ไทยเป็นชาติแรกในอาเซียนและเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งรับรองการแต่งงานของเพศเดียวกัน โดยเปลี่ยนจากคำว่า “สามี-ภริยา” เป็น “คู่สมรส” เพื่อให้เป็นไปตามหลักการในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย
กฎหมายนี้ใช้เวลาเดินทางกว่า 20 ปี ผ่านทั้งกระแสต่อต้านและสนับสนุน จนมาถึงวันที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 400 ต่อ 10 เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และสามเดือนหลังจากนั้น ที่ประชุมวุฒิสภาก็เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 130 เสียง ต่อ 10 เสียง
กฎหมายฉบับดังกล่าว เพิ่งเผยแพร่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วัน หรือก็คือวันที่ 22 ม.ค. ปีหน้า
กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะทำให้ผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถจดทะเบียนสมรสหรือหย่าได้ตามกฎหมาย มีสิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคมและสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิตัดสินใจเรื่องทางการแพทย์ และสิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส เป็นต้น
บีบีซีไทยชวนสำรวจ 3 ปัจจัยหลัก ทั้งจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่ทำให้ประเทศไทยค่อนข้างเป็นมิตรและเปิดกว้างกับผู้มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
ปัจจัยทางความเชื่อและศาสนา
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความหลากหลายของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศของไทยมานานกว่า 10 ปี บอกกับบีบีซีไทยว่า ในดินแดนภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีความเชื่อเรื่องการสร้างมนุษย์ในหลายรูปแบบ และเมื่อย้อนกลับไปดูอิทธิพลของศาสนาฮินดูที่รับเข้ามาจากอินเดียก็พบว่าเทพเจ้าหลายองค์มีส่วนผสมระหว่างชายหญิง ส่งผลให้เกิดพื้นที่เปิดซึ่งรองรับความหลากหลายในวัฒนธรรมของไทย ส่วนศาสนาพุทธก็ไม่มีข้อห้ามหรือบทลงโทษผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพียงแต่ห้ามไม่ให้ “บัณเฑาะก์” ซึ่งหมายถึงผู้เป็นกะเทยหรือขันที เข้าบวชเรียน
“หากในชีวิตประจำวันเป็นบัณเฑาะก์ เป็นชาวบ้าน ศาสนาพุทธก็ไม่ได้นำตัวมาเป็นเชลย ถูกขังหรือถูกเฆี่ยนตี เหมือนกับที่พบในมุสลิมหรือศาสนาคริสต์” เขาบอก “ในชีวิตชาวพุทธแบบเถรวาท ถ้ายังคงสภาพไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เขาก็ดำรงตัวตนอยู่ในเพศภาวะกึ่งหญิงกึ่งชายหรือคนข้ามเพศได้”
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมองว่าสังคมไทยซึ่งมีความพหุวัฒนธรรมค่อนข้างสูงจึงเป็นสังคมที่ยืดหยุ่นโดยทุนเดิม
นอกจากนี้ การที่ไทยรอดพ้นจากลัทธิล่าอาณาณิคมในช่วงศตวรรษที่ 18 ก็ทำให้ไทยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ที่มีการนำกฎหมายที่บัญญัติว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งต้องห้ามมาใช้ เพราะถือว่าเป็นบาปขัดต่อกฎของพระเจ้าตามหลักศาสนาคริสต์
