ข้อมูลของการสูบบุหรี่ การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดให้โทษผิดกฎหมาย (ได้แก่ กัญชา เมทแอมเฟตามีน เคตามีน ยาอี ป๊อปเปอร์ สารระเหย ฯลฯ) ในกลุ่มคนข้ามเพศยังมีไม่มากเหมือน เช่น ในกลุ่ม LGB (Gay, Lesbian และ Bisexual) แต่มีข้อสังเกตว่ากลุ่มคนข้ามเพศอาจมีอัตราการใช้สารดังกล่าวที่สูงมากกว่ากลุ่ม Heterosexual (คนรักต่างเพศ) ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลของกลุ่ม LGB ที่มีงานวิจัย meta-analysis รองรับว่า LGB มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาจากการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดให้โทษผิดกฎหมาย มากกว่ากลุ่ม Heterosexual ประมาณ 1.5-2 เท่า ทั้งนี้ ในกลุ่มคนข้ามเพศเอง ได้มีรายงานการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้หญิงข้ามเพศมีอัตราการใช้สารเสพติดให้โทษผิดกฎหมาย ประมาณร้อยละ 26.7 การใช้กัญชาร้อยละ 20.2 และมีปัญหาจากการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารอื่นๆ ประมาณร้อยละ 13.7 ซึ่งนับเป็นอัตราการใช้ที่สูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไป
ในประเทศไทย มีหลายการศึกษาที่ทำ การสำรวจกลุ่มคนข้ามเพศในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย โดย Guadamuz และคณะ ได้สำรวจพฤติกรรมของกลุ่มคนข้ามเพศในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และภูเก็ตในปี พ.ศ. 2548 จำนวน 474 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 24 ปี มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 3 เดือนที่ผ่านมาร้อยละ 81 ใช้สารเสพติดให้โทษผิดกฎหมาย และใช้ยานอนหลับแบบผิดวัตถุประสงค์ ร้อยละ 42.6 และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ดร.สุวัฒน์ และคณะ ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมกลุ่มคนข้ามเพศจำนวน 140 คนในจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2551-2552 พบว่ามีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อยู่ร้อยละ 85.3 โดยเป็นผู้ที่ดื่มหนักร้อยละ 13.9 (ดื่มมากกว่า 7 ครั้งต่อสัปดาห์) และมีอัตราการใช้เมทแอมเฟตามีนร้อยละ 10.0 กัญชาร้อยละ 0.7 และเฮโรอีน ร้อยละ 0.7 นอกจากนี้ยังมีรายงานโดยNemoto และคณะ6 ที่ทำการสำ รวจกลุ่มผู้หญิงข้ามเพศที่ทำ งานบริการทางเพศในเขตกรุงเทพมหานครฯ จำนวน 112 คน (อายุเฉลี่ย25ปี) พบว่าภายใน 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คิดเป็นร้อยละ 99.1 ใช้กัญชาร้อยละ 32.1 ใช้ยาอีร้อยละ 35.7 ใช้เคตามีนร้อยละ 19.6 และใช้แอมเฟตามีนร้อยละ 9.8 นอกจากนี้ พบว่าใน 6 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างมีการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มารับบริการถึงร้อยละ 97.3 ใช้ร่วมกับคู่นอน (ที่ไม่ใช่ผู้มารับบริการ) ร้อยละ 98.3 ใช้สารเสพติดให้โทษผิดกฎหมาย ร่วมกับการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มารับบริการร้อยละ 43.2 และใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย ร่วมกับการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนร้อยละ 23.3 ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ทั้งนี้ สารเสพติดให้โทษที่มีข้อมูลว่ามีการใช้ในกลุ่มคนข้ามเพศได้แสดงรายละเอียดในตาราง
สารเสพติดที่มีข้อมูลการใช้ในกลุ่มคนข้ามเพศในประเทศไทย
สารเสพติด | กลไกการออกฤทธิ์ | การรักษาภาวะเสพติด |
นิโคติน (บุหรี่) | มีฤทธิ์กระตุ้น Nicotinic Acetylcholine Receptor ในสมองทำให้เกิดการตื่นตัว สมาธิความจำดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น ก่อให้เกิดภาวะเสพติดได้ง่าย และสารพิษหลายชนิดในบุหรี่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ และทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองได้ | มียารักษา ได้แก่ Varenicline Bupropion และ Nicotine Replacement Therapy ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคม |
แอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์) | มีฤทธิ์กดประสาทออกฤทธิ์ เพิ่มการทำงานของระบบ GABA ทำให้มีสัญญาณประสาทลดลง ก่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ยับยั้งตัวเองได้น้อยลง มีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ ง่วงซึม และหากใช้ในขนาดสูงสามารถกดการหายใจและทำให้เสียชีวิตได้ การใช้เป็นประจำ จะก่อให้เกิดภาวะเสพติด อาการถอนแอลกอฮอล์และโรคมะเร็งชนิดต่างๆ รวมถึงโรคทางกาย เช่น โรคตับอักเสบ หรือตับแข็งได้ | ยาลดอาการถอน เป็นยากลุ่ม Benzodiazepine ยาลดการกลับไปดื่ม คือ Topiramate baclofen และ Disulfiram (ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์) ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคม |
