เอชไอวีในบุคคลข้ามเพศ

บุคคลข้ามเพศถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะได้รับเชื้อเอชไอวี เมื่อเทียบกับประชาชนไทยทั่วไปที่มีอัตราความชุกอยู่ที่ร้อยละ 1.1 โดยเฉพาะในหญิงข้ามเพศที่เสี่ยงมากกว่าถึง 49 เท่า โดยอัตราความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีในบุคคลข้ามเพศในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราในประเทศสหรัฐอเมริกา (9.2%) โดยความชุกในหญิงข้ามเพศจะสูงกว่าชายข้ามเพศ (14.1% และ 3.2% ตามลำดับ) ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีในบุคคลข้ามเพศมีหลายปัจจัย อาทิเช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย อำนาจการต่อรองที่น้อยกว่าในการใช้ถุงยางอนามัยกับคู่นอน การมีเพศสัมพันธ์ในขณะเมาสุรา การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การมีคู่นอนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี การใช้ยาฮอร์โมนแบบฉีด หรือการใช้สารเสพติดชนิดฉีด และการให้บริการทางเพศ เป็นต้น

 

 

การป้องกันและดูแลรักษาการติดเชื้อเอชไอวีในบุคคลข้ามเพศ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเจ็บป่วย ลดการแพร่เชื้อและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับบุคคลข้ามเพศ โดยการให้บริการดังกล่าว ควรให้ครอบคลุมทั้งในและนอกสถานพยาบาล

การให้บริการที่ควรมีในสถานบริการทางการแพทย์

  • การตรวจเอชไอวี
  • ถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น
  • สุขภาวะทางเพศ และการสืบพันธ์
  • การดูแลรักษาผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี
  • การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม เพื่อลดความเสี่ยง
  • การป้องกันและรักษาโรคร่วมต่างๆ อาทิเช่น การติดเชื้อฉวยโอกาส วัณโรค การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และโรคทางจิตเวช
  • การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในเรื่องการแลกเปลี่ยนเข็มและการบำบัดรักษาด้วยสารทดแทนในผู้ป่วยเสพติด

ปัจจัยที่สำคัญในเชิงสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความสำเร็จของการให้บริการ

  • กฎหมาย นโยบาย และการสนับสนุนทางงบประมาณ รวมถึงการยกเลิกโทษความผิดทางอาญาในการดำเนินชีวิตของกลุ่มประชากรคนข้ามเพศบางอย่าง เช่น ผู้ที่ให้บริการทางเพศ เป็นต้น
  • การสนับสนุนให้ลดการตีตรา และการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลข้ามเพศ ในสถานบริการทางสุขภาพ
  • การเพิ่มอำนาจการต่อรองในทุกมิติของประชากรคนข้ามเพศ
  • การออกกฎหมาย หรือการรณรงค์เพื่อลดการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจของบุคคลข้ามเพศ

การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

การป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีสามารถทำได้ด้วยการสวมถุงยางอนามัย การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่ (การมีเพศสัมพันธ์เฉพาะภายนอก) การตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ และการขลิบปลายอวัยวะเพศชาย นอกจากนี้ การรับประทานยาเป๊ป (PEP) ซึ่งย่อมาจาก Post-Exposure Prophylaxis ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีที่รับประทานหลังมีความเสี่ยง และยาเพร็พ (PrEP) ซึ่งย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีที่รับประทานก่อนสัมผัสความเสี่ยง ยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้อีกทางหนึ่ง

ยาเป๊ป (Post-Exposure Prophylaxis: PEP)

ผู้ที่ได้รับความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อเอชไอวีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจากเลือดหรือสารคัดหลั่ง ควรพิจารณาให้ยา PEP ในกรณีที่เสี่ยงมาไม่เกิน 72 ชั่วโมง สารคัดหลั่งที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งในช่องคลอด และหนอง สำหรับน้ำมูก น้ำลาย น้ำตา เหงื่อ เสมหะ อาเจียน อุจจาระ และปัสสาวะ หากไม่มีการปนเปื้อนเลือด ซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถือว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยมาก ลักษณะกิจกรรมที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือช่องคลอดโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย หรือถุงยางแตก (ทั้งฝ่ายรับและฝ่ายรุก) การถูกของมีคมเปื้อนเลือดทิ่มตำ เช่น เข็มฉีดยา มีดผ่าตัด สำหรับหญิงข้ามเพศที่ได้รับการผ่าตัดทำช่องคลอดใหม่ด้วยผิวหนังอวัยวะเพศหรือการต่อกราฟ อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้น ถ้าหากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้สารหล่อลื่น เนื่องจากในช่องคลอดใหม่ไม่มีน้ำหล่อลื่นตามธรรมชาติ จึงเสี่ยงต่อการฉีกขาดได้ง่าย

ยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis: PrEP)

