‘ยาฮอร์โมน’ จะเป็น ‘สิทธิประโยชน์’ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) หรือไม่ ดูจะเป็นประเด็นที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ กำลังรอความคืบหน้า
ภายหลัง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งทาง สปสช. ก็ไม่รอช้า รับลูกทันที ด้วยการส่งเรื่องต่อให้กับราชวิทยาลัยฯ ที่เกี่ยวข้อง ในการทำไกด์ไลน์การใช้ฮอร์โมนให้รอบด้าน ทั้งผลกระทบที่เกิดต่อร่างกาย ความคุ้มค่า รวมถึงเป็นไปได้ไหมที่ประชาชนกลุ่มอื่นๆ จะเข้าถึงฮอร์โมนได้ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ แม้จะต้องรอความชัดเจนไปอีกสักพัก แต่ก็ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ หรือกลุ่มที่ต้องการข้ามเพศ จากชายเป็นหญิง และจากหญิงเป็นชาย ซึ่งต้องพึ่งพาการใช้ฮอร์โมนอย่างมาก มองเห็น ‘แสงสว่าง’ เด่นชัดขึ้นมา ด้วยความหวังที่จะได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่ ‘จำเป็น’ และมีความปลอดภัย
เนื่องจากทุกวันนี้ หากจะ ‘เทคฮอร์โมน’ จะมีอยู่ 3 วิธีหลักๆ ด้วยกัน คือ 1. การกิน ซึ่งก็จะมีทั้งยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ และยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ เพื่อเอาสารฮอร์โมนในยานั้นมาใช้แทน เช่น โรคมะเร็งบางชนิด เป็นอาทิ
2. การฉีด โดยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือทางร้านค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นยาฮอร์โมนชนิดน้ำ ที่ส่วนใหญ่จะให้คลินิกเอกชนเป็นผู้ฉีดให้ และ 3. การทา หรือก็คือยาฮอร์โมนชนิดทา โดยส่วนใหญ่ทาบริเวณใต้ท้องแขน หรือบริเวณผิวหนังใต้รักแร้ อันเป็นจุดที่ยาซึมซับเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว อีกทั้งยาทาจะมีราคาแพงที่สุด
แต่สิ่งสำคัญ คือ ในบรรดาวิธีต่างๆ เหล่านี้ ส่วนของปริมาณ และชนิดฮอร์โมนที่ใช้ต่างมีผลต่อร่างกายและจิตใจแตกต่างกันไป รวมถึงยังมีกลุ่ม LGBTQ+ จำนวนไม่น้อยที่ใช้ฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศแบบผิดๆ ถูกๆ กันอยู่
โดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQ+ ที่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งบางคนมีการใช้ยาฮอร์โมนเกินขนาด แล้วมีผลระยะยาวกับร่างกาย โดยรุนแรงถึงขนาด ‘เส้นเลือดดำอุดตัน’ เลยก็มี หรือบางคนไม่รู้จักยาฮอร์โมน แต่เลือกใช้เพราะรุ่นพี่บอกต่อกันมา ก็กลายเป็นมีผลต่อร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ตลอดจนการใช้ชีวิตไปเลย
ประสบการณ์ของ ‘เอ’ หรือ ฉัตรชัย ใจบุญ สาวข้ามเพศ วัย 22 ปี ที่ตอนนี้เธอมีผมยาวสลวย รูปร่างผอมเพรียวบาง ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
เอ เริ่มต้นเล่าให้ “The Coverage” ฟัง ถึงการใช้ฮอร์โมนว่า ในช่วงเรียนปี 1 เป้าหมายของเธอคือ ต้องการทำให้ตัวเองได้มีฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย เพื่อให้เกิดความสวยงาม นุ่มนวลและมีความรู้สึกเหมือนกับเพศหญิง
“ตั้งใจไว้แล้วว่า พอเข้ามหาลัยแล้วจะเทคฮอร์โมน เพราะแม้ว่าตอน ม.ปลาย จะอยากกินแค่ไหน แต่ก็กลัวว่าจะมีผลกระทบต่ออารมณ์ ความคิด สมาธิในการเรียนและอ่านหนังสือ เพราะเป็นช่วงที่ต้องสอบเรียนต่อ และพอเข้ามหาลัยได้แล้ว ก็เริ่มเทคฮอร์โมนในทันที แต่ผลที่ได้รับกลับไม่เป็นอย่างที่คิด” เอ กล่าว
