NAAT (Nucleic Acid Amplification test)
    • กรณีเก็บสิ่งส่งตรวจจากช่องคอไม่แนะนำให้ส่งตรวจโดยวิธีย้อมสีแกรมเพราะอาจพบผลบวกลวงได้
    • กรณีเก็บสิ่งส่งตรวจจากช่องคลอดใหม่เพื่อย้อมสีแกรม หรือเพาะเชื้อจะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) หรือกล้องส่องทวารหนัก (Anoscope) ในการตรวจโรคและเก็บสิ่งส่งตรวจก็ได้ขึ้นกับความถนัดของผู้ตรวจ
    • การเก็บสิ่งส่งตรวจจากช่องคลอดในคนข้ามเพศชาย ที่ใช้ฮอร์โมนเพื่อไปย้อมสีแกรมหรือเพาะเชื้อควรใช้ speculum ขนาดเล็กและมีการหล่อลื่นที่เพียงพอ เนื่องจากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ทำให้ผนังช่องคลอดบางลง ทำให้อาจมีอาการเจ็บหรือเลือดออกขณะตรวจได้
    • กรณีส่งตรวจด้วยวิธี NAAT ไม่ต้องใช้ speculum หรือ anoscope
  • โรคซิฟิลิส: ตรวจจากเลือด
  • โรคหูด: โดยทั่วไปวินิจฉัยจากอาการ ไม่แนะนำให้ตรวจหาสายพันธ์ของเชื้อ HPV
  • แผลที่อวัยวะเพศและทวารหนัก: โดยทั่วไปวินิจฉัยจากอาการ ถ้าไม่แน่ใจสามารถ swab ที่แผลและตรวจด้วยวิธี PCR (Polymerasechain Reaction)

กลุ่มที่ไม่มีอาการ

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีอาการนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การควบคุมโรคได้ผลไม่ดี ดังนั้นจึงควรมีการตรวจคัดกรอง เพื่อให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเหล่านี้ เข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่อตัวเอง และลดการแพร่เชื้อต่อผู้อื่น แนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยพิจารณาจากพฤติกรรมทางเพศ และช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ โดยโรคที่ควรตรวจคัดกรอง ได้แก่ เอชไอวี, ซิฟิลิส, ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี, โรคหนองใน และโรคหนองในเทียม

สำหรับโรคหนองในและหนองในเทียมที่ไม่มีอาการ แนะนำตรวจด้วยวิธี NAAT ทุกช่องทางที่มีเพศสัมพันธ์ โดยมีคำแนะนำ ดังนี้

  • วิธีเก็บสิ่งตรวจ พบว่าการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง (self-collection) เปรียบเทียบกับการเก็บโดยบุคคลากรทางการแพทย์ได้ผลเท่ากัน ดังนั้นจึงอาจให้ผู้รับบริการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเองได้
  • การเก็บสิ่งส่งตรวจจากช่องคลอดใหม่ เก็บได้ทั้งจากปัสสาวะ (urine) และป้ายจากช่องคลอดใหม่ (neovaginal swab)
  • ชายข้ามเพศที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว แนะนำให้เก็บสิ่งส่งตรวจจาก urine
  • ชายข้ามเพศที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ แนะนำให้เก็บสิ่งส่งตรวจจาก vaginal swab
  • ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคเริมและเชื้อ HPV และให้รักษาในรายที่มีอาการเท่านั้น
  • ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองเชื้อ HPV และ Papsmear จากช่องคลอดใหม่ แต่แนะนำให้มีการตรวจช่องคลอดใหม่สม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาโรคติดต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และความผิดปกติอื่นๆ
  • สำหรับชายข้ามเพศที่ไม่ได้ผ่าตัดมดลูก หรือผ่าตัดมดลูก แต่ยังคงเหลือปากมดลูกไว้แนะนำ ให้ตรวจคัดกรอง HPV และ Pap smear ตามคำแนะนำของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของประเทศ

 

 

ระยะเวลาในการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ระยะเวลาในการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ให้พิจารณาจากพฤติกรรมทางเพศในรายบุคคล

  • ในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีคู่นอนหลายคน, ไม่ใช้ถุงางอนามัย, ทำงานบริการทางเพศ, ผู้ที่ใช้สารกระตุ้นขณะมีเพศสัมพันธ์) แนะนำให้ตรวจทุก 3 เดือน
  • ในรายที่มีความเสี่ยงเป็นครั้งคราว แนะนำตรวจได้โดยไม่ต้องรอให้พ้น window period เพื่อที่จะได้ทราบสถานะการติดเชื้อปัจจุบันและตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อพ้น window period
     

 

ที่มา: สุขภาวะทางเพศของบุคคลข้ามเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual Health in Transgender People: Sexually Transmitted Infections) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)