ยาเพร็พ หรือยาป้องกันเอชไอวีเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และเป็นวิธีการที่แนะนำในแนวทางการตรวจรักษาและป้องกันเอชไอวีประเทศไทยปี พ.ศ.2560 และแนวทางการจัดบริการยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวี ในประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีประเทศไทยปี พ.ศ. 2561  ในบุคคลข้ามเพศที่ใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศแนะนำ ให้กินยาเพร็พแบบกินทุกวัน ไม่แนะนำ ให้กินเพร็พเฉพาะก่อนและหลังมีความเสี่ยง เนื่องจากอาจมีอันตรกิริยาระหว่างยาเพร็พและยาฮอร์โมน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีลดลง สถานพยาบาล ที่ให้บริการเพร็พควรสนับสนุนวิธีการป้องกันด้วยวิธีอื่นด้วย เช่น ถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น และเน้นย้ำให้ผู้รับบริการมาตรวจเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ และถ้าหากตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรพร้อมเริ่มให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสในทันที เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ควรมีความละเอียดอ่อนทางเพศสภาพ และตระหนักถึงการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยให้บริการสุขภาพที่รอบด้านซึ่งประกอบด้วยด้านจิตเวช การใช้ฮอร์โมน เพื่อการข้ามเพศ การผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและยาเสพติด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกลยุทธ์ในการให้บริการของ UNAIDS ตามนโยบาย ‘reach-test-treat-retain’

สำหรับหญิงข้ามเพศ มักมีความกังวลในเรื่องผลข้างเคียงของการใช้ยาเพร็พและฮอร์โมน เช่น ผลกระทบเรื่องความสวยงาม เจ้าหน้าที่ควรให้คำปรึกษา เพื่อเพิ่มความเข้าใจและลดโอกาสที่ผู้รับบริการจะรับประทานยาไม่ต่อเนื่อง ในหญิงข้ามเพศบางรายที่ตัดอัณฑะออกไปแล้ว อาจมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหากระดูกบาง ควรแนะนำให้รับประทานอาหารที่เสริมสร้างมวลกระดูก ออกกำลังกาย และงดสูบบุหรี่ รวมทั้งปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านฮอร์โมน หากไม่แน่ใจ บุคคลข้ามเพศที่มีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อเอชไอวี ภายใน 3 เดือนข้างหน้า แนะนำให้รับประทานยาเพร็พวันละครั้ง ตามสิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยจะได้สิทธิในการรับยาเพร็พฟรี (Tenofovir Diphosphate 300 mg และ Emtricitabine 200 mg) ครั้งละ 1 ขวดต่อการนัดหมาย 1 ครั้ง การตรวจเอชไอวีฟรี 4 ครั้งต่อปี การตรวจการทำงานของไตฟรี 2 ครั้งต่อปี การตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HbsAg) ฟรี 1 ครั้งต่อปี การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ฟรี 2 ครั้งต่อปี และถุงยางอนามัยฟรี

 

 

ในอนาคตอันใกล้ บุคคลข้ามเพศอาจจะมีทางเลือกมากขึ้น ในการเลือกยาเพร็พในการป้องกันเอชไอวีโดยอาจมีการนำยา Tenofovir Alafelamide (TAF) มาใช้แทนยา Tenofovir Diphosphate ที่ใช้ในปัจจุบันซึ่ง TAF มีผลข้างเคียงต่อมวลกระดูกน้อยกว่า และลดความเสี่ยงในการเป็นพิษต่อไตในระยะยาว (อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเทศไทยการเข้าถึงยา TAF ยังจำกัด เนื่องจากยามีราคาค่อนข้างสูง) หรือ ยา Cabotegravir ชนิดฉีดเข้ากล้าม ซึ่งอยู่ระหว่างการทำวิจัยทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์สภากาชาดไทย ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพที่ดีในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี และการบริหารยาแบบฉีดช่วยลดความเสี่ยงที่อาจจะกินยาไม่สม่ำเสมอได้

การเข้าถึงบุคคลข้ามเพศ

การเข้าถึงบุคคลข้ามเพศ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับการตรวจคัดกรองเอชไอวีอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญและควรทำร่วมไปกับการให้บริการทางการแพทย์เพื่อการข้ามเพศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีซึ่งจะมีผลต่อการมารับบริการทั้งระยะสั้นและระยะยาว การเข้าถึงประชากรข้ามเพศที่มีความเสี่ยงต้องเริ่มต้นจากการประมาณการณ์จำนวนประชากร ประเมินความเสี่ยง และความต้องการทางสุขภาพ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี ควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่ CD4 ทุกระดับ

 

ที่มา: สุขภาวะทางเพศของบุคคลข้ามเพศ เอชไอวีและไวรัสตับอักเสบ (Sexual Health in Transgender People: HIV and Viral Hepatitis) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)