สำหรับวิธีที่ เอ เลือกใช้ในการเทคฮอร์โฮนคือ วิธีที่ 1 หรือการกินยากดฮอร์โมนเพศชาย และกินยาเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง ทุกวันๆ ละ 2 เม็ด โดยในช่วง 1 ปีจะต้องเว้นเพื่อให้ร่างกายพักบ้างสัก 2-3 เดือน แล้วก็กลับมากินใหม่
เธออธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองหลังจากนั้นให้พอเห็นภาพ ดังนี้
สัปดาห์แรก อารมณ์ความต้องการทางเพศหายไป แม้ว่าอวัยวะเพศจะปกติตามธรรมชาติ แต่ไม่มีความรู้สึกอยากจะมีเพศสัมพันธ์ หรือช่วยตัวเอง
สัปดาห์ต่อมา มีผลต่ออารมณ์ที่แปรปรวนมากกว่าเดิม รู้สึกว่าไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่นการเรียน ความฉุนเฉียวทางอารมณ์
สัปดาห์ที่สาม และต่อเนื่องมาสัปดาห์ที่สี่ ผลกระทบทางอารมณ์ก็ยังส่งผลมาต่อเนื่อง รวมถึงความต้องการทางเพศก็หายไปหมดเลยเช่นกัน
“เหมือนอารมณ์มันไม่ค่อยนิ่ง อะไรที่เราเคยจัดการได้ ก็ดันมาจัดการไม่ได้ มันมีผลกระทบต่ออารมณ์ และจิตใจมากเลย
“อีกอย่าง ก็กลัวผลกระทบกับร่างกายทั้งระยะสั้น และระยะยาว และต้องกินติดต่อกันเป็นเวลานานถึงจะเห็นผล ก็ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายประจำวัน” เอ ขยายความให้เห็นภาพชัดขึ้น
เอ บอกว่าถ้าเป็นเช่นนั้น การเรียนมีผลกระทบแน่ๆ และสำหรับตัวเองแล้วไม่คุ้มแน่นอนกับการเทคฮอร์โมนในช่วงวัยเรียน
“เราก็ตัดสินใจหยุดกินไว้ก่อน เพราะรู้สึกว่ามันมีผลกระทบมากเกินไป หยุดมาถึงตอนนี้เลย แต่ในอนาคตเมื่อทำงานแล้ว ก็คงจะกลับไปเทคฮอร์โมนอีกครั้ง” เธอ ระบุ
แน่นอนด้วยสิ่งๆ ต่างที่ เอ เจอกับตัวเองโดยตรงทำให้เธอมองว่าการพิจารณายาฮอร์โมนให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์จะมีความปลอดภัยในการใช้ฮอร์โมนมากขึ้น และเหมาะสมกับสภาพร่างกาย ทั้งปริมาณการใช้ อย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งองค์ความรู้การใช้ฮอร์โมนให้ถูกต้องสำคัญอย่างมากต่อคนที่ต้องการข้ามเพศ
“เท่าที่อยู่กับเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ LGBTQ+ หรือคนที่อยากข้ามเพศ จะกินฮอร์โมนตามอินฟลูเอนเซอร์ที่ดังบ้าง ไม่ดังบ้าง ออกมาแนะนำในโซเชี่ยลต่างๆ เช่น กินยายี่ห้อนี้ ขนาดเท่านี้ ควบคู่ไปกับยาตัวนี้ น้องๆ ที่ได้ดูก็เห็นว่าสวยจริง ก็กินตาม
“แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นยาที่ใช้สำหรับผู้ป่วยฮอร์โมนผิดปกติ ไม่ใช่ยาฮอร์โมนสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพศทางกาย หรือยาคุม มันก็เป็นการเทคฮอร์โมนที่ผิด ซึ่งหากมีระบบบริการที่ชัดเจน ก็จะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ทำให้เราเข้าใจการใช้ฮอร์โมนที่ถูกต้องกว่าที่เป็นอยู่” เอ ให้ความเห็น
เหล่านี้สอดคล้องกับ พีรพล (ขอสงวนนามสกุล) อีกเสียงบอกเล่าของผู้ที่ต้องการข้ามเพศจากชายเป็นหญิง ซึ่งเป็นอีกคนที่บอกกับ “The Coverage” ถึงการตัดสินใจใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อการข้ามเพศว่า เริ่มรู้ตัวว่าอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิดมาตั้งแต่สมัยยังเด็ก และเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดในการข้ามเพศ ตั้งแต่ขึ้นชั้น ม.2 โดยได้รับคำแนะนำมาจากรุ่นพี่ และเพื่อน เพื่อเติมเต็มความเป็นหญิงให้มากขึ้น
