Sisterhood

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว ณชเล บุญญาภิสมภาร, คาโรริณา ศรีตะลา และ กรกช สิงห์เมือง ต่างได้สัมผัสกับประสบการณ์การ “กำหนดชีวิตของตนเองในฐานะผู้หญิง” เป็นครั้งแรก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ และเยอรมนี ตามลำดับ

ในวันนี้ ประเทศไทยยังคงไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิในการเปลี่ยนคำนำหน้านามของคนข้ามเพศ

แม้ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศฯ) ที่พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ จะถูกสภาผู้แทนราษฎรโหวตตกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2567 แต่ยังคงมี ร่างฯ จากภาคประชาสังคม และ ร่างฯ ของรัฐบาลผ่านกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รออยู่

ทั้งนี้ แม้คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศจะยังไม่สามารถเลือกคำนำหน้าเองได้ แต่ก็มีคนไทยบางส่วนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ที่ได้สิทธิและสามารถกำหนดคำนำหน้าของตัวเองได้แล้ว บีบีซีไทยได้พูดคุยกับคนไทยในต่างแดน 3 คน ใน 3 ประเทศ เพื่อสำรวจประสบการณ์ของพวกเขา รวมถึงขั้นตอนในการได้มาซึ่งสถานะว่าเป็น “female” หรือ “frau” (ภาษาเยอรมัน แปลว่า ผู้หญิง)

สิบปีในสหรัฐอเมริกา

ณชเล บุญญาภิสมภาร เดินทางไปสหรัฐอเมริกาในปี 2553 ด้วยวีซ่านักเรียน เธอตั้งใจไปเรียนภาษาในตอนแรก ก่อนจะจับพลัดจับผลูเรียนต่อระดับอนุปริญญาเรื่อยไปจนจบปริญญาโท

ณชเล ใช้ชีวิตอยู่ที่รัฐแมริแลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เธอไปรับฮอร์โมนเพศหญิงเป็นประจำที่คลินิกแห่งหนึ่ง ก่อนบังเอิญได้พูดคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งประจำอยู่ที่คลินิกดังกล่าว

เจ้าหน้าที่คนนั้นบอกกับณชเลว่า เธอสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ และทางคลินิกจะออกจดหมายรับรองให้

“ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าเรา (เปลี่ยนคำนำหน้านาม) ได้ เพราะเราเป็นคนต่างชาติ” เธอเล่าให้บีบีซีไทยฟัง

สถานะทางกฎหมายของณชเล ปัจจุบันถือว่าเธอเป็นผู้หญิง

หลังอยู่รัฐแมริแลนด์ได้ราว 8 ปี ณชเลเรียนจบปริญญาโทและย้ายมาอยู่ในนครนิวยอร์ก เธอได้เข้าทำงานกับคลิกนิกชุมชนที่ให้บริการผู้ที่มีรายได้ต่ำ ก่อนตัดสินใจกลับไทยในปี 2020 ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด

แม้จะได้บัตรประจำตัวสำหรับผู้อยู่อาศัยมาหลายใบ แต่เธอย้อนเล่าความให้ฟังว่า ช่วงแรก ๆ แม้จะมีกฎหมายให้สิทธิบุคคลสามารถเปลี่ยนเพศได้อย่างถูกต้อง แต่เธอยังรู้สึกว่าโดนเจ้าหน้าที่ตั้งคำถามและเรียกเธอด้วยคำว่า “Mister” หรือ “Sir” ซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษที่เอาไว้ใช้กับเพศชาย

สำหรับณชเล หากเธอยังอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาซึ่งแต่ละมลรัฐมีกฎหมายต่างกันออกไป ก็แล้วแต่ว่าเธอไปอาศัยอยู่ที่มลรัฐอะไร และแต่ละพื้นที่จะกำหนดเงื่อนไขอย่างไรบ้าง

