เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา มีการยกเลิกการรับผู้หญิงเข้าสู่การเป็นนายร้อยตำรวจ นั่นจึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่อาจนำไปสู่สวัสดิภาพความปลอดภัยของสาวข้ามเพศเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการชั้นสอบสวน ทั้งผู้ร้องทุกข์ ผู้เสียหาย หรือการโอกาสที่มีพนักงานสอบสวนหญิงหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงน้อยลงทุกวันๆ

สิ่งเหล่านี้มีส่วนให้พนักงานสอบสวนชาย หรือพนักงานสอบสวนทั้งหมดขาดเลนส์ทางเพศ จึงไม่ได้เรียนรู้ความละเอียดอ่อน และความเปราะบางของคนข้ามเพศเท่าที่ควร ถึงแม้บ้านเราจะมีนายสิบหญิง มีกองร้อยน้ำหวานอยู่ แต่จากบทความของ Thematter ได้วิเคราะห์การขาดเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงไว้อย่างหน้าสนใจ กล่าวคือ การสูญสลายของนักเรียนนายร้อยทหารหญิง ไปจนถึงนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เท่ากับอีกก้าวถอยหลังของสถานภาพสตรีไทยที่ตอกย้ำถึง ‘รัฐผู้ชาย’ (Male state)

ถอดความวิเคราะห์ได้อย่างง่ายๆ ว่า การที่บทให้บทบาทให้ผู้ชายได้เข้าถึงอำนาจมากกว่า สัมพันธ์กับงานข้างนอกบ้าน ที่มักให้โอกาสกับความเป็นชาย และผู้หญิงจะถูกคาดหวังให้ทำงานภายในครัวเรือนหรือพื้นที่ส่วนตัวมากกว่า ทั้งนี้เป็นผลพวงจากระบบชายเป็นใหญ่ที่ทำงานกับสถาบันต่างๆ ทางสังคม เช่น ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง ผู้ชายจึงมีอำนาจในสถาบันสังคมต่างๆ หลายภาคส่วน และผู้หญิงต้องถูกกีดกันจากพื้นที่สาธารณะ

ลองมองดูว่า ถ้าหากคนข้ามเพศเราอยากทำอาชีพตำรวจก็ยิ่งเป็นงานที่ยากเข้าไปใหญ่ และถ้าหากมองในมุมมองของประชาชนผู้มีอำนาจอธิปไตยและอธิปไตยทางร่างกาย การที่เราเป็นคนข้ามเพศและมีความคิด ชีวิต จิตใจที่เป็นผู้หญิง ถ้าหากเกิดความเสียหายอะไรกับเรา อย่างไรแล้วผู้หญิงด้วยกัน ที่จะสามารถเข้าใจและรับรู้ปัญหาความต้องการพื้นฐานร่วมกันได้ นี่จึงไม่ใช่แค่การลดจำนวนเพศหญิงอย่างเดียวในพื้นที่ทำงานเท่านั้น แต่เป็นอีกสัญญาณอันน่าเป็นห่วงว่า เราในฐานะคนข้ามเพศจะสามารถฝากความคาดหวังให้กับอาชีพที่เรียกว่า ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้มากน้อยแค่ไหน

 

อ้างอิงจาก: The Matter