กลุ่มองค์กรที่ขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองสิทธิความหลากหลายทางเพศ
หนึ่งในกลุ่มประเด็นทางสังคมที่มีการทำงานอย่างเข้มแข็งในการเปิดประเด็นเพื่อชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหาในหลายมิติที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายต้องเผชิญรวมถึงการนำเสนอแนวทางการแก้ไข ขาดการสื่อสารสร้างความเข้าใจ และผลักดันอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อให้เกิดกฎหมาย นโยบายและมาตรการที่จะส่งผลให้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทยซึ่งมีความแตกต่างทางเพศได้รับการปกป้องโดยเสมอภาคและเท่าเทียม
การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิด้านความหลากหลายทางเพศ มีความคึกคักอย่างมากในระดับสากลหลายประเทศมีการขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ เพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะพลเมืองของประเทศอย่างเท่าเทียม ในส่วนของประเทศไทย สิทธิความหลากหลายทางเพศยังเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่ แม้จะมีความก้าวหน้าปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง สำหรับหน่วยงานที่มีการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน กล่าวได้ว่าเป็นประเด็นที่ยังขาดความเข้าใจและให้ความสำคัญอย่างที่ควร
ข้อมูลจากการรายงานวิจัย “การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา: รูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการการป้องกันใน 5 จังหวัด” ความรุนแรงจากการหยอกล้อ กลั่นแกล้ง และรังแกกันในหมู่นักเรียนเป็นความรุนแรงจากโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ปราศจากความเข้าใจหรือระดับของผู้มีอำนาจในสถานศึกษา หรือผู้มีอำนาจเหล่านั้นมีความเข้าใจในสภาวะเหล่านี้แตกต่างจากเยาวชนเพศหลากหลายที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่ในกลไกหลักอย่างสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งมีบทบาทในการสร้างพื้นที่เพื่อการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน หนึ่งในข้อบัญญัติว่าด้วยองค์ประกอบของคณะกรรมการคือ “ผู้แทนเด็กและเยาวชนซึ่งได้รับเลือกจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย จำนวน 2 คน เป็นชาย 1 คนและหญิง 1 คน”
ข้อความดังกล่าวสะท้อนชัดเจนถึงการขาดมิติการให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ ในใบสมัครเข้าร่วมการเป็นสมาชิกสภาเด็กและเยาวชนมีการระบุให้เป็น “ชาย” หรือ “หญิง” เท่านั้น นอกจากนี้ เยาวชนข้ามเพศยังไม่ถูกสนับสนุนจากรัฐให้เข้าถึงฮอร์โมน และสถานบริการการตรวจวัดค่าระดับฮอร์โมนยังไม่กระจายไปทั่วถึงในทุกจังหวัดเพื่อให้เยาวชนข้ามเพศและหญิงข้ามเพศได้ตรวจวัดค่าฮอร์โมนอย่างทั่วถึง หรือแม้กระทั่งกระบวนการจิตวิทยาเพื่อผ่าตัดยืนยันเพศ เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย เพราะสังคมไทยยังมองไม่เห็นว่านี่คือสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน และถือเป็นการศัลยกรรมเสริมความงาม ทั้งที่ในแง่ความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้คือประเด็นทางสุขภาพของคนข้ามเพศ นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจในการผลักดันเพื่อชุมชนคนข้ามเพศ จนก่อเกิดกลุ่มที่ต่อสู้ในเรื่องนี้ขึ้นมา เช่น องค์กรข้ามเพศมีสุข
อ้างอิง:
พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน LGBT : มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)