ข้อมูลนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเอกสารระบุตัวตนในปี 2023 จาก Movement Advancement Project (MAP) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองไม่แสวงหาผลกำไร พบว่าจากทั้งหมด 50 มลรัฐของสหรัฐฯ มีเพียง 2 มลรัฐ ได้แก่ ฟลอริดาและแคนซัส ที่ไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงคำแสดงเพศบนใบขับขี่ และอีก 2 มลรัฐ ได้แก่ โอคลาโฮมาและนอร์ท ดาโคตา ที่ไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงคำแสดงเพศบนใบสูติบัตร สำหรับมลรัฐอื่น ๆ อาจมีขั้นตอนแตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ ในสหรัฐฯ มีทางเลือกให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่รู้สึกว่าการระบุอัตลักษณ์ว่าเป็นเพศชาย (M) หรือเพศหญิง (F) ไม่ตอบโจทย์กับพวกเขา ในกรณีนี้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถระบุเพศตนเองด้วย "X" ได้แล้ว

ความ “SUCCESS” ในฟินแลนด์

คาโรริณา เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศที่ประเทศฟินแลนด์ โดยรัฐบาลฟินแลนด์เป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย

คาโรริณา ศรีตะลา เป็นคนไทยอีกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศฟินแลนด์ เรื่องราวของเธอไม่แตกต่างจากณชเลมากนัก เธอเล่าว่าการยื่นขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อของเธอเมื่อ 15 ปีก่อน ต้องใช้ใบรับรองจากจิตแพทย์ 2 คน จึงจะสามารถยื่นเรื่องขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้

คาโรริณาเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า ที่ประเทศฟินแลนด์ นอกจากจะสามารถเปลี่ยนคำระบุเพศทางกฎหมายเป็น “F” หรือ “M” ซึ่งใช้ระบุเพศหญิงและเพศชายตามลำดับแล้ว เลขประจำตัวส่วนบุคคลจะเปลี่ยนตามด้วย

ที่ฟินแลนด์เลขประจำตัวของแต่ละบุคคลจะคิดขึ้นมาจากวันเดือนปีเกิด ตัวอักษรที่ระบุถึงศตวรรษ เลขส่วนตัวของแต่ละบุคคล และตัวอักษรควบคุม ซึ่งจะรวมกันเป็น 11 ตัวอักษร โดยมากแล้วเลขคี่จะเป็นของผู้ชายและเลขคู่เป็นของผู้หญิง

ตามข้อมูลจากหน่วยงานให้บริการเรื่องข้อมูลประชากรและดิจิทัลในฟินแลนด์ ระบุว่า เมื่อบุคคลหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเพศทางกฎหมาย บุคคลดังกล่าวสามารถขอยื่นเปลี่ยนเลขประจำตัวของแต่ละบุคคลให้สะท้อนกับเพศสภาพของตนเองได้

หนังสือเดินทางของคาโรริณาที่ออกให้โดยทางการฟินแลนด์ ระบุว่าเธอเป็นเพศหญิง

“ถ้าเป็นตอนนี้ 2024 น้องสามารถเดินไปที่อำเภอได้เลย บอกว่าฉันจะเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านาม แค่นั้นเลย ไม่ต้องพิจารณาจากหมอ” เธอเสริม

กฎหมายฉบับดังกล่าวที่อนุญาตให้บุคคลสามารถตัดสินใจเลือกอัตลักษณ์ทางเพศได้ โดยไม่ต้องขอรับคำวินิจฉัยจากแพทย์เพิ่งผ่านรัฐสภาฟินแลนด์เมื่อเดือน ก.พ. 2023

"มัน success ไปหมด ไม่ต้องไปกังวลว่าใครจะมาอะไรเราไหม ใครจะมาตีตราเราไหม ทุกคนเท่าเทียมกันหมดที่ประเทศฟินแลนด์"