ยกตัวอย่างเช่นประเทศพม่า (สมัยก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น เมียนมา ในเวลาต่อมา) แต่ก่อนเคยมีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดรับผู้มีความหลากหลายทางเพศคล้ายกันกับไทย โดยพบว่าคนข้ามเพศสามารถแสดงตัวตนในพิธีกรรมทางศาสนาได้ เช่น เป็นร่างทรง เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมสำคัญในงานแต่งงาน เป็นผู้ติดต่อวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คล้าย ๆ ผู้นำพิธีหรือเจ้าพิธี เป็นต้น
แต่ราวทศวรรษที่ 1820 เจ้าอาณานิคมอังกฤษเข้ามาปกครองพม่าและได้นำกฎหมายเฟโลนี (Felony-คดีร้ายแรง) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวคิดตามหลักคริสต์ศาสนามาใช้ โดยบัญญัติห้ามไม่ให้พลเมืองมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน เนื่องจากถือว่าเป็นบาปขัดต่อกฎของพระเจ้า ซึ่งอิทธิพลของกฎหมายนี้ไม่ได้ส่งผลต่อพม่าเท่านั้น ยังรวมถึงมาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษด้วย
“พออังกฤษถอนตัวไป พม่าก็ประกาศอิสรภาพ โดยผู้นำเผด็จการทหารหรือรัฐบาลทหารพม่าก็มีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ไม่ยอมรับเพศสภาพของคนที่เป็นเกย์ กะเทย” ดร.นฤพนธ์ กล่าว “ลัทธิอาณานิคมทำให้วิธีคิดเกี่ยวกับเพศมีเพียงชายกับหญิงเท่านั้น ทำให้ธรรมเนียมเก่าที่เขาเคยเปิดรับ [ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ] กลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายไป”
ปัจจุบันพบว่าในเมียนมานั้น ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศบางส่วนยังคงสืบทอดบทบาทเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางความเชื่ออยู่ แต่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นเท่านั้น เนื่องจากส่วนกลางไม่ได้ยอมรับหรือสนับสนุนแต่อย่างใด
ส่วนลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมฝรั่งเศสช่วงราวทศวรรษที่ 1880 ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสที่คล้ายกับกฎหมายเฟโลนีของอังกฤษซึ่งไม่รับรองความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกัน ประกอบกับแนวคิดแบบขงจื๊อจากจีนที่มีอิทธิพลในเวียดนามด้วย จึงทำให้ประเทศเหล่านี้ไม่ใช่พื้นที่ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากนัก
ทั้งนี้ ขงจื๊อเป็นแนวทางการปกครองและจัดระเบียบทางสังคมที่กำหนดบทบาทผู้ชายและผู้หญิงไว้อย่างชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตยอย่างมาก ซึ่งนำมาสู่การแบ่งแยกทางเพศในเวลาต่อมา โดยผู้ชายยังถูกคาดหวังจากครอบครัวด้วยว่า จะต้องแต่งงานกับผู้หญิง เพื่อมีทายาทสืบสกุลต่อไป ดังนั้นการรักเพศเดียวกันจึงไม่ตอบโจทย์ค่านิยมดังกล่าวของขงจื๊อ
ดร.นฤพนธ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงอิทธิพลของศาสนาอิสลามด้วยว่า “กฎของศาสนาอิสลามก็ระบุชัดเจนว่าผู้ชายห้ามแต่งหญิง ห้ามมีความรักกับคนเพศเดียวกัน เราก็จะพบว่าอิสลามนั้นมีพลังในการกดทับเกย์-กะเทยในมาเลเซียและอินโดนีเซีย แล้วก็เคยเกิดคดีฆาตกรรมเนื่องจากทำผิดกฎศาสนาด้วย”
