นักรณรงค์สุขภาวะคนข้ามเพศ เผยข้อคิดเห็นสิทธิบัตรทอง “ผ่าตัดแปลงเพศ” ยังไม่ชัดเจนเรื่องระบบรองรับ นโยบายสู่ผู้ปฏิบัติงาน และขอให้ใช้คำ “กลุ่มคนข้ามเพศ” เนื่องจากกลุ่มหลากหลายทางเพศไม่ได้ต้องการแปลงเพศทุกคน แนะทำแพคเกจครอบคลุมเรื่องของสุขภาวะมีเพศตรงกับจิตใจมากที่สุด และการดูแลสุขภาวะหลังข้ามเพศ
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม “ณชเล บุญญาภิสมภาร” นักรณรงค์สุขภาวะของคนข้ามเพศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สิทธิบัตรทองครอบคลุมการผ่าตัดแปลงเพศ หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สามารถเบิกจ่ายได้ โดยจะมีการออกแพคเกจเร็วๆ นี้ ว่า รู้สึกว่าเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน เพราะเท่าที่ติดตามข่าวการให้สัมภาษณ์ของ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. บอกว่ามีเคสที่เคยเบิกจ่าย 1 ราย รู้สึกว่าทั้งที่ทำได้แต่ยังไม่มีใครทำ มองว่าอาจจะยังไม่มีระบบรองรับ หรือไม่ชัดเจนเรื่องนโยบายสู่ผู้ปฏิบัติงาน อีกเรื่องที่ค่อนข้างกังวล คือ การเสนอข่าวบอกเป็นสิทธิสำหรับคนหลากหลายทางเพศ จริงๆ อยากให้มองลึกกว่านั้น คือ อยากให้ระบุชัดเจนว่า เป็นกลุ่มคนข้ามเพศ เพราะกลุ่มคนหลากหลายทางเพศนั้นไม่ได้ต้องการที่จะแปลงเพศทั้งหมด
"จากการทำงานร่วมกับ สสส. สิ่งที่สื่อสารผ่านสังคมตลอด คือ สุขภาพสุขภาวะเกี่ยวกับการข้ามเพศมีความจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนข้ามเพศ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การมีสิทธิตรงนี้ ไม่ใช่สิทธิพิเศษ ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม อย่างการผ่าตัดแปลงเพศ การใช้ฮอร์โมน ก็จำเป็นเพราะส่งผลต่อคนๆ หนึ่งที่ร่างกายไม่ตรงกับเพศสำนึก เป็นการช่วยให้เข้าใกล้ร่างกายที่ตนรู้สึกพึงพอใจ ก็จะส่งผลให้คนนั้นมีสุขภาวะที่ดี เรื่องกาย จิตใจ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและสังคม เป็นการให้คนๆ หนึ่งมีสุขภาวะที่ไปไกลกว่าเรื่องสุขภาพกาย" ณชเลกล่าว
ขอนิยามผ่าตัดแปลงเพศให้ชัด!
ณชเลกล่าวอีกว่า จริงๆ นิยามที่ใช้เรื่องการผ่าตัดแปลงเพศคือ การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศ (Gender Afferming care) เรื่องที่กังวลคือ การข้ามเพศเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ไม่ใช่การทำครั้งเดียวแล้วจบ แต่สิทธิประโยชน์จะมีความครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน มีขอบเขตอย่างไร อย่างบางคนอยากทำแค่หน้าอกอย่างเดียว บางคนอยากทำหน้าอก อยากแปลงเพศ ฯลฯ จึงอยากให้ออกแบบชุดบริการหรือแพคเกจที่มีความครอบคลุม อย่างต่างประเทศการผ่าตัดยืนยันเพศจะครอบคลุมทั้งหมดตั้งแต่หัวจรดเท้า ออกแบบให้ครอบคลุมถึงคนๆ หนึ่งที่มีสุขภาวะที่ดี ซึ่งเรื่องนี้หลายคนจะไม่ค่อยเข้าใจ คิดว่าเป็นเรื่องสวยงามถึงไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าเราสามารถเปลี่ยนให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญว่า ไม่ใช่เรื่องความสวยงาม แต่เป็นเรื่องของคนๆ หนึ่งที่จะมีสุขภาวะที่ดีได้จริงๆ
ถามว่าผลกระทบจากการที่เพศสภาพไม่ตรงกับจิตใจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพกายสุขภาพจิตหรือการใช้ชีวิตอย่างไร ณชเล กล่าวว่า อยากยกตัวอย่างในเรื่องของการใช้ฮอร์โมน ตรงนี้ถูกผลักเป็นภาระให้ผู้ใช้ฮอร์โมนต้องมาศึกษาหาข้อมูล ถามรุ่นพี่ที่ใช้เป็นการถามปากต่อปาก แล้วไปซื้อยาเองที่เภสัชกร ไม่มีตัวระบบบริการที่ชัดเจน แล้วก็มีความกังวลที่จะเดินเข้าไปหาผู้ให้บริการตาม รพ. ก็ถูกตั้งคำถามในเชิงของความไม่เข้าใจ ทำไมถึงอยากเทคฮอร์โมนจะทำให้เป็นมะเร็ง หรือจะไม่ฉีดยาให้ จึงรู้สึกว่า ถ้า สปสช.มีนโยบายชัดเจน จัดชุดบริการที่ครอบคลุม จะทำให้ผู้จัดบริการ หมอ พยาบาล เรียนรู้เพิ่มทักษะตัวเอง ปรับทัศนคติการรับบริการที่มีความเป็นมิตรหรือเป็นบวก คนกลุ่มข้ามเพศก็จะกล้าเข้ารับบริการที่จะปลอดภัยและมีคุณภาพ รวมถึงผู้ที่มาใช้บริการในกลุ่มหลากหลายทางเพศอื่นๆ ก็จะเกิดผลประโยชน์ร่วมกัน
ชงชุดบริการข้ามเพศที่ชัดเจน และการขยายบริการที่ครอบคลุม
ถามต่อว่าสิทธิประโยชน์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ รพ.รัฐ ซึ่งมีคิวผ่าตัดหรือรับบริการเยอะและนานมาก สุดท้ายก็จะกลับไปรับบริการเสียเงินเองที่ รพ.เอกชนหรือไม่ ณชเลกล่าวว่า จริงๆ มองว่าสเต็ปแรกคือการมีชุดบริการที่ชัดเจน และสเต็ปต่อไปคือการขยายบริการ ซึ่งไทยเรามีแพทย์เก่ง ใครๆ ก็มาเพื่อผ่าตัดยืนยันเพศ ซึ่งตนมองว่าหากนโยบายเป็นจริง แน่นอนว่าภาครัฐมีการรอคิว ส่วนภาคเอกชนอาจจะไม่มีคิว หมอทำได้เลย จึงมองว่าสิทธิประโยชน์ตรงนี้ก็เป็นออปชั่นหรือทางเลือก การมีชุดบริการของ สปสช. ทำให้คนรายได้ต่ำ ไม่เคยคิดฝันว่าจะแปลงเพศได้ ที่ต้องออกเงินเองทุกบาททุกสตางค์ แต่รัฐช่วยครอบคลุมให้ดูแลเรื่องสุขภาพ มีสุขภาวะดีขึ้น ก็จะมีทางเลือกไปต่อคิวขอรับบริการตรงนี้ รวมถึงเกิดความกระเตื้องในการปรับหรือเพิ่มทักษะการให้บริการมากขึ้น จาากที่การผ่าตัดแปลงเพศทำได้แค่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ๆ เช่น กทม. ก็จะกระตุ้นให้เกิดการขยายบริการเพิ่มมากขึ้นด้วย
"จริงๆ การมีชุดบริการถือเป็นเรื่องที่ดี คนมีทางเลือกมากขึ้น อย่างที่ผ่านมาจะไม่มีทางเลือก กะเทยจะไปแปลงเพศก็ต้องเก็บเงินทั้งชีวิตเพื่อแปลงเพศ เพื่อให้รู้สึกว่าตนเองสมบูรณ์พร้อม ไม่เหมือนที่คนอื่นสามารถจะไปซื้อบ้านซื้อรถพัฒนาตนเอง การที่มีชุดบริการก็จะทำให้คนเข้าถึงมากขึ้น แม้จะรอคิว ก็เป็นทางเลือก และมองว่าจะเกิดราคามาตรฐาน เพราะรัฐโอบอุ้มออกแบบ ราคาก็ถูกกว่าเอกชน ที่ผ่านมาไม่มีราคามาตรฐาน มีเงินมากก็เลือกไปหาหมอคนนั้นคนนี้ 1-3 แสนบาท เราไม่รู้เลยราคาและคุณภาพเป็นอย่างไร แต่เมื่อภาครัฐเข้ามาบอกชุดบริการมาตรฐาน ก็จะเกิดการปรับตัว ท้ายที่สุดคือเกิดทางเลือกให้คนๆ หนึ่ง" ณชเลกล่าว
ณชเลกล่าวอีกว่า กรมีสิทธิประโยชน์ทำให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่องด้วย อย่างที่เคยพูดคุยกับรุ่นพี่ที่แปลงเพศอายุ 40 ปีขึ้นไป จะพบว่า พวกเขาไม่เคยหาหมออีกเลย หลังแปลงเพศเสร็จก็จบ เพราะไม่รู้จะไปตรวจอะไรอย่างไรบ้าง เพราะไม่เคยมีชุดบริการมาก่อน ส่วนใหญ่มาแปลงที่ กทม. เสร็จกลับต่างจังหวัดและไม่เคยไปตรวจเลย แต่ถ้านโยบายเกิดขึ้นจริง เมื่อมีชุดบริการก็จะเกิด Health Literacy คนก็จะรอบรู้มากขึ้น และเข้าสู่ระบบบริการ คนเคยแปลงเพศรู้ว่าต้องไปหาหมอ มีบริการตรงนี้เข้าไปได้ คนรู้จักดูแลตนเองมากขึ้น จากที่ผ่านมาไม่รู้
เสนอสปสช.ควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องนี้เข้าร่วม
ถามว่าต้องฝาก สปสช.พิจารณาเรื่องใดหรือไม่ ณชเลกล่าวว่า การทำงานเพื่อออกแบบชุดบริการตรงนี้ หลายครั้งทำงานกับแค่หมอ ผู้ให้บริการ แต่คนที่เป็นผู้รับบริการไม่เคยมีส่วนร่วมในการออกแบบไม่ว่าจะนโยบายไหนก็ตาม ควรให้คนที่เป็นผู้รับผลประโยชน์หลัก หรือมีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ร่วมออกแบบ รับฟังความคิดเห็น จะทำให้นโยบายไม่ได้ถูกคิดแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้า สปสช.ดำเนินการเรื่องนี้ ควรมีกลไกรับฟังเสียงในชุมชนคนข้ามเพศ กลุ่มหลากหลายทางเพศ มาคิดออกแบบนโยบายตรงนี้ด้วย เพื่อเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ให้และรับบริการ
อ้างอิงจาก : hfocus