
สมรสเท่าเทียม’ หนุนเศรษฐกิจไทย นักวิเคราะห์ ยก‘ท่องเที่ยว - การแพทย์ - อสังหาริมทรัพย์ - หนัง’ เด่น เทรนด์ทั้งหมดต้องมองเป็นระยะยาว
หลังจากที่ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ของประเทศไทยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และมีกฎหมายนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสุขให้แก่ชาว LGBTQIAN+ เป็นอย่างมาก

นอกจาก ผลพวงที่ตามมาหลังจากการเปิดเสรีภาพทางเพศในประเทศไทย !! ภาพใหญ่อาจจะทำเกิด “การกระตุ้นทางเศรษฐกิจ” รวมถึง “การท่องเที่ยว” ได้มากยิ่งขึ้น
โดยรวบรวมมุมมองของเหล่า “นักวิเคราะห์” ต่างมองในทิศทางเดียวกันว่าช่วย “กระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “ภาคการท่องเที่ยว” ของประเทศไทยได้ในระยะยาว
ประโยชน์จากการสมรสเท่าเทียมที่เกิดขึ้น
“ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์” หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หลังจากที่มีกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" เกิดขึ้นในไทย และมีผลบังคับใช้แล้วมองว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จาก “กลุ่มท่องเที่ยว” แต่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นนโยบายด้านสังคม นั่นหมายความว่า ตามหลักการเกิดมาเพื่อลดเสียงต่อต้านของประชาชน ก็จะทำให้การเมืองดีขึ้นมีเสถียรภาพมากขึ้น
ขณะที่ในฝั่งของธุรกิจที่เป็นภาคใหญ่ มองว่า “กลุ่มทางการแพทย์” จะได้รับอานิสงส์บ้างเล็กน้อย แต่ทว่า กลุ่ม LGBTQ ชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง เป็นการสมรสเท่าเทียม
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่า หากมีการตั้งเป็นวันหยุดพิเศษระดับชาติ คล้ายๆ กับวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งในวันนั้นทุกภาคส่วนจะมีการจัดอีเวนต์ต่างๆ โดยหากทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีกิจกรรมเช่นนั้น ก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศในวันนั้นๆ ขึ้นมาได้
นอกจากนี้ กลุ่ม LGBTQIAN+ ยังช่วยส่งเสริม “อุตสาหกรรมภาพยนตร์” (หนัง) ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับ และฮอตฮิตมาก ๆ ในต่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยเองก็มี “ซีรีส์วาย” ที่เป็นซีรีส์แนวชายรักชาย และซีรีส์แนวหญิงรักหญิง หรือที่เรียกกันว่า “ยูริ” ดังนั้น ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเก่งมีฝีมือ และหลายคนชื่นชอบ ดังนั้น หากมีการทำออกมาเพิ่มขึ้น และมีการโปรโมตด้านนี้เพิ่มขึ้นก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำให้ช่วยส่งเสริม และกระตุ้นภาพเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว
ภาพรวมของกลุ่ม LGBTQ ต้องยอมรับว่า มีไม่กี่ประเทศที่เปิดเสรีเหมือนประเทศไทย
“ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของกลุ่ม LGBTQ ต้องยอมรับว่า มีไม่กี่ประเทศที่เปิดเสรีเหมือนประเทศไทย อาจจะกระตุ้นกลุ่มที่ต้องการสมรสเท่าเทียมเข้ามาในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้ามาพำนักอาศัยชั่วคราว หรือระยะสั้นเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย หรือมีการจัดอีเวนต์ ซึ่งถือว่าเป็นการดึงดูด “นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่” แม้ว่าจะมีจำนวนที่ไม่มาก แต่เป็นกลุ่มที่ประเทศไทยเปิดตัวในประเทศแรกๆ ที่ต้อนรับกลุ่มนี้
ดังนั้น จึงมองเป็นบวกในภาพระยะกลางมากกว่า ใน “กลุ่มท่องเที่ยว” และ “กลุ่มอสังหาริมทรัพย์” รวมถึงกลุ่มที่จูงใจให้คนเหล่านี้มาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากบ้านไม่เกี่ยงเรื่องเพศสภาพ ขณะที่ในบางประเทศจำกัด รวมถึง ESG ซึ่งบ้านเราสามารถรับได้หมด เมื่อเทียบกับสหรัฐ ที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้มีการลงนามไปไม่นานเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพสหรัฐว่า มีแค่ชายกับหญิงเท่านั้น จึงทำให้อาจเกิดจากจูงใจให้ผู้คนเหล่านี้ที่อยู่ในสหรัฐ ย้ายมาที่ประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันมอง “กลุ่มทางการแพทย์” ในส่วนของ “ศัลยแพทย์” จะได้จากจำนวนคนที่เข้ามามากขึ้น
“กรรณ์ หทัยศรัทธา” นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเสริมต่อไปว่า หลังจากที่กฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2568 มองเป็นกลางต่อการลงทุน แต่ถือว่าเป็น “เซนทิเมนต์เชิงบวก” กับ “Fundamental” ในกลุ่มท่องเที่ยวได้บ้างในทางจิตวิทยา ขณะที่ถ้ามองในระยะยาวอาจจะมีการย้ายฐานของ “ชาวต่างชาติ” เข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น เพราะมีไม่กี่ประเทศที่มีเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ หากมีต่างชาติที่เป็น LGBTQ เข้ามาที่ประเทศไทย กลุ่มที่จะได้ประโยชน์คือ จะมี “กลุ่มโรงแรม-กลุ่มร้านอาหาร-กลุ่มอสังหาฯ” หรืออสังหาฯให้เช่า แต่ยังเป็นภาพระยะยาวในช่วง 3-5 ปี โดยมองเป็นหุ้นที่จะได้รับประโยชน์คือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AP และ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH เป็นต้น
ขณะที่ กลุ่มการแพทย์ จะเป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะได้รับประโยชน์จากการฝาก “สเต็มเซลล์” หรือการฝากไข่ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่ม LGBTQ ไม่แน่ใจว่า แท้จริงแล้วยังอยากที่จะอยู่กันแค่ 2 คนหรือไม่ หรืออาจจะมีลูก แต่อย่างไรก็ตาม เทรนด์ทั้งหมดดังกล่าวล้วนยังต้องมองเป็นระยะยาว !!
CR.bangkokbiznews