Sisterhood

ครั้งเดียว เปลี่ยนชีวิต..’การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ’ วันที่ควรเป็นสิทธิ ไม่ใช่แค่ความสวยงาม

เป็นก้าวแรก ที่กลายเป็นที่จับตาในประเด็นด้านสุขภาพ และสิทธิมนุษยชนอีกครั้ง เมื่อ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกมาเปิดเผยถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ผ่าตัดแปลงเพศในกลุ่ม LGBTQ+ เตรียมออกแพคเกจที่ครอบคลุมให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องผ่าตัด แต่ยังมีการให้คำปรึกษา และการใช้ฮอร์โมนต่างๆ

นพ.จเด็จให้ข้อมูลไว้ว่า ก่อนหน้านี้ แม้จะมีการบรรจุการผ่าตัดแปลงเพศอยู่ในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 แล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมา พบว่าโรงพยาบาลมีแต่การเบิกจ่ายในเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ กรณีบุคคลที่มีเพศกำกวมแต่กำเนิดเท่านั้น แต่ไม่เคยเบิกกรณีผ่าตัดกลุ่ม LGBTQ+ เข้ามา

ก้าวแรกที่สำคัญนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยจำนวนมาก เพราะ “การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ” หรือ Gender Affirmation Surgery เป็นสิ่งที่กำหนดชีวิตของใครหลายคน ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิพิเศษเพื่อความสวยงาม แต่เป็นการยืนยันร่างกายให้ตรงกับเพศสำนึก จึงถือเป็นสิทธิที่ทุกคนจะเลือกให้กับชีวิตตัวเองได้

ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของแพทยสภานั้น ผู้ที่ต้องการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ จะต้องดำเนินชีวิตในเพศที่ต้องการตลอด 24 ชั่วโมงมาอย่างน้อย 1 ปี ต้องได้รับฮอร์โมนข้ามเพศที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 1 ปีโดยการกำกับดูแลของแพทย์ และต้องได้รับการรับรองจากจิตแพทย์ อย่างน้อย 2 ราย

ทำให้การตัดสินใจครั้งใหญ่นี้ ไม่ใช่การตัดสินใจแบบปุบปับ แต่เป็นการไตร่ตรองเพื่อเริ่มต้นใหม่ในชีวิต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นที่ยอมรับในระดับโลก มี LGBTQ+ จากหลายประเทศเดินทางมาผ่าตัดที่ประเทศไทย แต่กลับกลายเป็นว่า คนไทยเองยังไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ เพราะ “ค่าใช้จ่าย” ที่มีราคาสูง กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ จากข้อมูลนั้น เฉพาะแค่การผ่าตัดแปลงเพศ มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่หลักแสนปลายๆ ใน รพ.ของรัฐบาล แต่ก็ต้องรอคิวนานนับปี ทำให้คนมักจะเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชน ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 300,000 บาทขึ้นไปแล้วแต่วิธีการผ่าตัด ยิ่งเป็นการผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศชาย ยิ่งพุ่งสูงถึง 500,000-600,000 บาท ใน รพ.ของรัฐ ยังไม่รวมถึงการผ่าตัดหน้าอก หรือการใช้ฮอร์โมน ที่เป็นค่าใช้จ่ายระยะยาวที่สูง

แล้ว “สิทธิ” เพื่อยืนยันเพศสภาพ ที่ประชาชนไทยควรจะเข้าถึง คืออะไรบ้าง มติชนออนไลน์ ชวน รีน่า จันทร์อำนวยสุข ผู้จัดการโครงการคลินิกแทนเจอรีน สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชเอไอวี (IHRI) คลินิกสุขภาพเฉพาะทางสำหรับคนข้ามเพศ ที่ให้บริการคนข้ามเพศ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การดูแลสุขภาพทางเพศโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และการใช้ฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศ บริการยาเพร็พและเป๊ป ซึ่งรู้ลึกในประเด็นคนข้ามเพศ มาเจาะในประเด็นดังกล่าว

