
เดือนมิถุนายนของทุกปีเป็นเดือนแห่ง “Pride Month” ทั่วโลก เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์จลาจล Stonewall เกิดขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 เมื่อตำรวจนิวยอร์กบุกเข้าไปในบาร์ Stonewall Inn เพื่อจะจับกุมกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ นำไปสู่การประท้วงและปะทะกันอย่างรุนแรง นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันของ LGBTQ+ ทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกในเวลาต่อมา
ย้อนไปเมื่อช่วง ค.ศ. 1960 ค่านิยมของสังคมมีการกดขี่เรื่องเพศอย่างมาก ทุกคนต้องแสดงถึงความเป็นเพศหญิงและเพศชายเท่านั้น แต่มีสถานที่แห่งหนึ่งที่ชาว LGBTQ+ สามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้ อย่างสถานที่ ที่ชื่อว่า “Stonewall Inn”
ต่อมา ในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ได้เกิดจลาจลที่สโตนวอลล์ขึ้น เหตุการณ์นี้มีการประท้วงของสมาชิกชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อโต้ตอบการใช้ความรุนแรงของตำรวจที่บุกเข้าทลายสโตนวอลล์ จลาจลในครั้งนั้นมีผู้ถูกจับกุม 14 คน มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และกินเวลานานถึง 5 วัน หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไป 1 ปี ก็ได้มีการจัดขบวนพาเหรดเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นั้นขึ้นมา เพื่อรณรงค์ให้ผู้คนไม่อคติ และเรียกร้องสิทธิให้กับ LGBTQ+ ไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนในอดีตอีกต่อไป และนี่คือจุดเริ่มต้นของขบวนพาเหรด และเกิด Pride Month ขึ้น ซึ่งมีการจัดขึ้นทุกปีเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ และเป็นการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ให้ผู้คนตระหนักรู้เกี่ยวกับชาว LGBTQ+ อีกด้วย
ดังนั้น เดือนมิถุนายน จึงเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในความเป็น LGBTQ+ มีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และเดินขบวนพาเหรดมากมาย และมี “ธงสีรุ้ง” เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ความแตกต่างและหลากหลายของผู้คน
ไพรด์มีหลายรูปแบบ ทั้งการเดินขบวนคาร์นิวัล งานเสวนา อิเวนต์ต่างๆ ไปจนถึงการฉายภาพยนตร์และการโต้วาที ไพรด์ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่มคนที่ถูกจำกัดให้เป็นไปตามมาตรฐานของชายหรือหญิง โดยมีการจัดงานตลอดปีขึ้นอยู่กับสถานที่ ในทวีปอเมริกาและยุโรป เทศกาลมักจะเริ่มในเดือนมิถุนายน ในขณะที่แอฟริกาใต้มีเทศกาลไพรด์เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ไม่ว่าจะเป็นงานแบบใด ไพรด์เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มคน LGBTQ+ ออกมาแสดงว่ายอมรับในสิ่งที่เป็นและภูมิใจในตัวตนของตัวเอง
LGBTQ+ คืออะไร?
LGBTQ+ เป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะถึงแม้ว่าโลกใบนี้จะมีเพียงแค่สองเพศหากจำแนกตามสรีระ แต่ในความเป็นจริงมนุษย์มีเพศมากกว่านั้น อาจใช้คำเรียกว่า LGBT, LGBTQ หรือ LGBTQA แต่โดยรวมแล้วหมายถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยตัวอักษรเหล่านี้ย่อมาจากสมาชิกในกลุ่ม คือ
“L” Lesbian (เลสเบี้ยน) คือ ผู้หญิงที่มีรสนิยมชอบผู้หญิง
“G” Gay (เกย์) คือ ผู้ชายที่มีรสนิยมชอบผู้ชาย
“B” Bisexual (ไบเซ็กชวล) คือ คนที่มีรสนิยมสามารถชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
“T” Transgender (ทรานส์เจนเดอร์) คือ บุคคลข้ามเพศ ซึ่งมีทั้งผู้หญิงข้ามเพศมาจากผู้ชาย และผู้ชายที่ข้ามเพศมาจากผู้หญิง
“Q” Queer (เควียร์) เป็นคำเรียกกว้างๆ ของกลุ่มคนที่มีเพศลื่นไหล ไม่ได้จำกัดกรอบว่าตนจะต้องชอบเพศไหน
“+” สะท้อนและยกย่องความหลากหลายของรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ รวมทั้งลักษณะทางเพศ ซึ่งไม่ได้มีแค่เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ หรือเควียร์เท่านั้น เพราะคำว่า LGBTQ+ ครอบคลุมความหลากหลายทางเพศในทุกมิติ
สัญลักษณ์ LGBTQ+ ทำไมจึงเป็นสีรุ้ง
สีรุ้งได้ถูกนำมาใช้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQ+ อย่างแพร่หลาย โดยเห็นได้จากการเดินขบวนพาเหรดของกลุ่ม LGBTQ+ ในหลายประเทศทั่วโลก มักประดับประดาเครื่องแต่งกายด้วยสีรุ้ง หรือเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายนของทุกปีอันเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้คนต่างเปลี่ยนรูปโปรไฟล์บัญชีโซเชียลของตนให้มีสีรุ้งแทรกอยู่ อย่างที่เราทราบกันเป็นอย่างดีว่า LGBTQ+ นั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย และสีรุ้งเป็นการรวมตัวกันของหลายสีมาเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างสีสัน โดยสีรุ้งมีจุดเริ่มต้นมาจากการออกแบบธงสีรุ้งของ Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ในปี 1978 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากธงชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี ในปี 1976 โดยในแรกเริ่มธงนี้มีด้วยกันทั้งหมด 8 สี ได้แก่