เฮโรอีน | มีฤทธิ์กดประสาท ออกฤทธิ์ต่อตัวรับสัญญาณประเภทโอปิออยด์ทำให้รู้สึกมึนเมา อารมณ์ดีขึ้นเกิดภาวะเสพติดได้ง่าย ลดอาการปวด ง่วงซึมในขนาดสูง สามารถกดการหายใจและทำให้เสียชีวิต หากใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบบีและซีได้ | ยารักษาทั้งอาการถอนและป้องกันการกลับไปใช้ซ้ำ ได้แก่ methadone ร่วมกับการรักษาทางจิตสังคม |
แอมเฟตามีน/ เมทแอมเฟตามีน | มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ออกฤทธิ์เพิ่มการทำงานของระบบสารสื่อประสาท dopamine ทำให้ตื่นตัว เกิดความรู้สึกเป็นสุข เกิดภาวะเสพติดได้ง่ายทางจิตใจอาจเกิดอาการวิตกกังวลอาการระแวง หรืออาจมีอาการหูแว่วประสาทหลอน ในบางรายอาจใช้ร่วมกับการมีเพศสัมพันธ์ทำให้เพิ่มความรู้สึกทางเพศ หากใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบบีและซีได้ | ยังไม่มียาที่ใช้รักษาภาวะเสพติดโดยเฉพาะ การรักษาอาศัยการรักษาทางจิตสังคมเป็นหลัก เช่นการสัมภาษณ์ สร้างแรงจูงใจให้เลิกสาร การทำ จิตบำ บัดเชิงความคิดและพฤติกรรม การให้รางวัลเป็นแรงเสริมในการเลิกเสพ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือชุมชนบำบัด |
ยาอี | มีฤทธิ์กระตุ้นและหลอนประสาท ออกฤทธิ์เพิ่มการทำ งานของระบบสารสื่อประสาท dopamine และ serotonin ทำให้ตื่นตัวเกิดความรู้สึกเคลิ้มสุขมีประสาทสัมผัสผิดเพี้ยนไปจากเดิมอาจเกิดอาการวิตกกังวล อาการระแวง หูแว่ว หรือประสาทหลอนได้ | ยังไม่มียาที่ใช้รักษาภาวะเสพติดโดยเฉพาะ การรักษาอาศัยการรักษาทางจิตสังคมเป็นหลัก เช่นการสัมภาษณ์ สร้างแรงจูงใจให้เลิกสาร การทำ จิตบำ บัดเชิงความคิดและพฤติกรรม การให้รางวัลเป็นแรงเสริมในการเลิกเสพ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือชุมชนบำบัด |
เคตามีน/ยาเค | ออกฤทธิ์ต่อตัวรับสัญญาณ NMDA ทำให้เกิดภาวะหลุดลอย (dissociativestate) รู้สึกอารมณ์ดีขึ้น เห็นภาพซ้อน เกิดความรู้สึกเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายและมีประสาทสัมผัสการมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป มีฤทธิ์เสพติด ผลข้างเคียงคืออาจเกิดตับอักเสบ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ | ยังไม่มียาที่ใช้รักษาภาวะเสพติดโดยเฉพาะ การรักษาอาศัยการรักษาทางจิตสังคมเป็นหลัก เช่นการสัมภาษณ์ สร้างแรงจูงใจให้เลิกสาร การทำ จิตบำ บัดเชิงความคิดและพฤติกรรม การให้รางวัลเป็นแรงเสริมในการเลิกเสพ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือชุมชนบำบัด |
ป๊อปเปอร์ | เป็นสารระเหยประเภท nitrite ออกฤทธิ์เป็นสารที่ขยายหลอดเลือด ทำให้เกิดความรู้สึกร้อนผ่าวขึ้นบริเวณหน้าและศีรษะ อาจเพิ่มอารมณ์ทางเพศได้อาจเกิดปัญหาต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ หากใช้เป็นระยะเวลานาน | ยังไม่มียาที่ใช้รักษาภาวะเสพติดโดยเฉพาะ การรักษาอาศัยการรักษาทางจิตสังคมเป็นหลัก เช่นการสัมภาษณ์ สร้างแรงจูงใจให้เลิกสาร การทำ จิตบำ บัดเชิงความคิดและพฤติกรรม การให้รางวัลเป็นแรงเสริมในการเลิกเสพ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือชุมชนบำบัด |
กัญชา | มีฤทธิ์กดประสาท ออกฤทธิ์ต่อตัวรับสัญญาณประเภทโอปิออยด์ ทำให้รู้สึกมึนเมา อารมณ์ดีขึ้น เกิดภาวะเสพติดได้ง่าย ลดอาการปวด ง่วงซึมในขนาดสูง สามารถกดการหายใจและทำให้เสียชีวิต หากใช้วิธีฉีดเข้าหลอดเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบบีและซีได้ | ยังไม่มียาที่ใช้รักษาภาวะเสพติดโดยเฉพาะ การรักษาอาศัยการรักษาทางจิตสังคมเป็นหลัก เช่นการสัมภาษณ์ สร้างแรงจูงใจให้เลิกสาร การทำ จิตบำ บัดเชิงความคิดและพฤติกรรม การให้รางวัลเป็นแรงเสริมในการเลิกเสพ การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหรือชุมชนบำบัด |
ยานอนหลับ | เป็นสารกดประสาทคล้ายแอลกอฮอล์ ทำให้ง่วงซึม นอนหลับ อาจเกิดอาการมึนเมา และมีการตัดสินใจบกพร่องหากใช้ร่วมกับสารกดประสาทอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการกดการหายใจและเสียชีวิตได้ | ใช้รักษา โดยอาจใช้ยาที่มีฤทธิ์ง่วงทดแทนในช่วงแรก |
ปริมาณของการดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติดให้โทษผิดกฎหมายที่สูงในกลุ่มคนข้ามเพศสามารถอธิบายได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น การใช้สารเหล่านี้อาจมีประโยชน์บางประการต่อตัวผู้ใช้ เช่น ช่วยบรรเทาภาวะเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้าที่อาจเกิดในชีวิตประจำวัน หรือลดความเครียดที่เกิดจากการเหยียดเพศ หรืออาจเป็นเพราะการใช้สารเหล่านี้เป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้เพื่อเข้าสังคมกับบุคคลอื่นในกลุ่มคนข้ามเพศด้วยกัน ในทางกลับกัน การใช้สารเสพติดเหล่านี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงหรืออันตรายเกิดขึ้น โดยที่ผู้ใช้ไม่ได้คาดคิด เช่น ภาวะเสพติด (สูญเสียความสามารถในการควบคุมการใช้สารของตนเอง) มีอาการดื้อยา (ต้องใช้ขนาดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม) มีอาการถอนยาเวลาหยุดใช้ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดปัญหาในหน้าที่การงาน การเรียน ความสัมพันธ์และปัญหาในเรื่องกฎหมายตามมาได้
