การพูดคุยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในชุมชนทรานส์หรือคนข้ามเพศ
การพูดคุยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายในชุมชนทรานส์หรือคนข้ามเพศเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรของประเทศทั่วไป พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไป สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่น่าวิตกที่เราในฐานะทรานส์ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน และผลกระทบของการเลือกปฏิบัติจากคนอื่นๆ เช่น การถูกเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ รังเกียจสาวประเภทสอง และเกลียดกลัวกลุ่มคนข้ามเพศ เป็นต้น
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ยังเพิ่มความทุกข์ใจและความโดดเดี่ยวให้กับเรา โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศ พี่สาว น้องสาว พี่ชาย น้องชาย คนผิวสี ผู้ที่อยู่ร่วมกับคนพิการและอื่นๆ อีกมากมาย ในฐานะชุมชนทรานส์ สิ่งสำคัญคือ ต้องเตรียมพร้อเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ดังนั้นเราจึงได้พัฒนาข้อมูลเว็บไซต์หน้านี้ขึ้น เพื่อให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ
การเตรียมพร้อมอาจเกี่ยวข้องกับ การรู้ว่าใครที่คุณสามารถขอความช่วยเหลือได้ บริการใดบ้างที่จะเข้าถึง ความสามารถในการกำหนดการสนับสนุน และการดูแลที่เราต้องการ หรือมีทรัพยากรที่ดีขึ้นและมั่นใจในการช่วยเหลือผู้อื่นในชุมชนของเรา ให้มีการสนทนาที่ช่วยเหลือให้พวกเขาผ่านความยากลำบากเกี่ยวกับความทุกข์ทรมาน และความคิดของพวกเขาหรือความรู้สึกฆ่าตัวตายไปได้
“การฆ่าตัวตายอาจทำให้รู้สึกหนักใจ แต่คุณไม่จำเป็นต้องผ่านมันไปเพียงลำพัง”
ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้กล่าวถึงภาวะความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายไว้ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจ และสังคมที่รุนแรงมาก ทำให้เกิดความเครียด อย่างรุนแรง และรวดเร็วแก่ทุกคน นำมาซึ่งความรู้สึกซึมเศร้า และอาจทำให้หลายคนคิดฆ่า ตัวตายได้ ทุกคนจึงควรเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน และเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โดยการสังเกตและ สอบถามคนที่อยู่ใกล้ชิดเสมอเมื่อสงสัยว่าเขาจะเกิดอารมณ์ซึมเศร้าหรือคิดฆ่าตัวตาย
คนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดอารมณ์ซึมเศร้านำมาก่อน อาการอาจมีน้อย เช่น เริ่มต้นจาก อารมณ์เบื่อ ไม่สนุกสนาน ไม่ร่าเริงแจ่มใส ไม่ค่อยสนใจหรืออยากจะทำอะไรแม้แต่ กิจกรรมที่เคยชอบทำหรือเคยเพลิดเพลิน เบื่องาน หรือ เบื่อการเรียน เบื่อคนที่อยู่รอบข้าง เบื่อ โลก เบื่อทุกสิ่งทุกอย่าง อยากอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่อยากพูดคุยกับใคร ฉุนเฉียวง่าย หงุดหงิด ง่าย กังวลง่าย ท้อแท้ เบื่ออาหาร รับประประทานอะไรไม่อร่อย ไม่มีรสชาติ น้ำหนักลดลงเร็ว นอนไม่หลับหรือหลับ ๆ ตื่นๆ หรือตื่นดึกๆ แล้วนอนหลับต่อไปไม่ได้ สมาธิความจำเสียไป การฝึกและเคลื่อนไหวช้าลง ทำงานหรือเรียนได้ช้าจนเสียงาน รู้สึกตนเองผิด ไม่มีประโยชน์ ไร้ค่า เบื่อชีวิต และคิดอยากตาย อาการเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วในเวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน อาการที่เบาบางที่สุดคือการฆ่าตัวตาย
คนที่คิดอยากตายหรือมักจะฆ่าตัวตาย มักมีสัญญาณเตือนออกมาให้คนใกล้ชิดรับทราบ
- การบ่นเรื่องอารมณ์เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้
- การพูดถึงชีวิตในทางหมดหวัง เศร้าสร้อย
- การสงสัยในชีวิต เช่น เกิดมาทำไม คนเราทำไมถึงมีความทุกข์
- การบ่นเรื่องเบื่อชีวิต อยากตาย
- การฝากฝังลูกเมียแก่คนอื่น
- การทำพินัยกรรมในเวลาที่ยังไม่สมควร
สัญญาณเตือนเหล่านี้อย่าถือเป็นเรื่องล้อเล่น ควรเอาจริงและสงสัยว่าเขาอาจจะคิดและมีแผนที่จะกระทำจริงๆ
เมื่อสงสัยว่าคนใกล้ตัวคิดอยากตาย ควรพูดคุยสอบถามเขาถึงเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า ถ้ามีอารมณ์ซึมเศร้ามากๆ ก็ควรถามต่อไปถึงเรื่องความรู้สึกต่อตัวเอง ความรู้สึกผิดหรือไร้ค่า รู้สึกเป็นภาระแก่ผู้อื่น รู้สึกเบื่อชีวิตหรือไม่ ถ้ามีความรู้สึกเบื่อชีวิตด้วยก็ควรถามต่อไปว่า ความรู้สึกเบื่อชีวิตนั้นมากจนคิดอยากตายหรือไม่ ถ้าคิดอยากตายคิดถึงขนาดฆ่าตัวตาย หรือเคยวางแผนจะกระทำหรือไม่ และมีอะไรยับยั้งเขาเอาไว้จนเขายังไม่ได้กระทำในขณะนี้