- สีชมพู Hot pink มีความหมายสื่อถึงเรื่องเพศ
- สีแดง หมายถึง ชีวิต
- สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
- สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง
- สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
- สีฟ้า Turquoise หมายถึง เวทมนตร์
- สีน้ำเงินม่วง หมายถึง ความสามัคคี
- สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณอันแน่วแน่
ต่อมาภายหลังได้มีการลดจำนวนของสีบนธงลงเหลือเพียง 6 สี โดยได้ถอดสี Hot pink และสีฟ้า Turquoise ออก เนื่องจากเป็นสีที่มีความพิเศษ มีความยากต่อการผลิต และถึงแม้ว่าจะถูกลดทอนสีลงเหลือเพียงแค่ 6 แต่ความหมายของสีต่าง ๆ ก็ยังคงความหมายเป็นเช่นเดิม
ทำไมสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ จึงสำคัญ
การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในองค์การสหประชาชาติเกิดขึ้นจากนำหลักความเป็นสากลของสิทธิมนุษยชน (Principle of universality) และหลักการห้ามเลือกปฏิบัติ (Principle of non-discrimination) ที่มีอยู่ตามตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้ให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ การวางแนวทางดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเป็นพันธกรณีของรัฐสมาชิกที่จะต้องกำหนดมาตรการคุ้มครองกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศเหล่านั้นเข้าเป็นภาคี โดยพันธกรณีที่สำคัญประการหนึ่งคือ รัฐสมาชิกทั้งหลายมีหน้าที่สร้างหลักประกันความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจากการเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ในหลายประเทศจึงได้พยายามปรับใช้หลักการห้ามเลือกปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความคุ้มครองแก่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามระบบกฎหมายของแต่ละประเทศ (อารยา สุขสม, 2561, น. 92-93)
หลักความเสมอภาคหรือหลักความเท่าเทียมกัน ถือเป็นหลักการที่สำคัญซึ่งได้รับการรับรองในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายประเทศต่างๆ เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลัก “ความเสมอภาค” เป็นหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติให้การรับรองไว้นอกเหนือจากหลัก “สิทธิ” “เสรีภาพ” และ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หลักการนี้ได้รับการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 27 ว่า
มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคลฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
การยอมรับและปฏิบัติต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างถูกต้องและเท่าเทียม
ปัจจุบัน บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับ และโอบรับโดยสังคมมากขึ้น ดังนั้น บุคคลในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพหรือเพศวิถีใด จึงควรให้ความเคารพ และปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเช่นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง บนพื้นฐานของความเท่าเทียม และอีกหนึ่งแรงผลักดัน และกำลังใจสำคัญ คือ การเป็นที่ยอมรับจากสังคมรอบตัว และสมาชิกในครอบครัว ดังนั้น หากมีคนในครอบครัวเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ สมาชิกในครอบครัวควรทำความเข้าใจ และเรียนรู้แนวทางปฏิบัติ ดังนี้
- ไม่เปรียบเทียบเรื่องเพศของสมาชิกในครอบครัวกับใคร และควรส่งเสริมการรู้คุณค่าในตนเอง
- เพิ่มการสื่อสารในเชิงบวก พูดคุย เปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้บอกเล่าเรื่องราว
- ใส่ใจความรู้สึก ให้ความสำคัญ และชื่นชมในสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวทำได้
- สังเกตพฤติกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากอาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งทางร่างกาย และทางด้านจิตใจ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าตนเองรู้สึกแปลกแยกจากสังคม หรือมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง มีอาการซึมเศร้า เป็นต้น
- ปฏิบัติต่อบุคคลในครอบครัว โดยให้เกียรติความหลากหลายทางเพศ “ที่บุคคลนั้นเป็นผู้เลือก”
- เคารพสิทธิส่วนบุคคล ไม่ถามถึงรสนิยมทางเพศ ของสมาชิกในครอบครัว
- ไม่ตัดสินเพศวิถีจากรูปลักษณ์ภายนอก และการแสดงออกของสมาชิกในครอบครัว
Cr.cmcity