ปัจจัยทางประวัติศาสตร์: สังคมอุษาคเนย์ยอมรับการมีอยู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศมานานแล้ว
งานศึกษาเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศในมิติประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์” ของคณาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฎเลย สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนรับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ยุคโบราณ โดยพบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบันทึกเกี่ยวกับกะเทยในอาณาจักรเจนละที่ดูมีเสรีภาพในที่สาธารณะ
ขณะที่วรรณกรรมและวรรณคดีในยุคสุโขทัยและสมัยอยุธยามีส่วนหนึ่งที่ระบุว่า การลอบเป็นชู้ของชายหญิง เมื่อตายแล้วเกิดใหม่ จะเกิดเป็นกะเทยในชาติหน้า ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการบัญญัติโทษในกฎมณเฑียรบาล เกี่ยวกับการเล่นสวาทของผู้หญิงและผู้ชายในราชสำนัก แต่การเล่นสวาทของผู้มีเพศเดียวกันในวังหรือนอกวัง ระหว่างชนชั้นนำกับสามัญชน หรือระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเอง กลับไม่ได้ถูกรังเกียจหรือมีการลงโทษเป็นกิจลักษณะแต่อย่างใด
คำว่า “ผู้แม่-ผู้เมีย” เป็นคำที่คนเหนือและคนอีสานใช้เรียกผู้ที่มีเพศสภาวะทั้งหญิงและชายอยู่ในคน ๆ เดียวกัน ซึ่งในภาษาล้านนาเรียกว่า “ปู๊แม่-ปู๊เมีย”
“ในเขตชนบท คนที่โตมาในลักษณะที่ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิง หรือมีลักษณะเป็นผู้แม่-ผู้เมีย เขายังคงทำหน้าที่และมีบทบาทในครอบครัวเป็นผู้ชาย กะเทยในสังคมชนบทเป็นสภาวะที่สร้างความครื้นเครง เป็นเรื่องราวสร้างสรรค์ แต่สามารถแต่งงานมีลูก มีเมียได้ ตราบใดที่รับผิดชอบลูกเมียของตัวเอง”
“ประมาณปี พ.ศ. 2480-2500 กะเทยจะแสดงจริตหญิงก็ต่อเมื่อมีงานวัดงานประเพณี ซึ่งไม่ใช่การแต่งหญิงแบบที่เราเข้าใจในปัจจุบัน มากสุดก็แค่ใส่ผ้าถุง ไว้ผมยาว ทัดดอกไม้ แต่เวลาออกไปทำไร่ทำนา เขาไม่ได้แต่งตัวเป็นผู้หญิง เขาก็ทำงานหนักเหมือนผู้ชาย แม้มีจริตออกไปทางผู้หญิงก็ตาม โดยมีโลกทัศน์ว่าต้องรับผิดชอบต่อพ่อแม่ พี่น้อง และครอบครัวของตัวเอง” นักมานุษยวิทยาจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าว
ดร.นฤพนธ์ ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การแต่งงานของคนในสมัยก่อน ลูกสาวคนโตคือผู้ได้รับมรดกจากพ่อแม่ ต้องครองเรือนอยู่ในครอบครัวพร้อมกับสร้างทายาท ขณะที่ลูกชายจะต้องออกไปอยู่บ้านผู้หญิง เพื่อไปเป็นลูกเขย และเป็นแรงงานให้กับบ้านพ่อตาแม่ยาย
“ด้วยความที่ครอบครัวในสังคมไทยมีความยืดหยุ่นสูง ในครอบครัวที่มีลูกหลายคน พี่น้องที่เป็นผู้ชายแต่มีจริตแบบผู้หญิง หากไม่แต่งงานออกเรือน เขาก็ยัง [อยู่บ้าน ทำงาน] ช่วยเหลือพ่อแม่ไป แต่หากเป็นกะเทยและแต่งงานกับผู้หญิงอื่น ก็ย้ายไปเป็นแรงงานให้กับบ้านพ่อตาแม่ยาย ก็คือยังต้องคงทำหน้าที่ของผู้ชายอยู่ แต่ก็พบว่าผู้ชายที่มีจริตเป็นผู้หญิงบางคนก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโสด อาจจะมีความสัมพันธ์กับชายคนอื่นในหมู่บ้านแบบลับ ๆ สนุกสนานกันไป แต่ไม่ได้คิดจะเปิดเผยเป็นคู่ผัวเมียแบบที่เราเข้าใจในยุคปัจจุบัน”