ผลของการใช้สารเสพติดต่อการผ่าตัดแปลงเพศ
การใช้สารเสพติดเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่อาจเป็นอุปสรรคหรือเหตุในการระงับการผ่าตัดแปลงเพศได้ เนื่องจากก่อนผ่าตัดศัลยแพทย์มักจะต้องส่งผู้ที่ต้องการผ่าตัดมาประเมินทางจิตวิทยา ซึ่งจะได้รับการประเมินปริมาณการใช้แอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดด้วย ถ้าหากตรวจพบว่าผู้ที่จะเข้าผ่าตัดมีการใช้สารเสพติด อาจทำให้ถูกระงับการผ่าตัดไว้ก่อนได้ เนื่องจากระหว่างพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอาจมีอาการถอนยาหรือมีอาการอยากเสพยาได้
โดยทั่วไปแพทย์มักจะแนะนำให้รักษาการติดสารเสพติดให้สามารถควบคุมได้ดีก่อน จึงจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ นอกจากนี้ สารเสพติดบางประเภทอาจส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวหลังผ่าตัดเช่นสารพิษในบุหรี่ เป็นต้น การใช้สารกระตุ้นประสาท กลุ่มเมทแอมเฟตามีน อาจทำให้เกิดปัญหาต่อหลอดเลือดซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการหายของบาดแผลตามมาได้เช่นกัน นอกจากนี้ ประวัติเคยใช้สารเสพติดอาจสร้างตราบาปต่อตัวผู้ใช้ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้ารักษาพยาบาล เนื่องจากผู้ใช้สารอาจเกรงกลัวประเด็นในทางกฎหมาย หรือการถูกแบ่งแยกกีดกันที่ได้รับจากบุคลากรทางการแพทย์
การคัดกรองการใช้สารเสพติดเบื้องต้น
การคัดกรองการใช้สารเสพติดสามารถดำเนินการได้ 2 วิธี วิธีแรกใช้ในกรณีที่ผู้ให้บริการต้องการคัดกรองเฉพาะสารที่พบบ่อยในกลุ่มประชากรที่ใช้สารเสพติดไม่มากชนิด อาจสามารถใช้แบบประเมินแยกสารเสพติดในแต่ละชนิดได้ เช่น แบบประเมิน Fagerstrom Test for Nicotine Dependence (FTND) สำหรับการประเมินระดับการติดบุหรี่ แบบประเมิน Alcohol Use Disorder Identification Test (AUDIT) สำหรับการประเมินความเสี่ยงจากการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น สำหรับวิธีที่สองใช้ในกรณีที่ผู้ให้บริการสนใจคัดกรองการใช้สารเสพติดโดยรวมซึ่งจากการศึกษาทางระบาดวิทยาในกลุ่มคนข้ามเพศ พบว่าประชากรกลุ่มนี้ มีโอกาสใช้สารเสพติดพร้อมกันหลากหลายชนิด ดังนั้น การใช้แบบคัดกรอง The Alcohol Smoking and Substance Involvement Screening
Test (ASSIST) ที่สามารถคัดกรองการใช้สารได้หลายตัวพร้อมกัน จึงมีความเหมาะสมมากกว่าในประชากรกลุ่มนี้
แบบคัดกรอง ASSIST เป็นวิธีการที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคณะทำงานจากหลากหลายประเทศขององค์การอนามัยโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นแบบสอบถามที่ใช้ง่าย ใช้เวลาในการตอบไม่มาก (5-10 นาที) สามารถนำไปใช้ในสถานพยาบาลปฐมภูมิ เพื่อประเมินความเสี่ยงและผลกระทบจากการใช้สารเสพติดได้สะดวก นอกจากนี้ ASSIST ยังได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในบริบทของวัฒนธรรมที่หลากหลายและสามารถคัดกรองการใช้สารเสพติดได้หลายชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (บุหรี่, ยาเส้น, ซิการ์, ไปป์), เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ, กัญชา, โคเคน, สารกระตุ้นประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน (เมทแอมเฟตามีน และแอมเฟตามีน), ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ, สารหลอนประสาท, สารระเหย (เช่น กาว, ตัวทำ ละลาย รวมถึงป็อปเปอร์), สารกลุ่มโอปิออยด์ (เฮโรอีน, ฝิ่น, ทรามาดอล) และสารเสพติดอื่นๆ อีกหลายชนิด ผลการคัดกรอง ASSIST สามารถบอกค่าเป็นคะแนนระดับความเสี่ยงในการใช้สารเสพติดชนิดต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาพูดคุยกับผู้รับบริการ และกำหนดแนวทางปฏิบัติต่อไปหลังจากประเมินระดับความเสี่ยงแล้ว เช่น การให้การบำบัดแบบสั้น หรือส่งต่อผู้เชี่ยวชาญด้านสารเสพติดเพื่อการประเมินและบำบัดรักษาต่อไป
แบบคัดกรอง ASSIST จะช่วยให้สถานพยาบาลทราบถึงข้อมูล เกี่ยวกับการใช้สารเสพติดของผู้รับบริการในช่วงชีวิตที่ผ่านมา รวมทั้งพฤติกรรมการใช้สารในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังสามารถแสดงให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเสพติดในช่วงต่างๆ เช่น อาการเป็นพิษ, การเมาสาร, ปัญหาความสัมพันธ์และการใช้ชีวิต รวมทั้งพฤติกรรมการใช้สารแบบฉีดเข้าหลอดเลือด ทั้งนี้แบบคัดกรอง ASSIST ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และได้รับการตรวจสอบความเที่ยงตรงแล้ว ประกอบไปด้วยคำถาม 8 ข้อ ดังแสดงในตารางนี้
ข้อที่ | วัตถุประสงค์ | ตัวอย่างคำถาม |
1 | เพื่อถามเกี่ยวกับชนิดของสารเสพติดที่เคยใช้ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา | ในชีวิตของคุณ คุณเคยใช้สารเสพติด ต่อไปนี้หรือไม่ (นอกเหนือจากแพทย์สั่ง) |
2 | เพื่อถามเกี่ยวกับความถี่ของการใช้สารเสพติดในช่วงเร็วๆ นี้ | ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา คุณใช้ … บ่อยเพียงใด |