ความ "success" แปลเป็นไทยว่า "ความสำเร็จ" ที่คาโรริณาพูดถึงไม่ได้มีแค่ระบบกฎหมายที่เอื้อให้บุคคลข้ามเพศสามารถระบุอัตลักษณ์ตัวเองได้ตามอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) แต่ยังรวมถึงมิติที่รัฐบาลรองรับกระบวนการแปลงเพศ ตั้งแต่การศัลยกรรมหน้าอก เปลี่ยนกล่องเสียง แปลงเพศ ซึ่งพลเรือนสามารถทำได้ฟรี

อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) คือ การรับรู้เพศของบุคคลนั้นที่มีต่อตนเองว่า มีความเป็นเพศใดในกลุ่มทางเพศของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ โดยที่แต่ละสังคมมีกลุ่มทางเพศที่แตกต่างกัน ออกไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิด เช่น เด็กชาย เด็กหญิง ผู้ชาย ผู้หญิงหรือเพศอื่น ๆ ไม่นับรวมถึงความสนใจหรือความชอบทางเพศต่อบุคคลอื่น ๆ

Freedom House องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านประชาธิปไตย เสรีภาพทางการเมือง และสิทธิมนุษยชน ให้คำแนนเสรีภาพของประเทศฟินแลนด์ 100/100 คะแนน ในปี 2023 (เป็นการรวบรวมข้อมูลจากปี 2022) โดยความพยายามในการผ่านร่างกฎหมายเพื่อทำให้การเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลข้ามเพศทำได้สะดวกยิ่งขึ้นถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นพัฒนาการสำคัญของรัฐบาลในปีดังกล่าว

เยอรมนี: อัตลักษณ์ทางเพศที่ยังขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาล

กรกช สิงห์เมือง เดินทางมาอยู่เยอรมนีหลังแต่งงานกับสามี ในช่วง 2-3 ปีแรก เธอยังไม่ได้เปลี่ยนคำนำหน้านามหรือคำระบุเพศทางกฎหมาย เอกสารราชการของเธอทั้งหมดยังคงเป็น "Herr" ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันสำหรับคำว่า "นาย"

ครั้งหนึ่ง กรกช ไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่งในเยอรมนี ขณะที่นั่งรอแพทย์เรียก เธอถูกเรียกด้วยคำที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “นายกรกช สิงห์เมือง” ทว่าด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นผู้หญิงแล้วนั้น ทำให้เธอต้องเผชิญกับสายตาที่ทั้งสงสัยและตั้งคำถามในตัวเธอราวกับเป็น “ตัวตลก”

“เราไม่ต้องการที่จะไปประกาศให้เขารู้ว่าเราเป็นกะเทยนะ เป็นทอมนะ เป็นดี้นะ ถ้าคุณดูไม่รู้ฉันก็ไม่จำเป็นต้องประกาศ เขาควรจะรู้จักเราเท่าที่เขาเห็นเรา แล้วเราเป็นยังไง ณ ตรงนั้น” กรกช เล่าให้บีบีซีไทยฟัง

เธอตัดสินใจในวันนั้นว่าจะต้องเปลี่ยนคำนำหน้านาม

ที่ประเทศเยอรมนี บุคคลที่ต้องการเปลี่ยนคำนำหน้าเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ ต้องยื่นเรื่องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

กรกชต้องเผชิญกับขั้นตอนที่มากกว่าที่ณชเลและคาโรริณาพบเจอเล็กน้อย กล่าวคือ เมื่อเธอได้รับใบรับรองจากจิตแพทย์ 2 คนแล้ว เธอต้องนำเอกสารนั้นไปยื่นต่อศาล

“ศาลตัดสิน แล้วเขาก็มีใบประกาศมาให้ (ระบุว่า) ตอนนี้คุณเป็นนางสาวแล้ว” กรกช อธิบาย

