มายาคติคืออะไร?

คำนี้ฟังดูแล้วเข้าใจยาก แต่ก็ไม่ได้ยากเสมอไป คำว่า “มายาคติ” (myth) หมายถึง การสื่อความหมายด้วยคติความเชื่อทางวัฒนธรรมซึ่งถูกกลบเกลื่อนให้เป็นที่รับรู้เสมือนว่าเป็นธรรมชาติ มายาคตินั้น มิได้ปิดบังอำพรางสิ่งใดทั้งสิ้น ทุกสิ่งปรากฎต่อหน้าเราอย่างเปิดเผย แต่เราต่างหาก ที่คุ้นเคยกับมันเสียจนไม่ทันสังเกตว่ามันเป็นสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรม (นพพร ประชากุล, 2547 อ้างถึงใน รัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ, 2560) และแน่นอนว่า คนข้ามเพศ มักมีมายาคติเหมารวมตลอดมา ด้วยความเชื่อที่ฝังหัว (Internalization) โดยความเชื่อฝังหัวนี้มีมาแต่ช้านาน และการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ที่บรรทัดฐานทางสังคมได้วางกรอบกำหนดไว้ เพราะฉะนั้นแม้ว่าเราจะเป็นคนข้ามเพศ แต่พอเมื่อเราอยู่ในบ้านที่ไม่ยอมรับ หรือออกจากบ้านเพื่อเอาตัวเองเข้าสู่สังคมที่ใหญ่กว่านั้น เช่น โรงเรียน เราจะพบว่ามายาคติแบบ 2 เพศ (Binary) มักกัดกลืนเราให้คนข้ามเพศเป็นคนชายขอบของชุมชนและสังคมเสมอ

นี่จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางการกระทำ ทางวาจา การถูกเลือกปฏิบัติ ฯลฯ ที่คนข้ามเพศน้องเผชิญ ด้วยมายาคติที่สังคมไม่เข้าใจวิถีของอัตลักษณ์พวกเรา ยกตัวอย่างเช่น การเป็นคนข้ามเพศบวชไม่ได้ พ่อแม่จะไม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ คนข้ามเพศไม่มีทางเจอความรักที่แท้จริง คนข้ามเพศเป็นคนตลกต้องทำอาชีพเกี่ยวกับความสวยความงามเท่านั้น หรือแรงถึงขั้นที่ไม่ยอมรับคนข้ามเพศและใช้วาจารุนแรงพูดว่าพวกเราจะต้องป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ แต่ขอโทษนะคะนี่เป็น 2023 แล้วค่ะ ทุกอย่างมีข้อมูลให้ได้ไกด์ไลน์เป็นเครื่องนำทางว่า ”คนข้ามเพศ” ก็คือ “คน” เพราะฉะนั้นแล้วตัวตน (Self) ของพวกเราสามารถเป็นอะไรก็ได้ในสิ่งที่อยากเป็น ทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่อยากทำ

มายาคติและการเหมารวมของคนข้ามเพศจะหมดลงไป ถ้าหากพวกเราและทุกคนไม่ต้องหาสาเหตุว่า พวกเราเป็นคนข้ามเพศเพราะอะไร เพราะเราไม่สามารถหาสาเหตุได้ ไม่ต้องหาคนผิด เรื่องแบบนี้ไม่มีใครผิด เด็กและเยาวชนไม่ได้มีแค่เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย และสุดท้ายไม่ใช่เรื่องความผิดปกติทางจิต ไม่ใช่เวรกรรม ไม่ใช่บาปกรรมจากชาติก่อน ขอให้ทุกคนจงภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นและรักตัวเองให้มากๆ นะคะ

 

อ้างอิงจาก:

การสร้างมายาคติเรื่อง “การทำแท้ง” ผ่านละครชุดเรื่อง ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น โดยรัฐพงศ์ ภิญโญโสภณ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)