3 | เพื่อถามเกี่ยวกับความถี่ของความต้องการ หรืออาการอยากเสพสารอย่างรุนแรงในช่วงเร็วๆ นี้ | ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา คุณเคยรู้สึกอยากที่จะใช้ … อย่างรุนแรง บ่อยเพียงใด |
4 | เพื่อถามเกี่ยวกับความถี่ของปัญหาด้านต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการใช้สารเสพติดที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ | ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา การใช้ … ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ครอบครัว สังคม กฎหมาย หรือการเงินกับคุณบ่อยเพียงใด |
5 | เพื่อถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อหน้าที่การงาน หรือบทบาทในชีวิตจากการใช้สารเสพติดที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ | ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา คุณไม่สามารถทำกิจกรรมที่คุณควรจะทำได้ตามปกติ เนื่องจากคุณใช้ … บ่อยเพียงใด |
6 | เพื่อถามเกี่ยวกับการการที่คนอื่นสังเกตเห็นว่า ผู้ใช้สารอาจเริ่มมีปัญหาจากการใช้สารเสพติด ผ่านการทักหรือแสดงความเป็นห่วง | เพื่อนฝูง ญาติ หรือคนอื่นเคยแสดงความกังวลหรือตักเตือนคุณเกี่ยวกับการใช้ … ของคุณหรือไม่ |
7 | เพื่อถามถึงความพยายามที่ผู้ใช้สารจะลด หรือหยุดใช้สารแต่ไม่สำเร็จในช่วงเร็วๆ นี้ หรือช่วงหลายเดือนก่อนหน้า | คุณเคยพยายามหยุดหรือใช้ … ให้น้อยลงแต่ทำไม่สำเร็จหรือไม่ |
8 | เพื่อถามถึงการใช้สารเสพติดชนิดฉีด ซึ่งจะเพิ่มความอันตรายในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ หรือช่วงหลายเดือนก่อนหน้า | คุณเคยใช้สารเสพติดใดๆ โดยการฉีดหรือไม่(นอกเหนือจากแพทย์สั่ง) |
เมื่อรวมคะแนนจากคำถามทั้งหมดจะได้คะแนนออกมาเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ระดับความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจากการใช้สารในระดับต่ำ ปานกลาง และสูง ซึ่งจะมีช่วงคะแนนที่ต่างกันระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารอื่นๆ ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงต่ำ สามารถแนะนำให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสารเสพติดได้ โดยไม่ต้องให้การบำบัด แต่หากพบว่ามีความเสี่ยงปานกลางให้การบำบัดแบบสั้น และหากพบมีความเสี่ยงสูง หรือมีการใช้สารฉีดทางหลอดเลือดในเร็วๆ นี้แนะนำให้ส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการประเมินและบำบัดอย่างเข้มข้นต่อไป โดยสถานที่ส่งต่อควรมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่สามารถบำบัดรักษาปัญหาจากการใช้สารเสพติดได้ ผลคะแนนและแนวทางการดูแลช่วยเหลือแสดงในตาราง
ระดับความเสี่ยงของการใช้สารเสพติดแต่ละชนิดและวิธีการดูแลช่วยเหลือหลังประเมิน
ข้อที่ | คะแนน | ||
ความเสี่ยงต่ำ | ความเสี่ยงปานกลาง | ความเสี่ยงสูง* | |
ผลิตภัณฑ์ยาสูบ | 0-3 | 4-26 | 27+ |
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ | 0-10 | 11-26 | 27+ |
กัญชา | 0-3 | 4-26 | 27+ |
โคเคน | 0-3 | 4-26 | 27+ |
ยากระตุ้นประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน | 0-3 | 4-26 | 27+ |
สารระเหย | 0-3 | 4-26 | 27+ |
ยากล่อมประสาทหรือยานอนหลับ | 0-3 | 4-26 | 27+ |
ยาหลอนประสาท | 0-3 | 4-26 | 27+ |
สารกลุ่มฝิ่น(โอปิออยด์) | 0-3 | 4-26 | 27+ |
สารเสพติดอื่นๆ ระบุ........................ | 0-3 | 4-26 | 27+ |
วิธีการดูแลช่วยเหลือหลังประเมิน | ให้ความรู้ที่ถูกต้อง | ให้การบำบัดแบบสั้น | ส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ |
**หากมีการใช้สารเสพติดแบบฉีดเข้าหลอดเลือดจะมีความเสี่ยงระดับสูง แนะนำให้ส่งต่อผู้เชี่ยวชาญและตรวจหาการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อทางเลือด เช่น เอชไอวี หรือไวรัสตับอักเสบบี และซี
การบำบัดแบบสั้น
การบำบัดแบบสั้นหรือ Brief Intervention (BI) เป็นรูปแบบการให้คำปรึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติดให้มีความเสี่ยงน้อยลง โดยทั่วไปการบำบัดแบบ BI จะใช้เวลาเพียง 3-15 นาทีหลังจากทำ แบบประเมิน ASSIST และจะทำเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางขึ้นไป ซึ่ง BI ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดความถี่ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และมีประสิทธิภาพในการลดการใช้กัญชาสารกลุ่มโอปิออยด์ และสารกระตุ้นประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน ทั้งนี้หลักการของ BI แสดงในตาราง
แสดงขั้นตอน วัตถุประสงค์ และตัวอย่างประโยคที่ใช้ในการทำบำบัดแบบสั้น (BI)
ขั้นตอน | วัตถุประสงค์ | ตัวอย่างประโยคของขั้นตอน |
1.Asking | เพื่อสอบถามความสมัครใจในการรับคะแนนเพื่อเพิ่ม Sense of Control และลด Resistance | “อยากทราบคะแนนจากแบบสอบถาม (ASSIST) ไหมครับ/คะ” |