รีน่า เปิดประเด็นในเรื่องดังกล่าวว่า จริงๆ ประเทศไทย ได้รับการกล่าวถึง เป็นที่ยอมรับระดับโลกว่าเป็นศูนย์กลางการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศ แต่ขณะเดียวกัน คนข้ามเพศประเทศไทยเข้าไม่ถึงสิทธิเหล่านี้ ต้องจ่ายเงินด้วยตัวเอง ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน สิทธิการยืนยันเพศสภาพและการผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ได้รับการรับรอง หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพของประเทศ การที่รัฐ โดย สปสช. ออกมาระบุถึงสิทธิในเรื่องนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่ดี ว่ารัฐให้ความสำคัญ ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมเคยมีข้อเรียกร้องไปที่ สปสช.เมื่อ 2 ปีก่อน สิ่งที่ สปสช.จะให้การสนับสนุนเป็นแพคเกจ ไม่ใช่แค่การผ่าตัดแปลงเพศ แต่มีการให้ฮอร์โมนเพื่อยืนยันเพศสภาพ บริการทางสุขภาพจิต หรือการให้คำปรึกษากับครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ตัดสินใจ “ผ่าตัดแปลงเพศ”

รีน่ากล่าวว่า การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพเพื่อสร้างอวัยวะเพศใหม่นี้ ถ้าเป็นคนไทย ต้องให้จิตแพทย์ 2 ราย วินิจฉัยและออกใบรับรองเพื่อยืนยันเพศสภาพ และต้องใช้ชีวิตแบบเพศสภาพนั้นๆ และผ่านการใช้ฮอร์โมนมาอย่างน้อย 1 ปี ถึงจะสามารถรับการผ่าตัดเพื่อสร้างอวัยวะเพศใหม่ และมีความพร้อมของร่างกาย คุณหมอจะดูว่าไม่มีโรคร่วม หรือการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่ทำให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ อาจมีผลข้างเคียง หรือโรคที่มีอยู่เดิม เพราะการผ่าตัดนี้ เป็นการผ่าตัดใหญ่ ไม่สามารถกลับไปมีอวัยวะเพศเดิมได้อีก ต้องเตรียมพร้อมสักพัก จากนั้นก็จะมีสหวิชาชีพ ส่งไปศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ อาจจะมีแบบตกแต่งและเสริมสร้าง ที่มาช่วยดู ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่ใครไปผ่าตัดที่ไหนก็ได้ เพราะจะได้เห็นจากข่าว อาจเกิดความผิดพลาด ผ่าแล้วไม่เป็นตามคาดหวัง หรือมีผลข้างเคียงตามมา

กว่าจะตัดสินใจผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพนี้ รีน่าบอกว่า เป็นความต้องการของบุคคล ที่จะยืนยันเจตจำนงของการเป็นตัวเอง การเข้ารับบริการทางการแพทย์ เป็นวิธีการหนึ่งในการยืนยันเพศสภาพของตัวเอง

“การยืนยันเพศสภาพ มี 3-4 มิติ คือ มิติทางการแพทย์ซึ่งรวมไปถึงการให้ฮอร์โมนและการผ่าตัด, ทางมิติทางกฎหมาย ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยทยังไม่มีกฎหมายรับรองเพศสภาพ บัตรประชาชาชนบ้านเราก็ยังไม่สามารถเลือกเพศสภาพที่ตนเองต้องการได้ และมิติสุดท้าย คือมิติทางสังคม อย่างบอกว่าหากเรามีเพศสภาพเป็นหญิง สังคมก็ควรเคารพในสิ่งที่บุคคลเลือกที่จะเป็น เรียกชื่อหรือสรรพนามที่สอดคล้องกับเพศสภาพที่ต้องการ ทั้งนี้ มีงานวิจัยทั้งในไทย และต่างประเทศ ว่าการสนับสนุนบริการสุขภาพในกลุ่ม LGBTQ+ รวมไปถึงฮอร์โมนและการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และสภาพจิตใจดีขึ้น ทำให้เค้ามีความสามารถในการแสดงศักยภาพได้เต็มที่ ซึ่งรัฐควรให้การสนับสนุน” รีน่ากล่าว

