บ้านคือเซฟโซนสำรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ?

บ้านคือเซฟโซนของเรา หรือบ้านอาจจะไม่ใช่เซฟโซน ความรู้สึกนี้แตกต่างกันออกไป สำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องแสดงออกถึงตัวตนอัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละคน หรือพูดเป็นภาษาปากง่ายๆ ว่าการ Come out หรือ Coming out ก็ต้องมาดูอีกว่าคนอื่นจะยอมรับพวกเราไหม นั่นจึงเป็นที่มาว่าการที่ LGBTQI+ บางส่วนที่ตัดสินใจเป็นคนไร้บ้าน มีที่มาจากการไม่ถูกยอมรับในตัวตนของพวกเขา

ข้อมูลที่รวบรวมโดย US National Library of Medicine National Institutes of Health ระบุว่า ประชากร LGBTQI+ นั้น นับเป็นสัดส่วนถึง 20-40 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ไม่มีที่อยู่มั่นคง รายงาน “At the Intersections: A Collaborative Resource on LGBTQ Youth Homelessness” ขององค์กร True Colors United ซึ่งให้ความสำคัญกับเยาวชนและคนที่เพิ่งเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่จากกลุ่ม LGBTQI+ ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มเยาวชนและผู้ใหญ่ตอนต้นจากกลุ่ม LGBTQI+ เสี่ยงเผชิญกับสภาวะปราศจากที่อยู่ถาวรมากกว่าคนรักต่างเพศ/เกิดมาตรงเพศซึ่งอยู่ในวัยเดียวกันถึง 120 เปอร์เซ็นต์ โดย 1 ใน 10 ของ LGBT+ ที่อายุ 18-25 ปีเคยเผชิญปัญหาไร้ที่อยู่มั่นคง ส่วน LGBTQI+ ที่อายุ 13-17 นั้นมี 1 ใน 30 คนที่เคยตกอยู่ในสภาวะนี้

และจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา จากผลการสำรวจของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) และมูลนิธิเอเชียแปซิฟิค ทรานส์เจนเดอร์ เนตเวิร์ค (APTN) พบว่าโรคโควิด-19 สร้างอุปสรรคในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่ม LGBTQ+ อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหาเลี้ยงอาชีพ การเข้าถึงความช่วยเหลือและเครือข่ายคนใกล้ชิด หรือการดูแลความเป็นอยู่ดี โดยเฉพาะทางจิตใจ ร้อยละ 85 ของผู้ตอบแบบสอบถามได้รับผลกระทบจากมาตรการลดระดับการสัญจรไปมาของประชากร คนข้ามเพศบางส่วนกล่าวว่าไม่สามารถไปตามสถานพยาบาลเพื่อขอรับยาฮอร์โมนส์ได้ โดยเฉลี่ยแล้ว ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามขาดรายได้และอาชีพ และโดนบังคับให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ทั้งยังมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงชุมชนของตัวเอง และประสบความรุนแรงจากสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลที่ใกล้ชิด

ทำไมประเทศไทยควรเริ่มใช้กฎหมายคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง?

ข้อมูลดังกล่าวทำให้กลุ่ม LGBTQI+ เสี่ยงต่อการเป็นคนไร้บ้านมากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยต้องใช้กฎหมายการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้จริงจัง และสร้างความปลอดภะยให้กับคนข้ามเพศ LGBTQI+ และมนุษย์ทุกคน โดยสาระสำคัญของแนวทางการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งตามกฎหมายในปัจจุบัน ประกอบด้วย

  • คนไร้ที่พึ่งมีสิทธิขอรับการคุ้มครองจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งได้
  • กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่พบเห็นหรือได้รับแจ้งเกี่ยวกับคนไร้ที่พึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษา ช่วยเหลือ และจัดส่งไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
  • การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแต่ละรายให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพิจารณาตามความเหมาะสม และสภาพปัญหาของคนไร้ที่พึ่งแต่ละราย และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
  • ให้มีการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเกี่ยวกับการพักอาศัยในที่สาธารณะ
  • มีการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรณีเป็นบุคคล ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะในการคุ้มครอง
  • มีการกำหนดให้คนไร้ที่พึ่งที่จะเข้าอยู่อาศัยในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งต้องจัดทำ ข้อตกลงในการเข้าร่วมฟื้นฟูสภาพร่างกาย จิตใจ การประกอบอาชีพและทำงาน
  • ระหว่างการฝึกอาชีพหรือเริ่มต้นประกอบอาชีพ คนไร้ที่พึ่งอาจได้รับเงินช่วยเหลือ ในการยังชีพตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
  • ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งต้องปกปิดข้อมูลส่วนตัวของคนไร้ที่พึ่ง
  • กรณีคนไร้ที่พึ่งไม่ได้รับการคุ้มครอง หรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง อาจร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

แต่รัฐไทยก็ต้องใช้กฎหมายนี้เพื่อดูแลคนไร้ที่พึ่งให้จริงจัง และสร้างความปลอดภัยให้กับพวกเขาจริง ๆ ความท้าทายหลายๆ อย่าง เช่น การคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศ การดูแลให้เกิดความปลอดภัยอย่างมากที่สุด และการเข้าอกเข้าใจความเป็นมนุษย์ผ่าน Mindset ของผู้ที่ทำงานเรื่องนี้จะต้องทำความเข้าใจว่า ถึงแม้ว่าอำนาจของคนเราจะมีไม่เท่ากัน แต่ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลที่มาเป็นของตัวเอง และจงอย่าลืมว่าภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน เราคือคนเท่ากัน

 

อ้างอิงจาก: 

ที่ไหนมีความเกลียดชัง LGBT+ ที่นั่นย่อมมีคนไร้บ้าน โดย บุณิกา จูจันทร์
ส่องปัญหากลุ่ม LGBTQ+ ไร้บ้านในโลกยุคโควิดระบาด โดย บุณิกา จูจันทร์
ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดชัยนาท
กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง โดย นางวิลาสินี สิทธิโสภณ วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานกฎหมาย 3 สำนักงานกฎหมาย