2.Feedback | เพื่อให้ข้อมูลคะแนนเฉพาะตัวของสารแต่ละตัวโดยใช้บัตรรายงานผลของASSIST โดยแจ้งความเสี่ยงของการใช้สารที่อาจเกิดขึ้น | “นี่เป็นคะแนนความเสี่ยงของคุณในสารแต่ละชนิด โดยคุณมีความเสี่ยงในการใช้......ในระดับ...... ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการ......ทั้งตอนนี้ หรือในอนาคตได้” |
3.Advice | เพื่อให้คำ แนะนำอย่างเป็นกลางถึงวิธีที่จะลดอันตรายหรือความเสี่ยงจากการใช้สาร | “วิธีที่ดีที่สุดที่จะลดอันตราย/ความเสี่ยง คือลดหรือเลิกใช้สาร” |
4.Responsibility | ให้ผู้เข้ารับการประเมินได้รับผิดชอบตัดสินใจทางเลือกด้วยตนเองอย่างเต็มที่ | “ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณจะตัดสินใจอย่างไร ผม/ดิฉันเพียงแค่แจ้งข้อมูล” |
5.Concerned I | เพื่อสอบถามความกังวลหลังได้รับ feedback | “รู้สึกอย่างไรบ้างครับ/คะ กังวลไหมครับ/คะ” |
6.Goodthings | เพื่อสอบถามประโยชน์ของการใช้สาร | “ข้อดีหรือประโยชน์ในการใช้...... มีอะไรบ้างครับ/คะ” |
7.Lessgoodthings | พื่อสอบถามโทษที่อาจเกิดจากการใช้สารแล้วนำมาชั่งน้ำหนักกับประโยชน์จากการใช้สาร | “ข้อเสียหรือสิ่งที่ไม่ค่อยดีในการใช้…มีอะไรบ้างครับ/คะ” |
8.Summarize and reflect | เพื่อสรุปและเปรียบเทียบโทษกับประโยชน์จากการใช้สารว่าคุ้มหรือไม่ที่จะใช้สารต่อไป โดยให้เน้นโทษ หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น | “ขอผม/ดิฉันสรุปข้อมูลนะครับ/คะ คุณชอบใช้… เพราะ … แต่ขณะเดียวกันมันก็มีข้อเสียคือ… ผม/ดิฉันเข้าใจถูกไหมครับ/คะ” |
9.Concerned II | เพื่อสอบถามความกังวลในการใช้สารอีกครั้ง | “ดูคุณก็กังวลต่อการใช้......” |
10.Take-home materials | เพื่อให้เอกสาร หรือคู่มือกลับบ้านไป เพื่ออ่าน และคิดทบทวนเกี่ยวกับความเสี่ยงจะเกิดขึ้น | “ผม/ดิฉันจะให้เอกสารเกี่ยวกับความเสี่ยงหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสารกลับไปอ่านนะครับ/คะ” |
ทั้งนี้การใช้แบบประเมิน ASSIST และการทำ BI ผู้สัมภาษณ์ควรจะมีท่าทีเป็นกลาง ถามคำถามเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของการใช้สารดังกล่าวและปัญหาที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่ผู้รับบริการมีความกังวล ไม่ควรโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการชักชวนให้เลิกสารซ้ำๆ หรือกล่าวตำหนิผู้รับบริการที่ยังใช้สารอยู่หรือยังเลิกหรือลดสารไม่ได้ ไม่ควรมีการตัดสินถูกผิด ควรแสดงความเห็นใจถึงปัญหาที่ผู้ใช้สารกำลังเผชิญอยู่ และเก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้รับบริการอย่างเคร่งครัด โดยอาจแจ้งให้ทราบก่อนว่าข้อมูลจากการประเมินจะถูกเก็บเป็นความลับ เพื่อให้ผู้รับบริการสบายใจมากขึ้นที่จะตอบคำถามตามความเป็นจริง จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปเป็นคำแนะนำในการคัดกรองและประเมินการใช้สารเสพติดเบื้องต้นสำหรับหน่วยบริการทางสาธารณสุขในกลุ่มคนข้ามเพศดังนี้
- ควรมีการคัดกรองและให้ความรู้เกี่ยวกับการสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดให้โทษ ผิดกฎหมายในกลุ่มคนข้ามเพศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการใช้สารเสพติดที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ เช่น กลุ่มผู้ที่ร่วมกับเอชไอวีหรือมาตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นต้น
- ควรมีการคัดกรองและให้ความรู้เกี่ยวกับการสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดให้โทษผิดกฎหมายในกลุ่มคนข้ามเพศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการใช้สารเสพติดที่อยู่ในชุมชน เช่น กลุ่มที่ทำงานบริการทางเพศ หรือทำงานกลางคืน เป็นต้น
- อาจใช้แบบคัดกรอง ASSIST ฉบับภาษาไทย เพื่อคัดกรองผู้ที่มีปัญหาจากการสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย รวมทั้งให้การบำบัดแบบสั้นต่อในกรณีที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาจากการใช้สารระดับปานกลางขึ้นไป และส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดปัญหาจากสารเสพติดต่อ ในกรณีที่มีความเสี่ยงระดับสูงหรือมีการใช้สารเสพติดแบบฉีดเข้าหลอดเลือด
มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด
มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดหรือ Harm Reduction หมายถึง นโยบาย, โปรแกรม หรือการรักษาที่มุ่งเน้นไปที่การลดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ, เศรษฐกิจ และสังคมของพฤติกรรมการใช้สารเสพติด ที่มีต่อบุคคล, ชุมชน และสังคม มาตรการนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 1960-1970 โดยในระยะแรกมีเป้าหมายเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสตับอักเสบ และเอชไอวีในผู้ใช้เฮโรอีนแบบฉีดเข้าหลอดเลือด มาตรการที่มีการนำมาใช้ในระยะแรก ได้แก่ การจัดบริการเข็มและอุปกรณ์สะอาด (Needle-Syringe Program: NSP) และการจัดบริการเมธาโดนระยะยาว (Methadone MaintenanceTherapy: MMT) ในปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการที่แสดงให้เห็นว่ามาตรการ Harm Reduction สามารถลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบ ป้องกันการเกิดการเสพยาเกินขนาด ตลอดจนเพิ่มการเข้าถึงและการคงอยู่ต่อการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการ Harm Reduction นั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดมากกว่ามุ่งหวังที่จะให้ผู้เสพหยุดการใช้สารอย่างเด็ดขาด โดยหลักการของการวางมาตรการนั้นมุ่งเคารพความเป็นปัจเจกบุคคลของผู้เสพ เคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์มุ่งเน้นที่อันตรายของการใช้สารเสพติด และมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม
มาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดนี้ ควรถูกผนวกเข้าเป็นองค์ประกอบของโปรแกรมการรักษา แม้ว่าบางมาตรการจะใช้เป็นทางเลือก สำหรับผู้ใช้สารเสพติดที่ยังไม่พร้อมเลิกสารก็ตามทั้งนี้เพื่อเป็นการยืดหยุ่นวิธีการรักษาโดยยึดความพร้อมของผู้เข้ารับการบำบัดเป็นศูนย์กลาง
ความสำคัญของปัญหาสารเสพติดและมาตรการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดในกลุ่มคนข้ามเพศ
จากรายงานของ Substance Abuse and Mental Health Services Administration (SAMHSA)17 ในปี ค.ศ. 2014 พบว่าอุบัติการณ์ของ Substance Use Disorder (SUD) ในกลุ่มประชากรทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 8.4 ในขณะที่ในกลุ่มคนข้ามเพศนั้นมีอุบัติการณ์ที่สูงกว่าคือร้อยละ 25-28 โดย SUD นั้นมีความสัมพันธ์ กับการติดเชื้อเอชไอวีพบว่าการใช้สารเสพติดนั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ผ่านทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันรวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย
การศึกษาอีกฉบับในประเทศสหรัฐอเมริกา ยังพบว่ากลุ่มผู้หญิงข้ามเพศนั้นมีความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่ากลุ่มผู้ชายข้ามเพศ ประเด็นนี้อาจแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มหญิงและชายข้ามเพศอันอาจส่งผลถึงการวางนโยบาย เพื่อป้องกันหรือลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดที่อาจจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างเพศด้วย ในประเทศไทยนั้นจากการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่พบว่า สารเสพติดที่พบการใช้มากในกลุ่มคนข้ามเพศ คือ แอลกอฮอล์ และเมทแอมเฟตามีน ส่วนเฮโรอีนนั้นพบการใช้ในอัตราส่วนที่น้อยกว่า โดยเนื้อหาของคู่มือแนวทางการบริการสุขภาพบทนี้ จะแสดงถึงมาตรการลดอันตรายที่สามารถนำไปใช้ในกลุ่มคนข้ามเพศ โดยจะแบ่งเป็นข้อแนะนำสำหรับผู้ให้บริการทางสาธารณสุข มาตรการลดอันตรายทั่วไป และมาตรการลดอันตรายสำหรับผู้ใช้สารเสพติดแบบฉีดเข้าหลอดเลือด รวมทั้งสถานการณ์ของมาตรการ Harm Reduction ในประเทศไทย
ข้อแนะนำสำหรับผู้ให้บริการสาธารณสุข
การออกแบบมาตรการ Harm Reduction ที่จำเพาะในแต่ละบุคคล ควรคำนึงถึงปัจจัยของผู้รับบริการในด้านต่างๆ ได้แก่ ชนิดของสารเสพติดที่ใช้, วิธีการใช้สาร และแบบแผนการใช้สาร โดยขั้นตอนในการดำเนินการอาจปฏิบัติได้ดังต่อไปนี้
- ผู้ให้บริการควรตระหนักและเข้าใจถึงอันตรายของกับสารเสพติดทุกชนิดที่ผู้เสพใช้
- ประเมินอันตรายและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้สาร โดยการวิเคราะห์ Pattern of Drug Use ด้วยหลักการ 6Ws อันประกอบด้วย When, Where, Why, With/From, Whom, What happened เนื่องจากปริมาณการใช้สาร ตลอดจนการใช้สารที่ต่างกันจะมีผลต่อสุขภาพที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด อาจทำให้เกิดบาดแผลเปิด การบาดเจ็บของหลอดเลือด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้เข็มร่วมกัน
- ประเมินและให้ข้อมูลสะท้อนกลับแก่ผู้ใช้สารเกี่ยวกับพฤติกรรมที่อาจนำ ไปสู่อันตรายจากการใช้สาร โดยอาจให้ความรู้ด้านผลกระทบเชิงลบ ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
- ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ให้การบำบัดและผู้ใช้สารในการร่วมค้นหาวิธีการลดอันตราย และระบุปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น
- สนับสนุนให้ผู้ใช้สารระบุเป้าหมายของตนเองเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดตลอดจนพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องและวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้ไปถึงเป้าหมาย
- ติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้สาร ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในด้านบวก รวมไปถึงช่วยเหลือในการจัดการกับความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลง
มาตรการลดอันตรายทั่วไป
มาตรการการให้ความรู้
