Sisterhood

กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงทั้งในวงการแพทย์ และสังคมของทวีปยุโรปอย่างมาก ภายหลังเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา สูตินรีแพทย์รายหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสถูกระงับใบอนุญาตเป็นเวลา 1 เดือน และทำทัณฑ์บนเป็นเวลา 5 เดือน เนื่องจากเมื่อปี 2566 เขาได้ปฏิเสธการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นสตรีข้ามเพศ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความเชี่ยวชาญพอในการตรวจวินิจฉัยช่องคลอดที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ (Neo Vagina) ให้กับสตรีข้ามเพศ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างเป็นข้อถกเถียงขึ้นมาในสังคมฝรั่งเศส ซึ่งฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติของแพทย์ และยิ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้นในสังคม ขณะที่อีกฝ่าย ระบุว่าเหตุผลของแพทย์อาจจะเพียงพอ เพราะแพทย์อาจไม่มีความเชี่ยวชาญพอที่จะตรวจภายในของสตรีข้ามเพศ ซึ่งได้รับการผ่าตัดแปลงเพศมาจากกระบวนการทางการแพทย์

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ รวมถึงไทยเองก็เช่นกัน แต่อาจจะไม่เข้นข้นมากนัก เพราะในเดือน ก.พ. ของปีที่แล้ว ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำ “แนวทางการตรวจช่องคลอดที่สร้างขึ้นใหม่” เพื่อให้สูตินรีแพทย์ในประเทศไทยใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับดูแลสุขภาพของบุคคลข้ามเพศสำหรับสูตินรีแพทย์

เหตุผลสำคัญในการจัดทำแนวทางการตรวจช่องคลอดที่สร้างขึ้นใหม่ขึ้นมานี้ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ระบุว่า เป็นเพราะช่องคลอดที่สร้างขึ้นใหม่จะมีความแตกต่างบางประการในการตรวจอันมาจากวิธีการผ่าตัด และเนื้อเยื่อที่ใช้สร้างช่องคลอดใหม่ แต่โดยรวมแล้ว แนวปฏิบัติการตรวจ ก็จะคล้ายกับการตรวจช่องคลอดตามปกติ

ส่วนจุดสำคัญของแนวปฏิบัติ การตรวจช่องคลอดที่สร้างขึ้นใหม่ แบ่งกระบวนการออกเป็น 6 ขั้นตอน ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมการ และหลังการตรวจ มีดังนี้

1. การเตรียมตัวและการขอความยินยอม

  • ให้ความเป็นส่วนตัวและความสบาย ตรวจในสถานที่ที่เป็นส่วนตัวและอธิบายขั้นตอนต่างๆ ให้ผู้ป่วยเข้าใจ
  • อธิบายเหตุผลที่ต้องตรวจและขอความยินยอมก่อนเริ่มการตรวจ ควรมีความระมัดระวังและใส่ใจในความรู้สึกของผู้ป่วย
  • ซักประวัติทางการแพทย์ ตรวจสอบประวัติการผ่าตัด (เช่น วิธีการผ่าตัดแปลงเพศที่ใช้—การกลับหนังองคชาติ, การใช้เยื่อบุช่องท้อง, การใช้ลำไส้ใหญ่ส่วนซิกมอยด์) รวมถึงภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดและอาการปัจจุบัน (เช่น ตกขาว, มีเลือดออก, ปวด)

2. การตรวจด้วยตาเปล่า

  • ตรวจบริเวณฝีเย็บ ตรวจลักษณะภายนอกของช่องคลอดที่สร้างขึ้นใหม่ รวมถึงแคมนอก แคมใน คลิตอริส (หากสร้าง) และฝีเย็บ
  • สังเกตภาวะแทรกซ้อน มองหาสัญญาณของการติดเชื้อ เนื้อเยื่อที่เป็นแผล (granulation tissue) การเกิดรูทะลุ (fistulas) การตีบแคบ (stenosis) หรือการระคายเคืองของผิวหนัง
  • เนื้อเยื่อแผลเป็น สังเกตการเกิดแผลเป็นหนา (hypertrophic scars) หรือแผลเป็นนูน (keloids)

3. การตรวจด้วยเครื่องมือ (Speculum) ในกรณีที่มีความจำเป็น

  • ใช้สารหล่อลื่นและเพิ่มความสบาย ใช้สเปคูลัมที่ทาสารหล่อลื่นอย่างเพียงพอ และพิจารณาใช้ขนาดเล็กลงหากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บหรือกังวล
  • การสอดใส่ สอดสเปคูลัมอย่างนุ่มนวล โดยสังเกตความลึก (ซึ่งอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวิธีผ่าตัด) ช่องคลอดที่สร้างจากหนังองคชาติหรือถุงอัณฑะอาจตื้นกว่าช่องคลอดที่สร้างจากเนื้อเยื่อลำไส้
  • การตรวจภายใน ตรวจดูผนังช่องคลอดว่ามีเนื้อเยื่อที่เป็นแผล (granulation tissue) แผลเปิด หรือมีตกขาวผิดปกติหรือไม่

4. การตรวจทางทวารหนักร่วมกับการตรวจช่องคลอด (Bimanual Examination)

  • ในหลายกรณีอาจไม่สามารถตรวจแบบ bimanual ได้ตามปกติหากช่องคลอดที่สร้างขึ้นใหม่มีความตื้นหรือไม่มีปากมดลูก อย่างไรก็ตาม ยังสามารถคลำผนังช่องคลอดเพื่อตรวจหาความรู้สึกเจ็บ ตุ่มก้อน หรือความผิดปกติอื่นๆ ได้

5. ข้อควรพิจารณาเพิ่มเติม

  • การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องตรวจ Pap smear เว้นแต่ช่องคลอดที่สร้างขึ้นใหม่จะใช้เนื้อเยื่อที่มีความเสี่ยงต่อ HPV (เช่น เยื่อบุลำไส้) หรือมีการเก็บปากมดลูกไว้
  • การใช้เครื่องมือขยายช่องคลอด (Dilator) ถามผู้ป่วยว่ามีการใช้เครื่องขยายช่องคลอดหรือไม่ เพราะหากไม่ได้ใช้เป็นประจำอาจทำให้ช่องคลอดแคบลง (neovaginal stenosis)

6. หลังการตรวจ

  • อธิบายผลการตรวจ พูดคุยเกี่ยวกับผลการตรวจอย่างละเอียดและอ่อนโยน และหารือเกี่ยวกับการรักษาหรือการติดตามผลถ้าจำเป็น
  • การดูแลต่อเนื่อง หากจำเป็นอาจแนะนำให้พบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (เช่น แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะหรือผู้เชี่ยวชาญด้านอุ้งเชิงกราน)

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวของราชวิทยาลัยสูตนรีแพทย์ฯ ยังกล่าวถึงประเด็นที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดแปลงเพศ ที่มักจะพบบ่อย ได้แก่ การตีบแคบของช่องคลอดที่สร้างขึ้นใหม่ (Neovaginal Stenosis) เนื้อเยื่อที่เป็นแผล (Granulation Tissue) ซึ่งมักปรากฏเป็นเนื้อเยื่อสีแดงและเปราะบางที่มีแนวโน้มจะมีเลือดออก รูทะลุ (Fistulas) หรือการเกิดรูเชื่อมต่อผิดปกติระหว่างช่องคลอดกับอวัยวะอื่น และการติดเชื้อ เช่น ตกขาวผิดปกติ กลิ่นไม่พึงประสงค์ หรือการระคายเคือง

CR.thecoverage