อัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ

เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองเพศสภาพ ผู้รับบริการที่เป็นคนข้ามเพศจึงยังต้องใช้คำนำหน้านามตามเพศกำเนิดในบัตรประชาชน ซึ่งมักไม่ตรงกับอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศของตน นำมาสู่ความอึดอัดใจในการเข้ารับบริการในสถานบริการสุขภาพ ซึ่งต้องใช้บัตรประชาชนในการลงทะเบียน เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการยอมรับ และให้ความสำคัญต่อความละเอียดอ่อน ในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ผู้ให้บริการพึงพิจารณาการจัดระบบเวชระเบียน และแบบฟอร์มต่างๆ ดังนี้

ระบบเวชระเบียนและแบบฟอร์มต่างๆ 

การออกบัตรผู้รับบริการ ใบรายงานผลการตรวจ ใบส่งตัวและใบนัด ควรมีตัวเลือกในการใช้คำนำหน้านาม โดยให้ผู้รับบริการมีสิทธิ์เลือกใช้คำนำหน้านาม ตามอัตลักษณ์ของตนในกรณีของประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีกฎหมายรับรองเพศควรมีคำว่า “คุณ” เป็นตัวเลือกด้วย เนื่องจากสามารถใช้ได้กับคนทุกอัตลักษณ์ทางเพศ

คำถามในส่วนของประวัติส่วนตัว 

ทั้งในการให้บริการตามปกติหรือในการทำวิจัย นอกจากจะมีคำถามเรื่องเพศกำเนิดแล้ว ควรมีคำถามเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศด้วย จากรายงานในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าการเพิ่มคำถามเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ ช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลจากผู้รับบริการได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นและช่วยให้สามารถแยกกลุ่มประชากรของผู้รับบริการหรือผู้เข้าร่วมในโครงการวิจัยได้อย่างถูกต้อง

การส่งเอกสาร 

หากต้องจะมีการส่งเอกสาร โดยการส่งไปรษณีย์ หรือฝากข้อความทางโทรศัพท์ให้สอบถามผู้รับบริการว่าประสงค์จะให้ระบุชื่อว่าอย่างไร

 

ที่มา: การเตรียมความพร้อมในการให้บริการทางสุขภาพแก่คนข้ามเพศ (Service Implementation for Transgender People) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)