สิ่งที่ พีรพล คาดหวังจากการเทคฮอร์โมนด้วยวิธีนี้ก็คือการมีหน้าอก ไม่มีสิว หน้าไม่มัน แขนขาเล็ก และไม่มีกล้าม ซึ่งเธอเสริมขึ้นว่าแต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่มีเงินก็ไม่ทานต่อ หรืออย่างบางคนที่รู้จักก็จะเลือกทานยาคุมทั่วไปแทน ที่อาจไม่ได้ปลอดภัย หรือตอบโจทย์มากนัก แต่ก็เพราะไม่มีตัวเลือก
ส่วนของ พรีพล เองช่วงนั้นโรงเรียนที่เธอศึกษาอยู่ไม่ไกลจากแหล่งซื้อยานัก เธอจึงนำเงินส่วนหนึ่งที่เป็นค่าขนมไปซื้อยาคุมกำเนิดที่มีราคาราว 100 บาท ทุกๆ เดือน และเมื่อขึ้น ม.ปลาย ค่าขนมก็ได้มากขึ้น เธอจึงขยับไปหายาคุมที่ราคาสูงกว่า
“ยาที่กินอยู่ทุกวัน จะมียาฮอร์โมนกดเพศชาย ตกเม็ดละ 60-70 บาท แบ่งกินเป็น 4 ส่วน และอีกตัวคือยาเสริมฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นยาคุมกำเนิดหรือเปล่า แต่ก็เป็น 2 ตัวมาตรฐานที่เขากินกัน ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็อยู่ประมาณ 800-900 บาท ยอมรับว่ากินตามรุ่นพี่บอก และไม่เคยไปคุยกับหมอเลยว่าต้องกินยังไง” พีรพล กล่าว
มากไปกว่านั้น บางคนก็ทานเยอะจนมีผลกระทบต่อชีวิต เช่น เรียนรู้เรื่อง พูดไม่รู้เรื่อง อารมณ์แปรปรวน ฯลฯ ซึ่งเธอบอกว่าบางคนก็ทราบผลกระทบอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่อยากจะสวย และเหมือนผู้หญิงเหมือนคนอื่นจึงตัดสินใจทานต่อไป
พีรพล ย้ำ สิ่งที่สำคัญเหมือนกับ เอ ว่าหากยาฮอร์โมนกลายเป็นสิทธิประโยชน์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจำให้คนที่ต้องการข้ามเพศรู้ว่าต้องทานอย่างไรในปริมาณเท่าใด ไม่ใช่การทานแบบคิดเองเหมือนที่ตัวเองเคยผ่านมา
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 คนทั้ง พีรพล และ เอ ต่างชี้ชัดไปในทางเดียวกันว่าการเทคฮอร์โมนด้วยการกินยา หากไม่มีความรู้ความเข้าใจจะเกิดผลกระต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตใจมากขนาดไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ นพ.จักรภัทร บุญเรือง นักวิจัยจากสถาบันการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ย้ำเสมอตลอดการพูดคุยกับ “The Coverage” ว่า ถึงความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนของ LGBTQ+ เป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะแม้จะวิธีการซื้อยาตามสูตรต่างๆ มาผสมกินเองทำได้แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงผลกระทบต่อร่างกายระยะยาว
“เพราะยาคุมกำเนิดกับสารที่อยู่ในฮอร์โมนสำหรับข้ามเพศเป็นคนละตัวกัน ผู้หญิงที่กินยาคุมก็กินเป็นช่วงเวลาเท่านั้น แต่คนข้ามเพศต้องกินระยะยาว” นพ.จักรภัทร
แต่หากกินยาฮอร์โมนเพื่อใช้ในการข้ามเพศ ก็ยังอาจส่งผลข้างเคียงเช่นกัน อาทิ มีโอกาสที่ทำให้กระดูกบาง เกิดนิ่วในถุงน้ำดี ระบุ
นพ.จักรภัทร ให้ภาพด้วยว่า การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศนั้น ควรต้องได้รับคำแนะนำ และดุลยนิพินิจในการใช้ยาจากแพทย์ เพราะต้องพิจารณาการใช้อย่างเหมาะสม และถูกวิธี ซึ่งส่วนมากจะแนะนำกันในช่วงอายุประมาณ 16-18 ปี
กระนั้นก็ตาม ในมุมทางการแพทย์ นพ.จักรภัทร เห็นด้วยที่จะผลักดันให้ยาฮอร์โมน อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ นั่นเพราะจะทำให้กลุ่มคนที่ต้องการข้ามเพศได้เข้าถึงการใช้ฮอร์โมนอย่างถูกต้อง และเพื่อไม่ให้การใช้ฮอร์โมนต้องมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อ้างอิงจาก : thecoverage