ขั้นตอนแรกของมาตรการลดอันตราย คือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลของสารและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สาร ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่สามารถลดความเสี่ยงการให้ความรู้ควรประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสารเสพติด ทั้งในด้านสุขภาพและจิตสังคมความเสี่ยงของการใช้สารเกินขนาด โรคติดเชื้อ โรคทางจิตเวช การให้ความรู้ควรทำ ร่วมกับการรักษาร่วมอื่นๆ เช่น การบำบัดแบบสั้น โดยอาจจะทำในลักษณะตัวต่อตัวหรือทำเป็นกลุ่ม และอาจจะทำในสถานพยาบาลหรือทำในสถานที่อื่นๆ ก็ได้
ในกลุ่มคนข้ามเพศที่ทำงานบริการทางเพศในประเทศไทยนั้น จากการศึกษาพบว่า มีการใช้สารเสพติดผิดกฎหมายร่วมกับการมีเพศสัมพันธ์ มากถึงร้อยละ 43.26 ดังนั้น ในการให้ความรู้อาจจะเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย วิธีการลดความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลของการมึนเมาสารเสพติด สำหรับกลุ่มที่เข้าถึงการรักษา อาจให้ความรู้ในสถานพยาบาล ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้เข้าถึงระบบสุขภาพ อาจให้บริการเชิงรุกในชุมชน หรือในสถานที่ปฏิบัติงานจริงของผู้รับบริการก็ได้
การบำบัดแบบสั้นและการให้คำปรึกษา
การบำบัดแบบสั้น จะเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยง โดยอาจผสมผสานหลักการของการบำบัดความคิด และการสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
มาตรการลดการบาดเจ็บและภาวะอันตราย
การใช้สารเสพติดบางชนิด เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความสัมพันธ์กับการได้รับบาดเจ็บความรุนแรง และปัญหาสังคมมาตรการในเชิงนโยบายที่สามารถลดความรุนแรง จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การควบคุมการจำหน่าย ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับที่เคร่งครัดนั้น ได้รับการศึกษาวิจัยแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการลดอันตรายได้
มาตรการป้องกันผลของการใช้สารกระตุ้นประสาท
การศึกษาในเรื่องมาตรการลดอันตรายในสารกลุ่มกระตุ้นประสาทนั้น มีน้อยกว่ากลุ่มโอปิออยด์มาก โดยมาตรการลดอันตรายในกลุ่มสารกระตุ้นประสาทนั้นมุ่งเน้นดูแลภาวะวิกฤตฉุกเฉินทางกายและทางจิต (ความรุนแรง, การทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น, การฆ่าตัวตาย รวมถึงฆาตรกรรม)
สำหรับมาตรการลดอันตรายของสารกระตุ้นประสาทในบริบทของคนข้ามเพศนั้น ยังไม่พบว่ามีการจัดโปรแกรมมาตรการลดอันตรายที่จำเพาะเจาะจงสำหรับในกลุ่มคนข้ามเพศ แต่พบว่ามีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับมาตรการลดอันตรายสำหรับกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย (MSM) วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือ การเพิ่มการเข้าถึงบริการของกลุ่ม MSM ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการในช่วงเวลาปกติได้โดยจัดให้มีการให้บริการหน่วยเคลื่อนที่ในช่วงเวลากลางคืน มาตรการที่ใช้ประกอบไปด้วยการจัดบริการเข็มและอุปกรณ์สะอาด (NSP), การให้ความรู้และการให้คำปรึกษา, การตรวจเอชไอวีด้วยชุดตรวจแบบเก็บตัวอย่างในช่องปาก และการตรวจปัสสาวะเพื่อหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
มาตรการลดอันตรายสำหรับผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด
แนวทางการลดอันตรายสำหรับผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด แบ่งเป็น 8 องค์ประกอบ ดังนี้
การจัดบริการเข็มและอุปกรณ์สะอาด
มาตรการนี้สามารถลดอุบัติการณ์ของการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีและโรคที่ติดต่อทางเลือดอื่นๆ โดยการลดการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันระหว่างผู้ที่ใช้สารเสพติด โดย NSP ที่ดีนั้นควรจะมีบริการให้ข้อมูลตลอดจนอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการต่างๆ อันประกอบไปด้วย การรักษาภาวะติดสารเสพติด การบริการด้านสุขภาพกาย รวมไปถึงบริการทางกฎหมายและสังคม นอกเหนือไปจากการให้บริการเข็มฉีดยาและอุปกรณ์ที่สะอาดแล้ว อาจจะประกอบด้วยกิจกรรมอื่นๆ อีกดังต่อไปนี้
- ให้บริการอุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดที่ปราศจากเชื้อ
- ให้ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดเข็มฉีดยาและอุปกรณ์ฉีดยาที่ใช้แล้ว
- ให้ข้อมูลและคำแนะนำ เกี่ยวกับวิธีการฉีดสารเสพติดให้ปลอดภัย
- ให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของการติดเชื้อจากการใช้ยาเสพติดแบบฉีด
โดยทั่วไปแล้วการให้บริการเข็มและอุปกรณ์สะอาดนั้นมักจะทำในผู้ติดสารกลุ่มโอปิออยด์เป็นหลัก แต่สำหรับกรณีของกลุ่มคนข้ามเพศนั้นพบว่า มีการใช้สารกลุ่มเมทแอมเฟตามีนมากกว่า ซึ่งพฤติกรรมการฉีดสารเมทแอมเฟตามีนนั้นจะแตกต่างจากการฉีดโอปิออยด์ตรงที่การฉีดเมทแอมเฟตามีนนั้น ผู้เสพจะฉีดสารถี่กว่า ซึ่งย่อมจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคติดต่อได้มากกว่าเช่นกัน รวมทั้งยังต้องการปริมาณเข็มฉีดยาที่มากกว่าด้วย นอกจากนี้ การให้บริการเข็มและอุปกรณ์สะอาดยังรวมถึงการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ ซึ่งสามารถใช้ในรูปแบบการฉีดเข้ากล้ามได้เช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดให้มีบริการเข็มและอุปกรณ์สะอาดที่ครอบคลุมการใช้สารและฮอร์โมนชนิดฉีดเหล่านี้ด้วย
