โรคมะเร็ง ( Cancer )
โรคมะเร็งถือเป็นโรคที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในแทบทุกประเทศ การตรวจพบมะเร็งให้เร็วที่สุด เช่น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรก จึงเป็นโอกาสที่จะสามารถรักษาหายจากโรคได้มากที่สุด
การตรวจคัดกรองโรค
การใช้วิธีต่างๆ เช่น การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจทางรังสีวิทยา หรือการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ ที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพื่อตรวจหาโรคในคนที่ยังไม่มีอาการ การตรวจคัดกรองโรคที่ได้ประโยชน์และคุ้มค่านั้น โรคที่ตรวจคัดกรองต้องมีความสำคัญ และเป็นปัญหาสำหรับสังคม รวมทั้งก่อให้เกิดอัตราการตายหรือทุพพลภาพที่มีผลกระทบต่อกลุ่มคนอย่างมาก ดังนั้น การตรวจคัดกรองโรคที่มีอุบัติการณ์สูง จึงมีแนวโน้มที่จะมีความคุ้มค่ามากกว่าโรคที่มีอุบัติการณ์ต่ำกว่า
การตรวจคัดกรองมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น เกิดผลบวกลวงมาก ทำให้ต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น ได้รับรังสีหรือถูกเจาะชิ้นเนื้อ อีกทั้งผู้ที่มาตรวจต้องตกอยู่ในความวิตกกังวลโดยไม่จำเป็น ในทางกลับกันการตรวจคัดกรองที่น้อยเกินไป มีผลทำให้ตรวจพบโรคช้ากว่าที่ควรทำให้ได้รับการรักษาช้าเกินไป เกิดผลเสียทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ
คนข้ามเพศมีวิถีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น การใช้ฮอร์โมนเพศ หรือยาต้านฮอร์โมนเพศ เป็นเวลานาน เพื่อให้เกิดลักษณะของเพศสภาพที่ต้องการ การได้รับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ หรือพฤติกรรมทางสังคมที่เป็นบรรทัดฐานในกลุ่มปัจจัยเหล่านี้ อาจมีผลต่ออุบัติการณ์ของมะเร็งชนิดต่างๆ ซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างจากคนทั่วไป มีผลให้การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในคนข้ามเพศ จึงมีบางส่วนที่เหมือนและบางส่วนที่แตกต่างจากคนทั่วไปด้วย
ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในคนข้ามเพศ แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่ใช้เกณฑ์เหมือนคนตรงเพศกำเนิด
โรคมะเร็งบางชนิดมีโอกาสเกิดขึ้นในคนตรงเพศและและคนข้ามเพศพอๆ กัน จึงสามารถใช้เกณฑ์การตรวจคัดกรองที่เหมือนคนตรงเพศ โรคเหล่านี้ได้แก่ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี และโรคมะเร็งปอด ซึ่งเกณฑ์การตรวจคัดกรองโรคเหล่านี้ อยู่นอกเหนือขอบเขตของแนวทางปฏิบัตินี้
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งที่อาจมีลักษณะเฉพาะในคนข้ามเพศ
มีหลักฐานยืนยันในผู้หญิงเพศกำเนิดว่าการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงบางชนิด ทำให้เกิดโรคมะเร็งของอวัยวะที่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศ เช่น โรคมะเร็งเต้านม (ตอบสนองต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน) โรคมะเร็งโพรงมดลูก (ตอบสนองต่อเอสโตรเจน) อย่างไรก็ตาม ผลเหล่านี้ต่อคนข้ามเพศยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เพราะมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องน้อยมาก การศึกษาที่มีรายงานมากที่สุด เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม เพราะเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูง และมีแนวโน้มว่าจะเกี่ยวข้องกับยากลุ่มนี้มากที่สุด แต่กลับพบว่าอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในคนข้ามเพศ โดยเฉพาะในหญิงข้ามเพศไม่สูงเท่าในผู้หญิง แต่สูงกว่าอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเต้านมในผู้ชาย การใช้ฮอร์โมนในคนข้ามเพศโดยทฤษฎี ยังอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งรังไข่ ในทางกลับกันการให้ฮอร์โมนบางชนิด อาจทำให้อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งบางอย่างลดลง เช่น โรคมะเร็งต่อมลูกหมากในหญิงข้ามเพศ ซึ่งพบว่าหญิงข้ามเพศที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากส่วนใหญ่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงหลังจากอายุ 50 ปีไปแล้ว นอกจากนี้ การผ่าตัดแปลงเพศ ยังมีผลในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด อาทิเช่น
ในหญิงข้ามเพศ
การตัดอัณฑะสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งอัณฑะ และอาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก, การตัดอวัยวะเพศชายป้องกันโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย
ในชายข้ามเพศ
การตัดมดลูกช่วยป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูก, การตัดรังไข่ทั้งสองข้างช่วยป้องกันโรคมะเร็งรังไข่และอาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านม ส่วนการตัดเต้านมทั้งสองข้างออกทั้งหมด ช่วยลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งเต้านมให้เหลือน้อยลงมาก แต่ไม่สามารถป้องกันได้อย่างเด็ดขาด
พฤติกรรมทางสังคมบางอย่างในคนข้ามเพศ ยังอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งอื่นๆ เช่น การใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ความอ้วน และความตระหนักในการมารับตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตามนัดต่ำกว่าประชากรทั่วไป นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งมักพบร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวี มีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งทวารหนัก และโรคมะเร็งช่องคลอดใหม่ในหญิงข้ามเพศ (โดยเฉพาะในรายที่ผ่าตัดแปลงเพศใช้หนังหุ้มอวัยวะเพศชาย) HPV ยังทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และโรคมะเร็งช่องคลอดในชายข้ามเพศด้วย
ที่มา: แนวทางปฏิบัติในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งสำหรับคนข้ามเพศ (Cancer Screening in Transgender People) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)