รายงานเรื่อง “ม้าขี่ปู๊เมีย: บทบาทของ LGBT ในพื้นที่พิธีกรรมล้านนา” ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ยังอธิบายความเชื่อเรื่องผีในสังคมล้านนาซึ่งมีผู้ทำพิธีกรรมเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศไว้ด้วย โดยพบว่าร่างทรงซึ่งเรียกว่า “ม้าขี่” นั้น บางคนเป็นปู๊แม่หรือปู๊เมีย ซึ่งมักเป็นร่างทรงให้กับ “ผีเจ้านาย” อันหมายถึงผีที่เคยเป็นกษัตริย์หรือราชวงศ์ผู้เคยปกครองเมืองหรือแว่นแคว้นใด ๆ มาก่อน และคอยคุ้มครองผู้คนที่ทำความเคารพนับถือ หลังตายไปแล้วกลายเป็นผี
ในบทความดังกล่าวระบุว่า สาเหตุที่ผีเจ้านายเลือกปู๊แม่เป็นร่างทรง มาจากความเชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่มีปัญหาเรื่องประจำเดือน สามารถดูแลเครื่องแต่งกาย หอผี ให้สวยงามสะอาดได้เหมือนผู้หญิง แต่ม้าขี่จำนวนหนึ่งก็รู้สึกว่าผู้คนเคารพผีเจ้านายที่เข้าทรงพวกเขา หาใช่เคารพปู๊แม่ในฐานะบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
แต่กระนั้น การมีอยู่ของปู๊เมียที่เป็นร่างทรงเช่นนี้ ก็เป็นการเปิดพื้นที่ทางเพศสภาพให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศผ่านวิถีความเชื่อโบราณได้อย่างแนบเนียน และไม่สร้างความตะขิดตะขวงใจให้กับผู้นับถือผีเจ้านาย
ปัจจัยทางวัฒนธรรม: พื้นที่เปิดของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในกิจการด้านการมหรสพ
นักมานุษยวิทยาจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ กล่าวต่อว่า การแสดงละครพื้นบ้านและมหรสพคือหลักฐานหนึ่งที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยนั้นสามารถแสดงบทความข้ามเพศในที่สาธารณะได้อย่างอิสระมาก่อน
“ลิเก ละครนอก ละครชาตรี โนราห์ โขน เป็นพื้นที่เปิดที่ทำให้คนข้ามเพศได้เข้ามาแสดงบทบาท ผู้ชายสวมบทบาทเป็นผู้หญิง ผู้หญิงสวมบทบาทเป็นผู้ชาย มันเป็นศิลปะการแสดงอย่างหนึ่ง สังคมไม่มาตำหนิว่าแสดงแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้นะ พื้นที่ทางวัฒนธรรมในสังคมไทยจึงมีช่องทางให้คนที่ไม่ใช่ชายไม่ใช่หญิงได้มีโอกาสแสดงความสามารถ”
ดร.นฤพนธ์ เล่าต่อว่า พฤติกรรมรักเพศเดียวกัน (homosexuality) ในช่วงยุคสมัยรัชกาลที่ 6 – 7 (ประมาณทศวรรษที่ 1910-1930) จึงมักจะเกิดในขึ้นในพื้นที่การแสดง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เปิดเผยตัวตนและรสนิยมทางเพศได้มากที่สุด
“เขาสามารถแสดงตัวตนได้ชัดเจนมากเมื่ออยู่ในคณะละครนอก ละครใน ลิเก โขน ฯลฯ เพราะเขาใช้คนเพศเดียวกันมาเล่นละคร ตัวพระที่ใช้ผู้ชายเล่นก็ต้องเลือกรูปร่างหน้าตาผู้ชายที่มีลักษณะคล้ายผู้หญิง มีจริตจะก้านแบบผู้หญิงเพื่อรับบทตัวนางได้ แล้วพอแสดงละครเสร็จ เขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในคณะละครโดยมีเจ้าขุนมูลนายเป็นหัวหน้าคณะ
