ฟังคำว่าเงินบำนาญ แน่นอนว่าคำนี้มักจะผูกติดอยู่กับอาชีพข้าราชการ และแน่นอนว่าถึงแม้จะมีสาวข้ามเพศได้รับบรรจุตำแหน่งทางราชการ แต่ก็ได้ใช่ทุกคนที่จะอยากเป็นข้าราชการ เพราะฉะนั้นเงินบำนาญ ฟังดูเหมือนว่าจะห่างไกลกับชีวิตของสาวข้ามเพศอย่างเราๆ

เงินบำนาญคืออะไร

อ้างอิงจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ความหมายโดยคร่าวของเงินบำนาญคือ ทุกสิ้นเดือนกันยายนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของทุกปีสำหรับหลายๆ คนที่ชีวิตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คือ การก้าวสู่วัยเกษียณอายุของข้าราชการ ซึ่งการเกษียณอายุราชการเป็นการออกจากราชการโดยผลของกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ “ข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์แล้วจะต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์” โดยกำหนดให้วันที่ 30 กันยายนของทุกปีเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณ ด้วยการกำหนดให้ “ข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์แล้วจะต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์” ทำให้การเกิดต่างกันแค่ 1 วัน คือ เกิดวันที่ 1 ตุลาคม ต่างกับ เกิดวันที่ 2 ตุลาคมมากมาย ตัวอย่างเช่น นายสาธิต เกิดเมื่อ 1 ตุลาคม 2506 จะมีอายุครบ 60 ปี เมื่อ 30 กันยายน 2566 และในวันที่ 30 กันยายน 2566 เป็นวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

ดังนั้น นายสาธิตจึงต้องพ้นจากราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2566 สำหรับนางสาวหลิง เกิดเมื่อ 2 ตุลาคม 2506 จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อ 1 ตุลาคม 2566 และวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ คือวันที่ 30 กันยายน 2567 ดังนั้น นางสาวหลิงจะพ้นจากราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2567 แต่พูดไปสองไพเบี้ย เพราะสาวข้ามเพศส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นข้าราชการค่ะ แต่!!! เรามีการผลักดันรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย จากภาคีหลากหลายองค์กร เช่น กลุ่มนักวิชาการ กลุ่ม We Fair อีกทั้งปัจจุบันยังมีการผลักดันกฎหมาย”บำนาญถ้วนหน้า” อีกด้วย!!
 


บำนาญถ้วนหน้า คืออะไร?

บำนาญถ้วนหน้า คือ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” (เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.ผู้สูงอายุฯ) เพื่อเปลี่ยนระบบการจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุจาก “เบี้ยยังชีพ” เป็น “บำนาญ” ให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้แบบรายเดือนจากรัฐ

หลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็น “สิทธิ” ที่รัฐมีหน้าที่จัดสวัสดิการให้บุคคล #ทุกคน ที่มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยจ่ายเป็นบำนาญที่เป็นรายได้แบบรายเดือนอย่างถ้วนหน้า ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งอัตราเงินบำนาญต้องไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามเกณฑ์สภาพัฒน์ฯ กำหนด และต้องจัดทําแผนบํานาญพื้นฐานแห่งชาติทุก 3 ปี

บริหารจัดการระบบมี “คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐและผู้แทนองค์กรเอกชน เข้ามาช่วยมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย การจ่ายบํานาญพื้นฐานแห่งชาติ ที่เป็นธรรมและยั่งยืนสอดคล้อง กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเศรษฐกิจ และสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม

กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ

โดยแหล่งที่มาของเงิน จะมีการจัดตั้ง “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ มาจาก 14 แหล่ง เช่น เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ ภาษีสรรพสามิต สลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนแบ่งค่าสัมปทานคลื่นความถี่ ค่าภาคหลวงตามกฎหมายว่าด้วยแร่ เงินบํารุงภาษีรถยนต์ ส่วนแบ่งกฎหมายว่าด้วยการพนัน ส่วนแบ่งรายได้ขุดเจาะน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีกำไรจากหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีมรดก ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (ภาษีลาภลอย) ภาษีเงินได้จากการยกเลิกบีโอไอ หรือสิทธิพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

โดยให้ราชการส่วนท้องถิ่นยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีหน้าที่และอํานาจในการช่วยลงทะเบียนรายชื่อของผู้สูงอายุที่มีความประสงค์จะรับสิทธิดังกล่าว (เหมือนที่ขึ้นทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ทำในตอนนี้) ถ้าหากว่าเรามีกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เราก็จะสามารถเพิ่มสุขภาวะเมื่อเราแก่ตัวลงไปได้ ไม่ลำบากยามแก่เฒ่าเหมือนสังคมปัจจุบันที่พบเจอช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินมากมาย และที่สำคัญเราสามารถลดวาทกรรมความกตัญญูได้ เพราะไม่ใช่แค่หน้าที่เราที่ต้องทำงานเลี้ยงบุพการี แต่นั่นก็สมควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยเช่นกัน

สามารถลงชื่อกฎหมายบำนาญถ้วนหน้าทางออนไลน์ได้ที่ https://shorturl.asia/KnmXQ หรือ https://shorturl.asia/qWwDS แล้วเขียนลายมือชื่อพร้อมเซ็นกำกับให้ชัดเจน ส่งไปรษณีย์มาที่ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ 48/282 ซ.รามคำแหง104 ถ.รามคำแหง แขวง/เขต สะพานสูง กรุงเทพฯ 10240 เพื่อให้บำนาญถ้วนหน้าและรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย
 

 

อ้างอิงจาก: บำเหน็จบำนาญข้าราชการ รู้ไว้ก่อนเกษียณ โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP, Fanpage บำนาญแห่งชาติ