การจัดบริการให้สารทดแทนสารเสพติดกลุ่มโอปิออยด์
มีการศึกษาพบว่าการรักษาด้วย OST ซึ่งได้แก่ Methadone หรือ Buprenorphine Maintenance Therapy สามารถลดการใช้เฮโรอีนลงได้นอกจากนี้ OST สามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดแบบฉีดเพิ่มความต่อเนื่องของการรับประทานยาต้านไวรัส และยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการใช้โอปิออยด์เกินขนาดได้
สำหรับในประเทศไทยนั้นมีบริการ Methadone สำหรับผู้ใช้สารเสพติดกลุ่มโอปิออยด์ ที่ยังไม่สามารถหยุดการใช้สารได้ ส่วนในกรณีของคนข้ามเพศนั้น เนื่องจากการใช้สารกลุ่มโอปิออยด์ยังไม่สูงเมื่อเทียบกับสารอื่นๆ จึงยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพในการลดอันตรายในประชากรกลุ่มนี้ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศที่ติดสารเสพติดกลุ่มโอปิออยด์ และยังไม่สามารถหยุดการใช้สารได้และมีข้อบ่งชี้ในการใช้บริการ OST ผู้ให้บริการทางการแพทย์ควรให้คำแนะนำเรื่อง OST และตัดสินใจร่วมกัน
การป้องกันการใช้สารเสพติดเกินขนาด
Naloxone คือยาที่ใช้ในการรักษาภาวะการใช้โอปิออยด์เกินขนาด ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้มีคำแนะนำ ว่า บุคคลที่มีโอกาสที่จะพบเห็นการเกิดภาวะการใช้สารเสพติดเกินขนาด ควรที่จะสามารถเข้าถึง Naloxone และควรจะได้รับการฝึกฝนที่จะใช้ Naloxone ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ในประเทศไทยนั้น Naloxone สามารถสั่งจ่ายได้เฉพาะจากบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ต่างกับประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งได้เริ่มมีการให้บริการนี้แล้ว
เนื่องจากในประเทศไทยนั้น ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการให้บริการ Naloxone ดังนั้นมาตรการที่อาจจะนำมาใช้ได้คือ การใช้การเรียนรู้แบบเพื่อนสอนเพื่อน เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล และการกู้ชีวิตเบื้องต้น ตลอดจนส่งเสริมให้คนใกล้ชิด ขอความช่วยเหลือ และเรียกรถพยาบาลได้ทันที หากสงสัยว่าเกิดภาวะการใช้สารเสพติดเกินขนาด
การให้คำปรึกษาและตรวจหาเชื้อเอชไอวี
การให้คำปรึกษาและตรวจหาเชื้อเอชไอวี ถือเป็นขั้นแรกของการเข้าถึงการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นในบางกรณีอาจจะต้องมีการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน เนื่องจากกลุ่มผู้เสพสารเสพติด อาจจะไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการในสถานพยาบาลได้ทุกคน นอกจากนี้ การให้บริการการตรวจคัดกรองเอชไอวี ควรเชื่อมโยงกับการรักษาสำหรับผู้ที่ตรวจพบผลเลือดเป็นบวก ยิ่งไปกว่านั้นควรให้คำปรึกษา และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีร่วมไปด้วย
การแนะนำให้ใช้สารเสพติดในช่องทางอื่น ที่ไม่ใช้การฉีดเข้าหลอดเลือด
เป้าหมายคือ ลดการเริ่มใช้สารเสพติดโดยวิธีการฉีดเข้าหลอดเลือด ในกลุ่มผู้ใช้สารเสพติดที่ไม่เคยใช้แบบฉีดเข้าหลอดเลือด และลดการใช้ยาเสพติดแบบฉีด ในกลุ่มที่ใช้สารเสพติดแบบฉีดเข้าหลอดเลือดอยู่แล้ว โดยให้คำแนะนำช่องทางอื่นในการใช้สารเสพติดที่ปลอดภัยกว่า
การป้องกันและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีได้ มาตรการลดอันตรายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การใช้ถุงยางอนามัย การให้ความรู้เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และให้การรักษาหากพบการติดเชื้อ ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องของการดูแลรักษา สถานพยาบาลที่รักษา ควรจะเป็นที่เดียวกับที่ผู้เสพสารเสพติดมาใช้บริการเรื่องสารเสพติด
การดูแลแผลและหลอดเลือด
ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลความสะอาด ตลอดจนการเลือกตำแหน่งในการฉีดที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการฉีดเข้าหลอดเลือดแดง รวมถึงการลดจำนวนครั้งของการฉีดและการเลือกชนิดของสาร โดยในกลุ่มคนข้ามเพศนั้นบางครั้งนอกจากสารเสพติดแล้ว อาจมีการใช้ฮอร์โมนแบบฉีดร่วมด้วย ดังนั้นผู้ให้บริการควรสอบถามและแนะนำให้ผู้รับบริการใช้สารหรือยาฉีดที่มีมาตรฐานทางการแพทย์
การป้องกัน การให้ภูมิคุ้มกัน การวินิจฉัย และการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ
องค์การอนามัยโลกออกคำแนะนำให้มีการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ในกลุ่มผู้ใช้สารแบบฉีดเข้าหลอดเลือดรวมถึงการสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้รับบริการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด
ที่มา: การใช้สารเสพติดในคนข้ามเพศ (Substance Use in Transgender Population) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)