แนวคิดเกี่ยวกับกีฬาและการออกกำลังกายของสาวข้ามเพศ

สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอาเอง คำนี้ไม่เกินจริงสำหรับมนุษย์ทุกคนเพราะเราควรออกกำลังกายเพื่อดูแลตัวเองเป็นประจำจะได้มีสุขภาพที่ดี สำหรับสาวข้ามเพศอย่างพวกเราเชื่อว่าแต่ละคนน่าจะมีกีฬาที่ชื่นชอบเป็นของตัวเอง เราสามารถเอ็นจอยกับการเล่นกีฬาประเภทไหนก็ได้ ขอให้รู้เอาไว้ว่ากีฬาไม่มีเพศ ไม่จำเป็นจะต้องมองว่าผู้ชายเล่นกีฬาที่ผาดโผนได้อย่างเดียว และขอให้ประเมินสุขภาพตัวเองด้วยว่าออกกำลังกายเท่าไหนถึงจะไหวสำหรับเราและร่างกายได้รับประโยชน์มากที่สุด

วันนี้ผู้เขียนมีการทำงานเชิงความคิดเกี่ยวกับกีฬาและการออกกำลังกายมาฝากสาวข้ามเพศทุกคน หลายครั้งที่พวกเรามักจะถูกตั้งคำถามจากสังคมจากการแข่งขันกีฬาว่า “เราคือสาวข้ามเพศ เราคือผู้หญิง เรามีน้ำหนักมวลกล้ามเนื้อขนาดเท่าผู้ชาย อ้าว!! แบบนี้ถ้าเธอไปแข่งกีฬากับผู้หญิงเธอก็ต้องไปเอาเปรียบเพศหญิงโดยกำเนิดสิ!! ซึ่งก็ทำให้ผู้คนในสังคมรวมถึงชุมชนคนข้ามเพศอย่างเราๆก็ฉงนใจมิใช่น้อย เพราะพวกเราก็ยังเข้าใจและไม่ให้ด้วยเพราะยังยึดติดอยู่กับน้ำหนักมวลกล้ามเนื้อของเพศกำเนิดเราอยู่ดี

แต่งานวิจัยต่างๆ ก็ลบล้างความเข้าใจผิดนี้ เช่น มีงานวิจัยที่ระบุว่าผู้หญิงตามเพศกำเนิดส่วนใหญ่ไม่มีปัญหากับการที่ให้สาวข้ามเพศแข่งกีฬาหญิง และมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ว่าคนข้ามเพศไม่ได้มีข้อได้เปรียบในทางการกีฬาแต่อย่างใด

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ทำไมหญิงข้ามเพศถึงไม่ได้ได้เปรียบในกีฬาหญิงมีหลักฐานในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงวารสาร "เนเจอร์" ซึ่งเป็นวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำ  ระบุว่าถึงแม้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของผู้หญิงตามเพศกำเนิดช่วงก่อนหมดประจำเดือนจะน้อยกว่าผู้มีเพศกำเนิดชายถึงประมาณ 10 เท่าโดยเฉลี่ย เทียบกับช่วงอายุเดียวกัน

แต่ทว่าผู้หญิงตามเพศกำเนิดช่วงก่อนหมดประจำเดือนก็สามารถแสดงถึงพละกำลังและสามารถเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในระดับใกล้เคียงกับผู้ชายได้ผ่านวิธีการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (เช่น การยกน้ำหนัก) นอกจากนี้ระดับการสังเคราะห์โปรตีนกับระดับการสลายตัวของกล้ามเนื้อระหว่างหญิงและชายยังใกล้เคียงกันด้วย

อีกทั้งยังมีหลักฐานพบว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและฮอร์โมนเพศชายอื่นๆ ไม่มีความจำเป็นต่อการที่ผู้หญิงจะสามารถใช้พละกำลังได้ถึงขีดสุดหรือสร้างมวลกล้ามเนื้อได้ในระดับสูงสุดแต่อย่างใด ฮอร์โมนที่จำเป็นกับเรื่องนี้มากกว่าเป็นฮอร์โมนการเจริญเติบโตหรือ "โกรทฮอร์โมน", ฮอร์โมนที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายอินซูลินที่เรียกว่า IGF-1 และ เอสโตรเจนในผู้หญิงก็มีโอกาสจะมาทำหน้าที่เชิงแอนาบอลิก (เช่น การสร้างหรือซ่อมแซมมวลกล้ามเนื้อ) แทนเทสโทสเตอโรนได้

หลักฐานเหล่านี้จึงบ่งชี้ว่าถึงแม้หญิงข้ามเพศส่วนมาก จะเคยมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง มาก่อนในช่วงก่อนจะเทคฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศ แต่นั่นก็ไม่ทำให้พวกเธอได้เปรียบเพราะปริมาณมากน้อยของเทสโทสเตอโรนไม่ได้บทบาทในการสร้างกล้ามเนื้อและความเข้มแข็งแต่อย่างใด และอ้างอิงจากนักกีฬาสาวข้ามเพศอย่างลีอา โธมัส นักว่ายน้ำชาวสหรัฐอเมริกา และลอเรน ฮับบาร์ด นักยกน้ำหนักทีมชาตินิวซีแลนด์ ที่เป็นคนข้ามเพศคนแรกบนเวทีโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งสองคนนี้แสดงให้เห็นว่าการเป็นหญิงข้ามเพศไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าพวกเธอจะชนะการแข่งขัน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้เขียนอย่างจะบอกถึงสาวๆ คือ ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ออกกำลังกายในสิ่งที่ตัวเองมีแพชชั่น กีฬาไม่มีเพศ เพราะท้ายที่สุดแล้ว “ไม่มีคนข้ามเพศคนไหนอยากข้ามเพศเพื่อไปเอาเปรียบคนอื่นหรอกค่ะ”

 

อ้างอิงจาก: Prachatai, Post Today