ผ่าแบบไหน ยอดฮิต

ปัจจุบัน การผ่าตัดแปลงเพศ ทำได้ด้วยหลายเทคนิควิธี อาทิ การผ่าตัดจากชายเป็นหญิงโดยสร้างจากอวัยวะเพศเดิม หรือเทคนิคการใช้ลำไส้ และการผ่าตัดโดยใช้เยื่อบุช่องท้องซึ่งถือเป็นเทคนิคใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยรีน่าให้ข้อมูลว่า การผ่าตัดปัจจุบันนี้ มีเทคนิคใหม่ๆ ในการผ่าตัดอวัยวะเพศไม่น้อย ใช้ลำไส้เป็นส่วนต่อขยาย ให้อวัยวะเพศมีความลึก มีเยื่อบุผนังช่องท้อง ทำให้มีความยืดหยุ่น ชุ่มชื้นมากกว่า ข้อดีคือไม่ต้องใช้แท่งโม หรือสารหล่อลื่น เพราะผนังช่องท้องมีเมือกคล้ายกับช่องคลอดผู้หญิง จะลดภาระในการดูแลให้กับผู้ได้รับการผ่าตัด เป็นเทคนิคใหม่แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูง เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงของหลายๆ คน

“ทำให้หลายๆ คนเข้าไม่ถึง บางคนต้องไปทำงานนอกระบบ รวมไปถึงอาชีพขายบริการที่ไม่ถูกรับรอง คุณภาพชีวิตก็ไม่ดี ต้องเก็บเงินหลายปีเพื่อไปผ่าตัด บางคนเลือกไปคลินิกเถื่อน หมอไม่ได้รับการรับรอง ก็เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา หากนโยบายนี้เกิดขึ้นจริง รัฐต้องควบคุมเพื่อให้การผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพเป็นมาตรฐาน ลดผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา” รีน่ากล่าว

รีน่ากล่าวด้วยว่า อย่างในคลินิกแทนเจอรีน ซึ่งเราเป็นคลินิกสุขภาพเฉพาะทางสำหรับคนข้ามเพศแบบครบวงจร มีคนรับบริการอยู่ 6,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นคลินิกคนข้ามเพศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย จากข้อมูลมีคนได้รับการผ่าตัดอวัยวะเพศแค่ 20% ที่เหลืออาจจะอยากผ่าตัดแต่ไม่มีเงิน เข้าไม่ถึงทรัพยากร อีกส่วนหนึ่งคือ เขาใช้ชีวิตแบบนี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการผ่าตัด หรือมีโรคประจำตัวซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผ่าตัดไม่ได้

“ค่าบริการโรงพยาบาลรัฐ นับได้ว่ามีราคาที่เข้าถึงได้มากหากเทียบกับเอกชน แต่ รพ.รัฐส่วนใหญ่ซึ่งเป็น รพ.มหาวิทยาลัย ต้องรอคิวนาน ก็ต้องแลกกัน บางคนรอ 2 ปี รอปีกว่า บางคนก็บอกว่ารอไม่ได้แล้ว ก็เก็บเงินเพิ่ม แต่บางคนมีเงินไม่มาก เพิ่งเรียนจบ ยอมอดมื้อกินมื้อ ทำงานหารายได้นอกระบบ ก็ส่งผลกระทบตามมา อีกทั้งเราเจอว่า หลายๆ ที่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ดูแลรักษาต่อในระยะยาว บางคนถือถุงฉี่มา ว่าไม่สามารถปัสสาวะได้ มันเกิดข้อผิดพลาดต่างๆ เขาไม่สามารถบอกได้ เจ้าหน้าที่คลินิกแทนเจอรีนก็ดูแลต่อ เรามีหมอที่ช่วยดูแลทางนี้ ช่วยแก้ไขไป”

สิทธิใดบ้าง ที่ LGBTQ+ ควรได้รับ

ด้วยเป็น 1 ในกลุ่มผู้ขับเคลื่อน และมีประสบการณ์ด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBTQ+ และได้ร่วมวงประชุมเสนอแผนเพื่อสุขภาพกับ สปสช.ในครั้งนี้ รีน่า ได้อธิบายสิทธิต่างๆ ที่ควรได้รับ เริ่มตั้งแต่

