แม้ปัจจุบันกลุ่มคนข้ามเพศในประเทศไทยจะต้องเผชิญหน้ากับมายาคติทางสังคมและความไม่เท่าเทียมในด้านของสิทธิทางกฎหมายหลายประการ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีบทบาทและเป็นสีสันแก่วงการบันเทิงไทย ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไร เราก็ยิ่งมองเห็นบทบาทของคนข้ามเพศในวงการอื่นๆ หลากหลายขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในฐานะนักวิชาการ นักการทูต นักกีฬา หรือบุคลากรทางการแพทย์
ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ประเทศไทยจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ประเทศที่เฟรนด์ลี่กับ LGBTQIA+ ที่สุดในเอเชีย’ และ ‘แดนสวรรค์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ’
อย่างไรก็ตาม ‘บริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศ’ ซึ่งเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดต่อคุณภาพชีวิตชาวสีรุ้ง กลับเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยถูกสำรวจ หรือนำเสนอตามสื่อกระแสหลักอย่างถูกต้องสักเท่าไรนัก
เนื่องในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ คอลัมน์ The Chair จึงขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ ‘ศูนย์แปลงเพศครบวงจร’ โดย ‘โรงพยาบาลยันฮี’ ในแง่ของพัฒนาการของบริการสุขภาพคนข้ามเพศในประเทศไทย ผ่านบทสนทนาสบายๆ กับนายแพทย์โชคชัย อมรสวัสดิ์วัฒนา ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งและการแปลงเพศ
‘ความเข้าใจผิด’ ที่พบบ่อยเกี่ยวกับการแปลงเพศ
เมื่อเราต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งใดก็ตามอย่างถ่องแท้ ขั้นตอนสำคัญที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการ ‘Unlearn’ หรือละทิ้งสิ่งที่เคยรู้มา เพื่อลบความเข้าใจและภาพจำที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งคำตอบจากปากของหมอโชคชัย ได้ไขข้อกระจ่างหลายประการ ได้แก่
คนข้ามเพศไม่อาจมีความสุขทางเพศได้อีก
ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับการแปลงเพศประการแรกคือ ความคิดที่ว่าเมื่อเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว คนข้ามเพศจะไม่สามารถมีความสุขทางเพศได้เหมือนกับผู้ที่มีเพศกำหนดสอดคล้องกับเพศสถานะ (Cisgender) โดยคุณหมอได้ยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ จากเทคนิคการแพทย์ที่ใช้ในการสร้างอวัยวะเพศชาย ปัจจุบันมีทั้งเทคนิคการผ่าตัดที่ให้ผลลัพธ์ด้านการใช้งาน และเทคนิคที่ให้ผลลัพธ์ด้านการคงความรู้สึกทางเพศเหมือนคลิตอริส เพื่อสนองความต้องการของผู้เข้ารับผ่าตัด และไม่ว่าผู้รับบริการจะเลือกผ่าตัดด้วยเทคนิคใด ก็สามารถมีความสุขทางเพศได้
“เทคนิคเมตตอยด์ (Metoidioplasty) คือการสร้างองคชาตขนาดเล็ก (Microphallus) ด้วยการใช้คลิตอริสเดิมซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อผ่านการเทกฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน แม้การใช้งานด้วยการสอดใส่จะเป็นไปได้ยาก แต่ในด้านความรู้สึกทางเพศนั้น จะค่อยๆ กลับมาเองตามลำดับและระยะเวลาพักฟื้น
“ส่วนเทคนิคฟาลโล (Phalloplasty) ซึ่งเป็นที่นิยมกว่าที่โรงพยาบาลยันฮี คือสร้างอวัยวะเพศชายที่มีขนาดใกล้เคียงกับขนาดของอวัยวะเพศชายในขณะแข็งตัว โดยการย้ายเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ มาเย็บปั้นเป็นอวัยวะเพศชายตามรูปร่างและขนาดที่ต้องการ
“สำหรับเทคนิคนี้ ความรู้สึกทางเพศในช่วงประมาณ 200 วันแรกหลังพักฟื้นอาจไม่แน่นอนบ้าง แต่หลังจากเส้นประสาทงอกสมบูรณ์ตามขนาดความยาวและผู้เข้ารับการผ่าตัดสามารถปรับตัวกับสรีระใหม่ได้ ก็จะสามารถมีความสุขทางเพศได้ตามปกติ มีข้อดีคือ สามารถใช้งานได้เกือบเหมือนอวัยวะเพศชาย โดยอาจใส่เครื่องมือที่ทำให้แข็งตัวสำหรับการสอดใส่”
การเปรียบวิธีผ่าตัดแปลงเพศเป็นเหมือนสลับขั้วทันที
ความเข้าใจผิดประการถัดมา คือการเปรียบวิธีผ่าตัดแปลงเพศเป็นเหมือนการกระโดดข้ามจากเพศกำหนด (Sex Assigned at Birth) ไปยังเพศตรงข้าม จากชายเป็นหญิง หรือจากหญิงเป็นชายแบบสลับขั้ว แต่ในความเป็นจริง การแปลงเพศก็เปรียบเสมือนการค่อยๆ เดินย่ำไปเรื่อยๆ บนเฉดสีของสเปกตรัม แน่นอนว่าจุดสิ้นสุดของการเดินทางย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
“ไม่ใช่คนข้ามเพศทุกคนที่ต้องการผ่าตัดอวัยวะเพศ ชายและหญิงข้ามเพศจำนวนมากโอเคที่จะหยุดการเดินทางของเขาไว้แค่ที่การตัดหรือเสริมหน้าอก โดยเฉพาะผู้ชาย ในประเทศไทยมีชายข้ามเพศแค่ 5-10% เท่านั้น ที่จะเลือกเดินหน้าผ่าตัดอวัยวะเพศต่อ ส่วนมากด้วยเหตุผลด้านความพึงพอใจส่วนตัว หรือด้านสถานะทางการเงิน
“นอกจากนี้ ยังมีผู้เข้ารับการผ่าตัดกลุ่มนอนไบนารี (Non-binary) ซึ่งแต่ละคนก็มีความต้องการที่อาจเหมือน หรือแตกต่างออกไปจากคนข้ามเพศก็ได้ เช่น ต้องการลดขนาดหน้าอกแต่ไม่ได้ตัดออกทั้งหมด เป็นต้น”
ขอบคุณข่าวจาก: The Momentum