เจ้าขุนมูลนายก็คือคนในราชวงศ์ คือข้าราชการชั้นสูงที่ทำงานให้วัง พวกนั้นก็จะปกครองคณะละครของตัวเอง แล้วเจ้านายบางคนก็มีความสัมพันธ์กับนักแสดงละครของตัวเอง คือในตอนนั้นมันเป็นวัฒนธรรมแบบคนต้องมีสังกัดกับเจ้านาย ดังนั้น ผู้แสดงต่าง ๆ คุณก็อยู่ในสังคมของคุณไป แล้วจะมีความรักอะไรกับใครมันก็เรื่องของคุณ”
พระยาพิพัฒน์โกษา (เซเลสติโน ซาเวียร์) แสดงเป็นนางรจนา เนื่องในการสมโภชเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปครั้งที่ 1 วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2440
แต่ในอีกแง่หนึ่ง ดูเหมือนว่าในช่วงเวลานั้นนักแสดงผู้ชายมีความได้เปรียบมากกว่านักแสดงผู้หญิงอยู่มาก จากข้อมูลในบทความเรื่อง การแสดงบทบาทข้ามเพศ: แนวคิดนอกกรอบเพศภาวะ และปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการข้ามเพศ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บทความดังกล่าวระบุว่า กฎมณเฑียรบาลห้ามไม่ให้สามัญชนมีคณะละครผู้หญิง แต่สงวนไว้สำหรับกษัตริย์เท่านั้น ดังนั้นจึงเกิดเป็นละครในซึ่งใช้ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน โดยพบว่าในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มีครูละครชื่อ ชุ่ม ซึ่งเป็นบุตรสาวของพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ที่มีชื่อเสียงจากการแสดงเป็นเจ้าเงาะจากเรื่องอิเหนาอย่างมาก แต่ก็ยังถูกลงโทษจากพฤติกรรมชอบแต่งกายเป็นผู้ชาย เนื่องจากค่านิยมในขณะนั้นมองว่าการแสดงออกทางเพศสภาวะโดยผู้หญิงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
ขณะที่ละครนอกมักแสดงบทที่เน้นความตลกขบขัน ภาษามีความโผงผาง ชัดเจน เน้นอารมณ์ หรือมีการตบตีแย่งชิงซึ่งดูไม่สำรวม นักแสดงจึงใช้ผู้ชายเป็นหลักเพื่อเล่นบทบาทต่าง ๆ เนื่องจากผู้หญิงในสมัยนั้นถูกกำหนดว่าต้องรักนวลสงวนตัวและสำรวมกิริยา ส่วนละครชาตรีซึ่งมีลักษณะเป็นละครเร่ ย้ายสถานที่การแสดงอยู่เสมอ การใช้นักแสดงผู้ชายจึงมีความคล่องตัวมากกว่า เช่นเดียวกันกับโขนที่ต้องแสดงการสู้รบ จึงมักใช้ทหารมหาดเล็กหรือกลุ่มข้าราชบริพารในราชสำนักมาแสดง
รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ รับบทเป็นนางสีดา
บทความดังกล่าวยังบอกด้วยว่า ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าการแสดงบทบาทข้ามเพศในมหรสพเหล่านั้นเป็นพื้นที่ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเสมอไป แต่มันอาจเป็นการแสดงศักยภาพของนักแสดงที่ต้องการทำให้เห็นว่าตนเองสามารถรับบทบาทใดก็ได้ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของนักแสดงเอง โดยยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ปี 2005 ที่กล่าวว่า “ขณะแสดงเป็นรจนา (ตัวนางจากเรื่องสังข์ทอง) ไม่ได้จำกัดตัวเองหรือรู้สึกตั้งใจในความรู้สึกว่า คิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แต่ตั้งความคิดเป็นนางรจนา”
หนึ่งในกฎกติกาใหม่ที่กำหนดขึ้นในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คือการแต่งกายให้ตรงเพศสภาพ
ยุคศิวิไลซ์ที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศกลายเป็นสิ่งผิดปกติ