คนทั่วๆ ไปกลัวว่าการถามเรื่องการฆ่าตัวตาย จะเป็นการกระตุ้นหรือชักนำให้ผู้นั้นคิด กระทำ แต่ความจริงแล้ว การถามเรื่องการฆ่าตัวตาย จะช่วยให้ผู้ที่กำลังคิดจะทำอยู่แล้ว ได้ เปิดเผยเรื่องอารมณ์ซึมเศร้า และเรื่องการคิดอยากตาย เมื่อเปิดเผยแล้วความรู้สึกจะดีขึ้นจน ไม่ฆ่าตัวตาย สำหรับคนที่ไม่ได้คิดเรื่องนี้ไม่เป็นการกระตุ้นให้คิดหรือกระทำแต่อย่างใด การสอบถามกันเรื่องนี้ยังสื่อให้ผู้นั้นเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ ที่มีคนสนใจเป็นห่วงใยเอื้ออาทร เกิดความรู้สึกดีต่อสังคมและการมีชีวิตอยู่ต่อไป และเมื่อทราบว่าใครกำลังคิดทำร้ายตัวเอง หรือซึมเศร้ามากๆ ควรพยายามชักจูงให้เขาได้มาพบจิตแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง การรักษาได้ผลดีมาก บางคนหายเป็นปกติกลับไปต่อสู้ชีวิตต่อไปได้ อารมณ์ซึมเศร้ามากๆ มักเกิดจากโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางอารมณ์ชนิดหนึ่งรักษาให้หายได้ด้วยยา และการพูดคุยกัน ไม่ใช่โรคจิตโรคประสาทที่น่ากลัวแต่ประการใด นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลมโนรมย์ได้เขียนบทความวิธีจัดการกับความคิดอยากฆ่าตัวตาย 10 ข้อ ประกอบด้วย
ฝึกปล่อยวางความคิด
หมั่นสังเกตความรู้สึกตนเอง ประคองสติให้อยู่กับปัจจุบัน ปรับความคิดให้ตรงกับความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งไม่ได้เป็นไปตามความอยากหรือต้องการของเรา แต่เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่ บทบาทของตัวเองให้ดีที่สุดตามศักยภาพ ซึ่งช่วยลดความทุกข์ใจลงไปได้มาก
พูดคุยกับคนที่รู้สึกไว้วางใจ
พูดคุยกับเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว เกี่ยวกับความรู้สึกหรือสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีโอกาสระบายความรู้สึก ทำให้ได้รับมุมมองต่อปัญหาหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแตกต่างออกไปจากเดิม และจัดการกับความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั้นได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้น
ระบายความเครียดหรือความไม่สบายใจอย่างเหมาะสม
การเขียนไดอารี่ วาดภาพ หรืออาจใช้งานศิลปะในรูปแบบต่างๆ ที่ถนัดหรือชื่นชอบ มาเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการระบายความรู้สึก
ทำกิจกรรมที่สนใจหรือทำให้มีความสุข
การทำกิจกรรมแล้วให้ความสนใจ ตั้งสมาธิกับกิจกรรมนั้น เพื่อเบี่ยงเบนตัวเองออกจากความเครียดหรือความทุกข์ใจที่รุนแรง
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟินหรือสารแห่งความสุข มีผลทำให้เกิดความสุข สบาย ลดความเครียด หดหู่ และเศร้าได้
จัดตารางชีวิตประจำวัน
พยายามทำตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นที่สามารถเอาชนะใจตนเองได้ การทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตตัวเองนั้น มักให้ผลลัพธ์ที่ดีและคุ้มค่าเสมอ
จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย
ลดสิ่งกระตุ้น นำสิ่งของที่อาจใช้ทำร้ายตัวเองออก เช่น ยาเม็ด มีด หรืออาวุธ หากไม่สามารถบังคับตัวเองได้ ให้พาตัวเองไปในที่ที่รู้สึกปลอดภัย เช่น เมื่อกำลังคิดใช้ยาเกินขนาด อาจป้องกันโดยการให้มีคนช่วยดูแลเรื่องการจัดยา ให้คุณได้รับประทานยาเฉพาะตามแผนการรักษาของแพทย์เท่านั้น
หลีกเลี่ยงสารเสพติดและแอลกอฮอล์
การใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์อาจทำให้ความคิดฆ่าตัวตายรุนแรงขึ้นได้ ซึ่งเกิดจากความวู่วามและความยับยั้งชั่งใจลดลง
ตั้งเป้าหมายส่วนตัว
การตั้งเป้าหมาย เช่น อยากไปเที่ยวในสถานที่ที่ชอบ อยากอ่านหนังสือหรือดูหนังภาคต่อ สิ่งที่อยากทำในอนาคต
วางแผนความปลอดภัยสำหรับตัวเอง
ในช่วงที่เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย ควรมีเบอร์ติดต่อของเพื่อน สมาชิกในครอบครัวที่ช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉิน หรืออาจโทรติดต่อทางโรงพยาบาลเพื่อปรึกษากับแพทย์ พยาบาล หรือนักจิตวิทยา
อ้างอิงจาก:
Are You Feeling Suicidal? จาก HelpGuide
วิธีจัดการกับความคิดอยาก “ฆ่าตัวตาย” จาก โรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์
โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย โดย ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล