Sisterhood

การใช้ฮอร์โมนสามารถทำได้ทุกเพศ แต่สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) จะมากหน่อย ซึ่ง รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น นักแสดงและนักกีฬาวอลเลย์บอลมากความสามารถที่เพิ่งคว้ามงกุฏนางสาวเชียงใหม่ในดวงใจปี 2567 มาครอง ได้ออกมาเปิดเผยประสบการณ์ถึงเรื่องการเทคฮอร์โมนผ่าน “รายการ Rise & Shine สุขภาพดีเริ่มที่ตัวเรา” ว่า มีนะการใช้ฮอร์โมน เราเองก็มีช่วงที่อยากซอฟต์ แต่พอเราได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น เราเลยรู้ว่าสภาพร่างกายของเราไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาเทคฮอร์โมนจึงต้องปรึกษาแพทย์

คลายทุกข้อสงสัย “เทคฮอร์โมน” ผ่านประสบการณ์ “รัศมีแข”

การใช้ฮอร์โมนเองอันตรายมาก เพราะเวลาไปซื้อยาเอง เขาก็ไม่ได้มาถามเราว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง ไม่ว่ายาอะไรก็แล้วแต่ ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ มีผลเสมอ แนะนำเลยว่าคนที่จะเทคฮอร์โมน ให้ปรึกษาแพทย์จะดีกว่า ทำแล้วทำให้ดีไปเลยดีที่สุด 

คลายทุกข้อสงสัย “เทคฮอร์โมน” ผ่านประสบการณ์ “รัศมีแข”

โดย แพทย์หญิง นิดา เสรีฉันทฤกษ์ อายุรแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม คลินิก be YOURSELF service โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ออกมาให้อธิบายถึงการเทคฮอร์โมนให้เข้าใจเพิ่มเติมด้วยว่า เพราะอะไรถึงไม่ควรเทคฮอร์โมนเอง และคนที่อยากข้ามเพศควรเตรียมตัวอย่างไร

รู้จัก “ฮอร์โมนเพศ”

ก่อนอื่นเลยต้องรู้ก่อนว่า ฮอร์โมนเพศ แบ่งออกเป็น ฮอร์โมนเพศชาย “เทสโทสเทอโรน” (Testosterone Hormone) และ ฮอร์โมนเพศหญิง “เอสโตรเจน” (Estrogen Hormone) ซึ่งทั้งสองชนิดเป็นฮอร์โมนกลุ่มสเตรอรอยด์

ในร่างกายคนเราจะมีฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เหมือนกัน แต่ระดับอาจแตกต่างกันไปตามเพศ และมีสิ่งที่แตกต่างกันคือ

  • กลุ่มฮอร์โมนเพศหญิง จะทำให้มีการพัฒนาร่างกายจากเด็กผู้หญิงไปสู่หญิงสาว มีเต้านม มีประจำเดือน มีทรวดทรงองค์เอว หรือผิวพรรณที่เนียนขึ้น
  • กลุ่มฮอร์โมนเพศชาย จะทำให้มีการพัฒนาร่างกายจากเด็กผู้ชายไปสู่วัยหนุ่ม เสียงแตกทุ้มขึ้น มีหนวด และมีเครา

การเทคฮอร์โมนคืออะไร

การเทคฮอร์โมนคือ การปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายให้มีเพศสภาพตามที่ต้องการด้วยการนำฮอร์โมนเพศที่ไม่ตรงกับเพศของเราเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมักเป็นที่ต้องการในกลุ่มคนข้ามเพศ เพราะหลังจากเทคฮอร์โมน จะช่วยเปลี่ยนผู้ชายให้เป็นผู้หญิงมากขึ้น เช่น มีเต้านมขยายขึ้น สะโพกผาย เริ่มมีเอว และผิวพรรณดูนุ่มนวลมากขึ้น ขณะที่หนวดเคราก็เริ่มลดน้อยลง ในทางเดียวกันก็สามารถเปลี่ยนผู้หญิงให้เป็นผู้ชาย เริ่มมีหนวด มีเครา มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ รวมถึงประจำเดือนลดน้อยลงจนค่อยๆ หายไป

อายุเท่าไรถึงเทคฮอร์โมนได้

ในความจริงแล้ว คนที่ต้องการเทคฮอร์โมนจะต้องอายุ 18 ปีขึ้นไปถึงจะสามารถทำได้ แต่ถ้าอายุน้อยกว่านั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน

“เทคฮอร์โมนเองได้” เรื่องเข้าใจผิดอันดับแรกของการข้ามเพศ
 

มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับชนิดยาในการเทคฮอร์โมนกันเยอะ เพราะฮอร์โมนที่ใช้ในการข้ามเพศมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบรับประทาน แบบทาตัว และแบบแผ่นแปะ ซึ่งแต่ละคนจะเหมาะกับรูปแบบต่างๆ แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นผู้สนใจจะเทคฮอร์โมนควรจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ

อีกความเข้าใจผิดอันดับสอง คือเรื่องระดับยาฮอร์โมน ถ้าไม่ตรวจวัดระดับฮอร์โมนเลย ปล่อยให้เกินระดับจะส่งผลต่อสุขภาพ ดังนั้นหลังเทคฮอร์โมน ควรจะมีการตรวจเช็กสุขภาพเป็นระยะ เช่น ความดันโลหิต ไขมันในเลือด ค่าตับ หรือค่าไต เนื่องจากฮอร์โมนผู้ชายและฮอร์โมนผู้หญิงจะส่งผลแตกต่างกันออกไป

ไม่แนะนำให้เทคฮอร์โมนเอง เพราะฮอร์โมนหลายๆ ตัวไม่ได้เหมาะสำหรับการมาเทคเพื่อข้ามเพศ ในบางตัวกลับเพิ่มความเสี่ยงทางสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป 20 เท่าด้วยซ้ำ จึงไม่แนะนำให้ซื้อยามากินเอง 
การเตรียมตัวก่อนเทคฮอร์โมน

สิ่งที่จะต้องเตรียมตัวก่อนเทคฮอร์โมนเลยคือ

  1. ตรวจฮอร์โมนเพศในเลือด ควรตรวจก่อนว่าเรามีระดับฮอร์โมนเพศชายและเพศหญิงตั้งต้นเท่าไร
  2. เช็กสุขภาพก่อนว่าเรามีข้อห้ามอะไรในการใช้ฮอร์โมนหรือไม่ เช่น มีความเสี่ยงของหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจ ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม หรือผู้หญิงที่จะเทคฮอร์โมนก็ต้องเช็กด้วยมีการตั้งครรภ์หรือไม่

การปฏิบัติตัวหลังเทคฮอร์โมน

การปฏิบัติตัวหลังเทคฮอร์โมนจะไม่แตกต่างจากคนทั่วไป คือ ต้องรับประทานที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ลดอาหารหวานอาหารมันลง แล้วเลือกทานอาหารที่มีไขมันดีต่อร่างกาย เช่น เนื้อปลา ธัญพืช น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อเสริมมวลกระดูก

คลายทุกข้อสงสัย “เทคฮอร์โมน” ผ่านประสบการณ์ “รัศมีแข”

ขอบคุณข้อมูลจาก : pptvhd36