ดร.นฤพนธ์ บอกว่า ราวปี 1937-1957 ซึ่งเป็นช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไทยนำแนวความคิดศิวิไลซ์แบบชาติตะวันตกมาใช้ หนึ่งในนั้นคือกติกาเรื่องการจัดระเบียบเพศสภาพ โดยทางรัฐบาลออกประกาศหลายฉบับที่กำหนดว่าชายและหญิงควรแต่งกายเช่นไรให้เป็นตะวันตก เช่น ชายสวมกางเกงขายาว ใส่เสื้อ สวมหมาก ส่วนผู้หญิงควรใส่กระโปรง สวมรองเท้า ไว้ผมยาว พร้อมกับบังคับว่าทั้งหญิงและชายไม่ควรนุ่งโจงกระเบน เป็นต้น
“ชื่อที่ตั้งให้ผู้หญิงก็ควรเป็นชื่อที่แสดงออกถึงความเป็นผู้หญิง ไม่ควรใช้ชื่อลักษณะเป็นชาย ส่วนผู้ชายก็ควรมีชื่อที่ตรงกับเพศสภาพ การแสดงต่าง ๆ ก็ควรใช้นักแสดงที่ตรงกับเพศกำเนิดมาเล่นเป็นตัวพระตัวนาง ไม่ควรใช้ผู้ชายเล่นเป็นตัวนาง หรือผู้หญิงเล่นเป็นตัวพระก็ไม่ได้ มันจึงเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ทำให้คนข้ามเพศที่เคยมีบทบาทในพื้นที่การแสดง ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น หากอยู่ในท้องถิ่นชนบทก็ยังพอแสดงได้ แต่ก็อยู่แบบตามมีตามเกิดเพราะรัฐไม่ได้สนับสนุน”
ราวปี 1957 (พ.ศ. 2500) เป็นต้นมา ไทยเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิดทุนนิยม และปฏิรูปประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าอิทธิพลของอเมริกันมีผลต่อการพัฒนาเมืองอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงมีการแปลตำราการเรียนการสอนมาจากตะวันตกมาใช้ในไทยเป็นจำนวนมากด้วย
“มีทฤษฎีหนึ่งของนักจิตวิทยาที่ระบุไว้ในตำราว่าพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ มันก็ถูกแปลแล้วนำไปสอนตามโรงเรียน พ่อแม่ก็สอนลูกว่าห้ามมีพฤติกรรมผิดเพศ ห้ามเบี่ยงเบนทางเพศ กะเทยเป็นจิตวิปริตผิดปกติ ต้องไปรักษา ต้องไปปรึกษาจิตแพทย์ ตำราพวกนี้มันถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปี 1957 เป็นต้นมา
ความคิดเหล่านี้มันมาทีหลัง ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้เรียกคนข้ามเพศว่าเป็นพวกปกติ อาจจะเรียกชื่อเขาไปเลย แล้วก็บอกว่าเขาเป็นนักแสดงในคณะละครนั้น คณะละครนี้ เราทุกคนก็ไม่ได้รังเกียจอะไร แต่การศึกษาสมัยใหมมันแปลทฤษฎีที่ค่อนข้าง discriminate (แบ่งแยก) จนเกิดการกีดกันทางเพศขึ้น ตำราเรียนเหล่านั้นมันใช้ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม มหาวิทยาลัย แม้แต่ในวิชาสุขศึกษาหรือวิชาหน้าที่พลเมืองก็ตอกย้ำซ้ำ ๆ ว่ากะเทยเป็นสิ่งผิดปกติทางเพศ” ดร.นฤพนธ์ ระบุ
ด้วยเหตุนี้ พ่อแม่ที่เติบโตมาในสมัยยุคจอมพล ป. จึงมีความคิดฝังหัวว่าผู้ชายกับผู้หญิงควรมีหน้าที่อะไร “ส่วนผู้ที่เกิดมาเป็นเพศกึ่ง ๆ กลาง ๆ สังคมจะไม่ยอมรับและดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งมันเป็นผลพวงจากวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ของจอมพล ป. ที่ชูลัทธิธรรมเนียมแบบทหาร และเอาความรู้แบบฝรั่งมาสนับสนุนความเป็นชายของรัฐบาล”
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2560 นี่เอง ที่ทางสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ปรับแก้แบบเรียนสุขศึกษาชั้น ป.1-ม.6 โดยกำหนดคำสำคัญ ความหมาย และเนื้อหาให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ. 2558 แต่ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่เกิดการรณรงค์จากภาคประชาสังคมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทย หลังพบว่าเนื้อหาในตำราเรียนมีเนื้อหาที่สร้างอคติทางเพศอย่างมาก
ดร.นฤพนธ์ แสดงทัศนะด้วยว่า สื่อมวลชนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำอคติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะสำนักข่าวหัวสีที่มักพาดหัวข่าวอาชญากรรมในทางหวือหวาและตอกย้ำว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นพวกวิกลจริตผิดปกติ
“ถ้าเกย์ กะเทย ทำคดีอะไรผิดกฎหมายขึ้นมาก็จะถูกตอกย้ำเรื่องเพศสภาพเข้าไปอีก” ดร.นฤพนธ์ บอก “สื่อกระแสหลักมักจะเลือกตีตราไปเลยว่าเนี่ยมันเป็นคนผิดปกติ เบี่ยงเบนทางเพศ เลยมีจิตใจเหี้ยมโหด หรือจิตใจก้าวร้าวรุนแรงกว่าปกติ ซึ่งมันเป็นการผลิตซ้ำความรู้สึกหวาดกลัวพฤติกรรมข้ามเพศ ทั้งที่มันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย”
“สมรสเท่าเทียม” ชัยชนะที่ยังเผชิญความท้าทาย
ในช่วง 10 ปีให้หลังนี้เองที่สังคมไทยมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเรียกร้องให้ขจัดการกีดกันและอคติทางเพศด้วย โดยได้ลมใต้ปีกจากกระแสการเคลื่อนไหวด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศในระดับโลก (International LGBT Movement) ช่วงทศวรรษ 2000 ที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ พร้อมกัน
แต่นักวิชาการจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ยุคจอมพล ป. เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ระยะเวลารวมกันมากกว่า 80 ปีนั้น ไทยมีรัฐบาลจากพลเรือนน้อยมาก ผู้นำเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย และส่วนใหญ่เป็นทหารหรือตำรวจ ซึ่งเขามองว่าการเมืองไทยถูกครอบงำโดยผู้ชาย (male domination) สูงมาก
“แล้วเป็น male (ชาย) แบบรักต่างเพศด้วย เชื่อมั่นในความแข็งแกร่ง เป็นสุภาพบุรุษซึ่งเป็นมายาคติที่เชื่อว่าชายชาติทหารต้องไม่ร้องไห้ ไม่อ่อนแอ ไม่ตุ้งติ้ง ไม่ทำงานอย่างที่ผู้หญิงทำ ผู้ชายต้องอยู่สนามรบ กล้าหาญ ทำงานที่แสดงความบึกบึน อดทน ซึ่ง 80 ปีนี้มันถูกครอบด้วยอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่มาอย่างยาวนาน”
“ถึงแม้ประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก แต่เรากลับถูก colonized (ทำให้เป็นอาณานิคม) ทางความคิดแบบอำนาจนิยมทหาร และการศึกษาที่ผลิตตำราเรื่องทฤษฎีเบี่ยงเบนทางเพศซึ่งเรารับมาจากเจ้าอาณานิคม ดังนั้นช่วง 80 ปี เราก็อยู่ในลัทธิอาณานิคมแฝงมาโดยตลอด เราจึงไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะผู้มีอำนาจในสังคมได้ตอกย้ำอคติทางเพศมานานถึง 80 ปี”
นักเคลื่อนไหวจากชุมชน LGBTQ ร่วมเฉลิมฉลองหลังจากการลงมติขั้นสุดท้ายของวุฒิสภาต่อร่างกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกัน ณ รัฐสภาไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567