ปัจจุบันขั้นตอนการขอเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศของเยอรมนียังคงเหมือนเดิม คือต้องขอจดหมายรับรองจากจิตแพทย์ 2 ฉบับ ก่อนจะนำไปยื่นเรื่องกับศาลแขวงในพื้นที่ที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลเยอรมนีปัจจุบันมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ที่อนุญาตให้บุคคลสามารถยื่นเรื่องเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายหรือเปลี่ยนชื่อของพวกเข้าได้ โดยไม่ต้องยื่นเรื่องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

เมื่อเดือน ส.ค. 2566 คณะรัฐมนตรีของเยอรมนีผ่านร่างกฎหมายการตัดสินใจด้วยตนเอง (Self-determination law) ออกมา โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กฎหมายดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้จริงได้อย่างเร็วที่สุดในเดือน พ.ย. 2024

ทุกวันนี้กรกชยังใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมนีอย่าง "สะดวกสบาย" ทว่าเธอยังพอเจอปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางเพศอยู่เช่นกัน กล่าวคือแม้เธอจะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อและแต่งงานเรียบร้อยแล้ว แต่เธอยังเปลี่ยนนามสกุลตามสามีไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายยอมรับเรื่องการสมรสเท่าเทียม

"เปลี่ยนนามสกุลไม่ได้ ต้องรอให้ไทยยอมรับเรื่องสมรสเท่าเทียมก่อน" เธอกล่าว

การเดินหน้าของกฎหมายไทย: ศักดิ์ศรี-การเลือกเอง
ผศ.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายกับบีบีซีไทยว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในหลายมิติ ตั้งแต่สิทธิการเข้าถึงการศึกษา การสมัครงาน ไปจนถึงสิทธิในการใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ และเหตุผลที่ประเทศไทยอาจจำเป็นต้องมีกฎหมายที่ให้สิทธิเลือกคำนำหน้านาม เพราะ “การเปลี่ยนเพศเป็นเรื่องของการกำหนดอัตลักษณ์ของตนเอง เป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันเชื่อมโยงอยู่กับปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยใช้อัตลักษณ์ทางเพศ”

เธอเล่าว่า สำหรับประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งคำนำหน้านามในไทยนั้น อาจต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 157/2524 ไม่ยอมรับสถานะทางกฎหมายของนายชุมพล ศิลปะประจำพงษ์ ที่เรียกร้องว่าเมื่อเขาได้รับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ย่อมควรได้รับสถานะเพศหญิงทางกฎหมาย

ในเวลานั้น ความเห็นทางการแพทย์ระบุว่า ชายแปลงเพศเป็นได้เพียง "ผู้หญิงเทียม" เพราะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ขณะที่ผู้หญิงแปลงเพศก็เป็นได้เพียง "ผู้ชายเทียม" เพราะไม่สามารถสร้างตัวอสุจิได้

"พอศาลฎีกาตัดสินคดีนั้นว่าเขาเปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าเพศหญิงคือเพศที่มีลูกได้ ด้วยการตีความของศาลมันก็เลยทำให้ไม่มีการพัฒนาต่อ มันหยุด" ผศ.เอมผกา กล่าว

ผศ.เอมผกา เสริมว่า หลายประเทศในยุโรปมีกรณีแบบศาลไทยในปี 2524 แต่ศาลในหลายประเทศตีความรับรองให้บุคคลข้ามเพศสามารถเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางกฎหมายได้ จึงเกิดแรงผลักดันให้พัฒนารับรองกฎหมาย

“กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยรายงานว่ามีการเลือกปฏิบัติในทุก ๆ ด้านของชีวิตในทางเศรษฐกิจและสังคม” รายงานจากธนาคารโลกชี้

จนถึงขณะนี้ ถ้าไม่นับรวมร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศฯ ที่ก้าวไกลเป็นผู้เสนอซึ่งถูกสภาปัดตกไปแล้ว ยังมีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการใช้ชีวิตตามเพศสภาพของบุคคลอีก 2 ฉบับด้วยกัน นั่นคือ

  • ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ พ.ศ. .... โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
  • ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT) ซึ่งภาคประชาชนเป็นผู้ร่าง
    ร่างกฎหมายทั้งสองมีใจความหลักที่เหมือนกันคือ บุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถไปจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนเองได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีทางการแพทย์เพื่อพิสูจน์ ขณะที่ถ้าเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องได้รับการยินยอนจากบิดามารดา

ในมาตราที่ 7 ของร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ชี้ว่า "การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพจะต้องกระทำบนพื้นฐานของเจตจำนงของบุคคลโดยปราศจากการกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพื่อให้ได้รับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพในทางกฎหมาย และห้ามมิให้เรียกเอาเอกสารทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองทางจิตเวชหรือจิตวิทยาจากผู้ยื่นคำขอ"

เช่นเดียวกับมาตราที่ 8 ของ ร่าง พ.ร.บ. จากภาคประชาชน ที่ชี้ว่า "การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพจะต้องกระทำบนพื้นฐานของเจตจำนงของบุคคลโดยปราศจากการกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพื่อให้ได้รับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพในทางกฎหมาย..."

สำหรับข้อแตกต่างในการระบุเพศสภาพนั้น ร่างฯ จากฝั่งรัฐบาลโดยกรมกิจสตรีและสถาบันครอบครัวกำหนดให้ระบุเพศตามอัตลักษณ์เพศสภาพหรือเลือกที่จะไม่ระบุได้ ส่วนร่างฯ จากภาคประชาชนเพิ่มตัวเลือก “เพศกรณีอื่น (Other/X)” ขึ้นมาสำหรับบุคลที่มีเพศสภาพนอกเหนือจากระบบสองเพศแบบชายหญิง

สำหรับร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ) โดยพรรคก้าวไกลที่ถูกปัดตกไปแล้วนั้น นับว่ามีรายละเอียดแตกต่างจากร่างทั้งสองฉบับข้างต้นอยู่พอสมควร

ประการแรกคือ การกำหนดให้อายุของผู้ที่สามารถยื่นเจตจำนงในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และหากอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา และยังต้องใช้เอกสารรับรองจากจิตแพทย์ด้วย

ประการที่สองคือ ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ กำหนด "เพศหลากหลาย" ขึ้นมาเป็นตัวเลือกเพิ่มเติมจากเพศหญิงและชาย โดยให้ใช้คำนำหน้านามว่า "นาม" สำหรับเพศหลากหลาย

สำหรับร่างทั้งสองฉบับของภาคประชาชนและกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวนับว่าอยู่ภายใต้แนวคิดแบบ “self-determination” ซึ่งอาจแปลเป็นไทยว่า “การตัดสินใจด้วยตนเอง” ในที่นี้หมายถึง บุคคลสามารถเลือกได้ด้วยเจตจำนงของตนเองว่าพวกเขาเป็นเพศอะไร โดยไม่ต้องมีหน่วยงานหรือบุคคลที่สามหรือผู้เชี่ยวชาญมารับรอง

การร่างกฎหมายตามแนวคิดเช่นนี้มีมากในยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 11 ประเทศ ที่บุคคลสามารถเลือกเพศสภาพของตนเองได้ด้วยเจตจำนงเสรี

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมามองในภูมิภาคเอเชีย ผศ.เอมผกา เสริมว่า ความก้าวหน้าเช่นนี้จะเห็นได้กับกลุ่มประเทศที่เพิ่งมีกฎหมายว่าด้วยอัตลักษณ์ทางเพศในช่วงไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชียใต้อาทิ อินเดีย ปากีสถาน และ เนปาล โดยเหตุหลักคือการได้รับอิทธิพลจากกระแสของสังคมที่โน้มเอียงไปกับหลักการ “การตัดสินใจด้วยตนเอง”

ในปี 2018 ปากีสถานผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศในเอกสารราชการทุกฉบับ ขณะที่ในปี 2014 อินเดียตัดสินให้ต้องมีการรับรองเพศสภาพหลากหลายที่ไม่ใช่ทั้งเพศชายและเพศหญิง