  1. การให้คำปรึกษา ที่ไม่ใช่แค่ ตัวของ LGBTQ+ แต่ยังรวมถึง พ่อแม่ ผู้ปกครอง คนในครอบครัว ว่าเขาจะดูแลกันอย่างไร ซึ่งจะสร้างการยอมรับได้ บางคนรู้นานแล้วแต่ยังไม่ตัดสินใจ หรือลึกๆ ก็รู้ว่าเป็นอีกเพศ แต่ถูกตีตรา ทำให้เขาไม่ได้แสดงอัตลักษณ์ทางเพศออกมา รวมไปถึงการให้คำปรึกษาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว การฝากไข่ การฝากอสุจิ การยุติการตั้งครรภ์ และสุขภาพในช่วงการใช้ฮอร์โมน
  2. ขั้นตอนการตรวจสุขภาพต่างๆ อาทิ การตรวจระดับฮอร์โมน การทำงานของตับ ไต ระดับโปรแลคติน ระดับโพแทสเซียม ความหนาแน่นของกระดูก โครโมโซม และการฝากเซลล์สืบพันธุ์ก่อนเริ่มให้ฮอร์โมน ไปจนถึงการตรวจภายในของนอนไบนารี่ และ Trans Masculine หลังใช้ Testosterone
  3. การให้ฮอร์โมน เพื่อยืนยันเพศสภาพ ซึ่งที่คลินิกแทนเจอรีน เป็นแห่งแรกที่ให้บริการฮอร์โมน มีการเจาะเลือด ตรวจระดับฮอร์โมน เพศชายและหญิงเพื่อยืนยันเพศสภาพ ที่เรามีให้บริการตรงนี้อยู่
  4. ศัลยกรรม ไม่ใช่แค่ที่อวัยวะเพศเท่านั้น แต่การผ่าตัดอื่นๆ ที่ร่วมด้วย ทั้งการปรับรูปหน้าให้เป็นผู้หญิงมากขึ้น, ผ่าตัดหน้าอก, ลูกกระเดือก ฝึกออกเสียง ที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญช่วยฝึกใช้เสียงใหม่, การศัลยกรรมทำสะโพกให้เป็นผู้หญิงมากขึ้น, หรือในการข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย ก็มีการผ่าตัดเอาหน้าอกออกของหญิง, การผ่าตัดสร้างอวัยวะเพศใหม่ ซึ่งมีกระบวนการซับซ้อนกว่า และมีการผ่าตัดซ้ำหลายรอบ นอกจากนี้ยังต้องมีการดูแลจิตใจที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
  5. การดูแลหลังผ่าตัด ต้องดูแลแผล กินยาต่อเนื่อง รักษาความสมดุลของฮอร์โมน เพราะการผ่าตัดจากชายเป็นหญิง บางคนไม่รู้ว่าเขาต้องกินฮอร์โมนต่อเนื่องตามไกด์ไลน์ เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน ไม่เช่นนั้น อายุเยอะไป อาจทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนได้ เหมือนเป็นวัยทองในเพศหญิง นอกจากนี้ยังมีองค์ความรู้อื่นๆ เช่น ต้องดูแลแผลอย่างไร ต้องโมอย่างไร หากเลือดออก หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่องคลอดใหม่ ที่ยังไม่กว้างขวางนัก ไปจนถึงการจะทำให้ถึงจุดสุดยอดได้อย่างไร เขาจะไม่รู้เลย เราควรจะพูดถึง Sexual Pleasure ว่าจะทำอย่างไรให้เสร็จ บางคนอาจไม่ได้มองว่าเรื่องนี้สำคัญ แต่เรื่องนี้ อาจเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ทรมานได้ หรือบางคนผ่าตัดแล้วช่องคลอดใหม่เกิดตีบตัน ไม่มั่นใจ ก็ต้องไปผ่าตัดใหม่ เจ็บตัวอีก เราควรมีสวัสดิการในการผ่าตัดแก้ไข จริงๆ แล้วไม่มีใครอยากผ่าตัดซ้ำ เจ็บซ้ำๆ

ทั้งหมดนี้ เป็นฟูลแพคเกจ ที่เราและเครือข่ายได้ทำข้อมูลส่งไปให้ทาง สปสช.ที่จะนำเข้าไปคุยกับคณะกรรมการต่อ ที่มองว่าเรื่องนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีจากรัฐบาล ที่มองว่าสิทธิในการยืนยันเพศสภาพ เป็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ออกมาประกาศหลายปีก่อนหน้านี้แล้วว่าการเป็นคนข้ามเพศ หรือ LGBTQ+ ไม่ได้ถือเป็นความผิดปกติทางจิตแต่อย่างใด แต่การให้บริการทางการแพทย์ ก็ยังมีความจำเป็นและจัดอยู่ในหมวดการสนับสนุนดูแลสุขภาพ เราไม่ได้ป่วย เราแค่อยากเป็นตัวตนของเรา”

