การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้เมื่อปัจจัยของทั้ง 2 เพศเหมาะสม กล่าวคือ คนเพศกำเนิดชายต้องสามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ (อสุจิ) ที่มีคุณภาพดีและสามารถร่วมเพศและหลั่งอสุจินั้นสู่คนเพศกำเนิดหญิงได้ ในขณะเดียวกันคนเพศกำเนิดหญิงก็ต้องสามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่) ที่มีคุณภาพดีสามารถร่วมเพศและตกไข่นั้นสู่อวัยวะเพศหญิงภายในได้อสุจิและไข่ จึงจะมาปฏิสนธิกันและกลายเป็นตัวอ่อน และมาฝังตัวที่เยื่อบุมดลูกกลายเป็นการตั้งครรภ์ต่อไป อนึ่ง ไม่มีการกล่าวถึงแนวทางการคุมกำเนิดในคนข้ามเพศไว้อย่างชัดเจนในเอกสารขององค์การอนามัยโลก และกรมควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา ข้อมูลการใช้และการแนะนำการคุมกำเนิดในคนข้ามเพศ จึงมาจากข้อมูลในคนเพศกำเนิด และจากการศึกษาในคนข้ามเพศที่มีปริมาณไม่มากนัก

การคุมกำเนิดในผู้หญิงข้ามเพศ

ผู้หญิงข้ามเพศที่ยังไม่ได้ผ่าตัดแปลงเพศ หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเพศกำเนิดทางช่องคลอด อาจสามารถผลิตอสุจิจากอัณฑะและหลั่งได้ ไม่ว่าจะใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นถ้าผู้หญิงข้ามเพศมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน กับผู้หญิงเพศกำเนิดอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้ทั้งนี้หญิงข้ามเพศที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะมีผลลดการสร้างอสุจิได้จริง (จากการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในอัณฑะ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างอสุจิ) แต่อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังไม่ได้ถูกรับรองให้ใช้เพื่อคุมกำเนิดในผู้ชายได้ ผู้หญิงข้ามเพศจึงควรพิจารณาวิธีการคุมกำเนิดเช่นเดียวกับผู้ชายเพศกำเนิด โดยอาจทำหมัน หรือใช้ถุงยางอนามัย หรืออาจพิจารณาใช้วิธีการคุมกำเนิดในผู้หญิงเพศกำเนิดที่มีเพศสัมพันธ์กันก็ได้เช่นกัน บุคลากรทางการแพทย์ ควรให้การปรึกษาผู้หญิงข้ามเพศที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเพศกำเนิด เกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม และควรแนะนำการป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

การคุมกำเนิดในผู้ชายข้ามเพศ

ผู้ชายข้ามเพศที่ยังมีมดลูกและรังไข่ถ้าหากมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด โดยไม่ป้องกันกับผู้ชายเพศกำเนิดจะมีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ได้ ข้อควรทราบ คือการใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในผู้ชายข้ามเพศ ไม่สามารถยับยั้งการตกไข่ได้ จึงไม่ถือเป็นการคุมกำเนิด ผู้ชายข้ามเพศอาจจะมีการตกไข่ได้ แม้จะใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจนไม่มีประจำเดือนแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ผู้ชายข้ามเพศที่ไม่ใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน จะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าผู้ชายข้ามเพศที่ใฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนถึง 3 เท่า และผู้ชายข้ามเพศที่หยุดใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนไปแล้ว สามารถกลับมามีไข่ตกและตั้งครรภ์ได้ ก่อนจะกลับมามีประจำเดือนครั้งแรก นอกจากนี้ การตั้งครรภ์ในผู้ชายข้ามเพศที่ใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน จะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับผลของฮอร์โมนและอาจเป็นอันตรายได้

การใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ไม่ได้เป็นข้อบ่งห้ามต่อการคุมกำเนิดชนิดใด ผู้ชายข้ามเพศที่มีมดลูกและรังไข่ อาจใช้วิธีการคุมกำเนิดของเพศหญิงโดยไม่ใช้ฮอร์โมน เช่น การใช้ห่วงอนามัยทองแดง การทำหมัน ใส่หมวกครอบปากมดลูก หรือใช้ถุงยางอนามัย โดยถุงยางอนามัยมีข้อดีคือ ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ด้วย หากผู้ชายข้ามเพศต้องการใช้วิธีการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน อาจพิจารณาวิธีที่ไม่ต้องใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อหลีกเลี่ยงฤทธิ์ต่อลักษณะทุติยภูมิทางเพศแบบผู้หญิง เช่น ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว, ยาฉีดคุมกำเนิดรายสามเดือน, ยาฝังคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัยชนิดโปรเจสตินอย่างเดียว ซึ่งจะช่วยเสริมฤทธิ์ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในการหยุดประจำเดือนได้ด้วย (ตัวอย่างของการคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม, ยาฉีดคุมกำเนิดรายเดือน, แผ่นแปะคุมกำเนิด และวงแหวนคุมกำ เนิด) นอกจากนี้ ผู้ชายข้ามเพศยังสามารถเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน หรือใช้ห่วงอนามัยทองแดงเพื่อเป็นการคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ โดยควรพิจารณาข้อควรระวังและข้อบ่งห้ามในการคุมกำเนิดฉุกเฉิน เช่นเดียวกับผู้หญิงเพศกำเนิด

ผู้ชายข้ามเพศที่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดกับผู้ชายเพศกำเนิด อาจพิจารณาใช้วิธีการคุมกำเนิดในผู้ชายเพศกำเนิดแทนได้ด้วยการทำหมันชาย หรือใช้ถุงยางอนามัย โดยพิจารณาตามข้อควรระวังและข้อบ่งห้าม ของการคุมกำเนิดในเพศชายบุคลากรทางการแพทย์ ควรให้การปรึกษาผู้ชายข้ามเพศที่ยังมีมดลูกและรังไข่ รวมทั้งผู้ชายเพศกำเนิดที่มีเพศสัมพันธ์กันเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม และควรแนะนำการป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย

 


ที่มา: การให้บริการคนข้ามเพศเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ (Reproductive Services for Transgender People) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)