“ไทยไม่ใช่ประเทศที่ไม่ ‘เฟรนลี่’ กับ LGBT เราคุ้นชินกับเรื่องพวกนี้มามากแล้ว เรามีบทเรียนแล้ว มันเป็นไปได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความจริงใจของรัฐเข้ามาประชาสัมพันธ์ และไม่เห็นเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมือง” ผศ.เอมผกา กล่าว

เปลี่ยนคำนำหน้าจาก นาย เป็น นาง/นางสาว เท่ากับไม่ 'ไพรด์' ในตัวเองจริงหรือ

ก่อนหน้านี้ในการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศฯ ของพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา มี สส. ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฯ ดังกล่าวจำนวนหนึ่งออกมาตั้งคำถามว่า การเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าชื่อนั้นจำเป็นจริงหรือไม่ และอย่างนี้นับว่าบุคคลข้ามเพศไม่ภูมิใจในการเป็นตัวเองหรือเปล่า รวมถึงอาจเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรมการหลอกลวงหรือไม่

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่า “ก็ไหนว่าเราภาคภูมิใจในความเป็น LGBTQ แล้วเราจะไปเปลี่ยนจากสภาพ LGBTQ ไปเป็นนาย ไปเป็นนางสาว ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ 'ไพรด์' ไม่ได้ภูมิใจกับเพศสภาพ กับสถานะที่เราเป็นหรือเปล่า”

ณชเลบอกกับบีบีซีไทยว่า คำพูดเช่นนี้นับว่าไม่เข้าใจคนข้ามเพศที่ถูกตั้งคำถามถึงเพศสภาพของตนเองตลอดเวลา ในขณะที่ความเป็นเพศชายหรือหญิงไม่เคยถูกตั้งคำถามใด ๆ “ไม่มีใครมารู้สึกว่าคุณผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ก็ไม่ต้องมาถามคุณ แต่ขณะเดียวกันคนข้ามเพศต้องมีคนถามว่า ทำไมถึงเป็นกะเทย เป็นกะเทยนี่มันเป็นยังไงเหรอ ทำนมเจ็บไหม แปลงรึยัง… ตลอดเวลา”

ในวันนี้ที่เธอได้ใช้คำนำหน้าชื่อซึ่งสอดคล้องกับเพศสภาพในปัจจุบันของเธอ ณชเล บอกว่ามันทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นมาก พร้อมกับบอกว่าการที่เธอต้องเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ไม่ใช่ว่าเธอไม่ภูมิใจ แต่เป็นเพราะคิดว่าเธอควรต้องสามารถกำหนดและเลือกอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองได้

“ในฐานะที่พี่เป็นคนข้ามเพศ พี่คิดเสมอว่าพี่เป็นผู้หญิง พี่ก็ควรจะต้องสามารถกำหนดชีวิตของพี่ได้เองในฐานะผู้หญิง” ณชเล กล่าว

กรกชเสริมว่า ในส่วนที่บางคนกังวลเรื่องอาชญากรรมการเอาคำนำหน้านามไปหลอกลวงผู้อื่นเพื่อหาประโยชน์เข้าตัวนั้น เธอมองว่าก็เหมือนกับการที่คนทั่วไปทำผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น กฎหมายก็ต้องเอาผิดคนที่ทำผิดฐานหลอกลวงผู้อื่น “แต่ว่าทุกคนที่เขาต้องการเปลี่ยน (คำนำหน้านาม) ใช่ว่าเขาจะต้องการเอามาหลอกลวงคนอื่น ไม่ใช่ อันนี้มันคนละกรณีกัน”

ผศ.เอมผกา ชี้ว่า อาชญากรรมกับเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และต้องแยกออกจากกัน และกระบวนการระบุตัวตนบุคคลสามารถทำได้หลากหลายมากกว่าแค่การระบุอัตลักษณ์ทางเพศ

อ้างอิง: BBC