ประเทศไหน มีสิทธิดังกล่าวแล้วบ้าง

รีน่าให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนี้มีหลายประเทศ ที่ให้ฮอร์โมนและผ่าตัดได้ตามสิทธิ อาทิ สหรัฐอเมริกา ในบางมลรัฐ ที่จัดอยู่ในแผนประกันสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีเนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และหลายประเทศในยุโรป อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ แต่ก็เจอปัญหารอคิวนาน ทำให้หลายคนบินมารับบริการที่ประเทศไทย แล้วให้ประกันมาครอบคลุมการเบิกจ่ายเอา เช่น ในเนเธอร์แลนด์ ครอบคลุม 60% ของการผ่าตัดอวัยวะเพศ สมมุติจ่าย 1 ล้าน รัฐจ่ายให้ 6 แสนบาท ก็ทำไปตามสิทธิ ไปรับบริการ

ซึ่งหาก สปสช.จะพัฒนาในด้านนี้ ก็อาจจะต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์ใหม่ๆ เพิ่มเติม และจัดระบบส่งต่อทางจากโรงพยาบาลที่ยังไม่มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ในระยะยาวอาจมีการให้บริการในทุกแห่ง รพ.อำเภอ ก็ควรจะทำได้

การข้ามเพศเป็นสิทธิ ชี้ชัด คนเท่ากัน

รีน่ากล่าวว่า หลังจากที่ข่าวการให้สิทธิ LGBTQ+ ในการให้บริการสุขภาพ ฮอร์โมน และการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศสภาพออกไป ก็มีการถกเถียงในโลกออนไลน์ อย่างการบอกว่า ทำไมรัฐจึงไม่ทำประเด็นสุขภาพอื่นๆ ก่อน ในเรื่องนี้ หากมองว่าเป็นสิทธิมนุษยชน ก็ควรได้รับความต้องการเช่นกัน เหมือนกับโรคเบาหวาน หากเป็นเราก็รักษากันไป ไม่ใช่ว่าคนข้ามเพศทุกคนจะอยากผ่าตัดแปลงเพศ แต่บริการสุขภาพต้องมีความครอบคลุม เท่าเทียม และเฉพาะตามแต่ความต้องการของบุคคลนั้นๆ

ผู้จัดการโครงการคลินิกแทนเจอรีนกล่าวต่อว่า หากมองในแง่งบประมาณ ไม่ใช่ทุกคนอยากจะผ่าตัด บางคนแฮปปี้กับการแค่กินยาฮอร์โมน หรือบางคนก็แค่อยากผ่าตัดหน้าอก สังคมต้องใจกว้าง และรับฟัง คนคนหนึ่งมีความต้องการที่หลากหลาย อย่ามองว่าเป็นศัลยกรรมเพื่อความงาม แต่เป็นเจตจำนงในการรับบริการสุขภาพ ทำให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น เราอยากเห็น LGBTQ+ ทำงานดี เป็นผู้นำภาคส่วนต่างๆ เราสามารถผลักดันได้เต็มที่ หากเปิดใจรับฟัง

สังคมควรมองว่ามันเป็นสิทธิเพื่อสุขภาพ เป็นการส่งเสริมสิทธิ LGBTQ+ สิ่งนี้ควรเกิดขึ้นเพื่อให้การยอมรับในนานาชาติ ไม่ใช่แค่มีตัวตน เปิดเผยตัวเองได้ในสถานที่เฉพาะต่างๆ แต่รัฐควรให้การยอมรับในด้านกฎหมายด้วย เพราะด้านสุขภาพก็เป็นเพียงแค่ส่วนเดียว ซึ่งการยอมรับจากสังคมที่ว่าคนเท่ากันนั้น เรารอมานานมาก” รีน่ากล่าวปิดท้าย

อ้างอิงจาก : มติชนออนไลน์