เขาจึงมองว่าการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยนั้น เป็นชัยชนะของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยก็จริง แต่สิ่งนี้ไม่ได้การันตีว่าครอบครัวและสังคมจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะแนวคิดที่ถูกฝังมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. ยังไม่ได้หายไป และไม่ใช่ทุกครอบครัวที่เลี้ยงลูกโดยให้เสรีภาพทางเพศอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง
“พ่อแม่บางคนก็ต้องการเลี้ยงลูกให้ตรงตามเพศกำเนิด ทั้งที่เด็กผู้หญิงคนนั้นอาจจะชอบเพศเดียวกันก็ได้ แต่พ่อแม่ไม่เคยเปิดเสรีภาพหรือถามลูกเลยว่าอยากใส่กระโปรงไหม เห็นเป็นผู้หญิงก็ใส่กระโปรงให้แล้ว ดังนั้นการที่พ่อแม่เลี้ยงลูกให้อยู่ใน norm (แบบแผน) หญิงชาย มันเป็นอำนาจที่พ่อแม่ใช้โดยไม่ได้ไตร่ตรอง จับยัดให้ลูกเป็นไปตามจินตนาการความเป็นหญิงความเป็นชายอย่างที่สังคมขีดไว้
อย่างประเทศในตะวันตกหลายประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมานาน 10-20 ปี เราก็ยังเห็นการ discriminate (กีดกัน) เยาวชนซึ่งเป็นแอลจีบีที (LGBT) ในโรงเรียนเยอะมาก โดนบุลลี่หรือโดนรังแก เพราะฉะนั้นกฎหมายมันไม่ได้การันตีสิทธิเสรีภาพในชีวิตประจำวันจริง ๆ”
ผลสำรวจบอกว่าชาวเจนมิลเลนเนียลส์ (Gen Millennials หรือผู้ที่เกิดปี 1981-1996) ซึ่งเป็นบุตรของพ่อแม่ที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ถูกทำให้เป็นสมัยใหม่ในยุคจอมพล ป. รู้สึกมีความหวังกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมมากที่สุด
ผลสำรวจของบริษัท ยูโกฟ (ประเทศไทย) เผยว่า ชาวไทยส่วนใหญ่ราว 64% มีทัศนคติเชิงบวกต่อร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมที่เพิ่งผ่านวุฒิสภา โดย 32% รู้สึกมีความสุข และ 18% รู้สึกภาคภูมิใจ ขณะที่ 14% รู้สึกมีความหวัง
ยูโกฟเป็นบริษัทวิจัยการตลาด และได้ดำเนินการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 18-23 ก.ค. ที่ผ่านมา ในกลุ่มตัวอย่างชาวไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,055 คน
จากการสำรวจยังพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนสมรสเท่าเทียม แต่กลุ่มผู้หญิงให้ความสนับสนุนมากกว่ากลุ่มผู้ชาย กลุ่มเจนซี (Gen Z หรือ ผู้ที่เกิดปี 1997-2012) รู้สึกมีความสุขและภาคภูมิใจ ส่วนชาวเจนมิลเลนเนียลส์ (Gen Millennials หรือผู้ที่เกิดปี 1981-1996) ซึ่งเป็นบุตรของพ่อแม่ที่เติบโตมาจากครอบครัวที่ถูกทำให้เป็นสมัยใหม่ในยุคจอมพล ป. รู้สึกมีความหวังกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมมากที่สุด
ผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าประโยชน์ที่รับรู้ได้มากที่สุดของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือการเข้าถึงสิทธิทางกฎหมาย เช่น สิทธิในการรับมรดกและการลดหย่อนภาษีสำหรับคู่สมรส แต่มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เชื่อว่าร่างกฎหมายนี้จะนำไปสู่การยอมรับจากสังคมมากขึ้น
Cr: BBC