มุมมองเรื่องเพศภาวะและเพศวิถี

สื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน ได้เลือกหยิบยกเอามุมมองเรื่องเพศภาวะและเพศวิถี ในหลากหลายแง่มุมมาดึงดูดความสนใจของผู้ชม ซึ่งเป็นกลวิธีที่สอดคล้องไปกับวิถีทางของระบบทุนนิยม สื่อจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับควบคุมให้ผู้คนแสดงออกทางเพศ และมีพฤติกรรมทางเพศในแบบที่แตกต่างกันไป บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIs) จึงเป็นกลุ่มที่สื่อให้ความสนใจและมักมีการนำเสนอข่าวมากขึ้น อย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา แต่พบว่าการนำเสนอส่วนใหญ่ มักเป็นข่าวในเชิงล้อเลียนมากกว่า นอกจากนี้ ผลจากการนำเสนอของสื่อได้ส่งผลต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในหลายระดับ กล่าวคือ ในระดับบุคคลพบว่า กลุ่มหญิงข้ามเพศส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกิน ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2597 ส่งผลให้หญิงข้ามเพศทุกคนที่มีสัญชาติไทย จำเป็นต้องผ่านกระบวนการดังกล่าวด้วยเหตุที่มีเพศ ณ แรกเกิด และเอกสารทางราชการกำหนดว่าเป็นเพศชายตามกฎหมาย ซึ่งขัดแย้งกับเพศภาวะ

การแสดงออกและรูปลักษณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนเป็นผู้หญิง จึงได้รับความสนใจจากคนในสังคมและสื่อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ผลจากการนำเสนอข่าวดังกล่าวได้ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องให้เกิดการปรับเปลี่ยนการนำเสนอตามมาบ่อยครั้ง

เนื้อหาส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์รายการเผชิญหน้าสถานีโทรทัศน์ ช่องสปริงนิวส์ โดยคุณเจษฎา แต้สมบัตินักขับเคลื่อนทางสังคมในประเด็นสิทธิของกะเทยหรือสาวประเภทสอง จากมูลนิธิเพื่อนกะเทย เพื่อสิทธิมนุษยชน สะท้อนว่า

“การนำเสนอของสื่อทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์ มักละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ในการเปิดเผยคำนำหน้านาม ให้ความสำคัญกับความสวย ความเป็นหญิง หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนร่างกาย เช่น การศัลยกรรมหน้าอก การแปลงเพศ แต่กลับละเลยเนื้อหาสำคัญของการเกณฑ์ทหาร ถึงการกระทำตามกฎหมายของพลเมืองไทย หรือขั้นตอนต่างๆ ที่เอื้ออำนวยหรือเป็นอุปสรรคกับการเข้าตรวจเลือกของคนเป็นกะเทย สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราเครียด ทุกข์ใจ และทำทุกวิถีทางให้ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก หลายคนต้องถูกละเมิดสิทธิถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนบางคนถึงขั้นคิดสั้น อยากฆ่าตัวตายก็มี”

ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลพบว่า การนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศในสื่อ ซึ่งประกอบด้วย 

  • หญิงรักหญิง 
  • ชายรักชาย 
  • บุคคลรักสองเพศ 
  • บุคคลข้ามเพศ 
  • บุคคลสองเพศ 
  • ผู้ไม่นิยามเพศมักเป็นไปในด้านลบ 

โดยปราศจากความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน เกี่ยวกับเพศวิถีอัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ส่งผลต่อการเกิดอคติ ความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนา คู่มือการนำเสนอของสื่อในเรื่องความหลากหลายทางเพศ สำหรับผู้ปฏิบัติงานสื่อ และเครือข่ายผู้บริโภคสื่อ เพื่อใช้เป็นแนวทางขององค์กรสื่อมวลชนในการนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศ ให้ละเอียดอ่อนและเคารพสิทธิทางเพศมากยิ่งขึ้น โดยมีเนื้อหาหลักที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจและนำเสนอคำเรียกบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกต้อง

 

ที่มา: คนข้ามเพศในบริบทของสังคม กฎหมาย และวัฒนธรรมไทย (Social, Legal and Cultural Perspectives on Transgender People in Thailand) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)