Sisterhood

นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นหนึ่งใน สว. ที่อภิปรายสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้

2 เมษายน 2024

ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระแรก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย 27 คน ศึกษาร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยมีระยะเวลาการแปรญัตติ 7 วัน

การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของที่ประชุมวุฒิสภา ในวันที่ (2 เม.ย.) เป็นขั้นตอนหลังจากสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายในวาระที่ 2-3 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยกฎหมายกำหนดให้ สว. ต้องพิจารณาภายใน 60 วัน

ที่ประชุมวุฒิสภา ได้เปิดให้กรรมาธิการของวุฒิสภา 5 ชุด เสนอข้อสังเกตต่อร่างกฎหมาย โดยประเด็นที่ สว. นำเสนอส่วนใหญ่ เป็นความกังวลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย เช่น มาตราที่ระบุให้มีการแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ที่กำหนดให้หน่วยงานเสนอทบทวนการแก้ไขเพิ่มเติมต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 180 วัน การเขียนบทบัญญัติเรื่องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ และข้อกังวลเกี่ยวกับการให้สิทธิตามกฎหมายอื่นโดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ ภายหลังการนำเสนอข้อสังเกตและการอภิปรายของ สว. ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 147 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง และมีมติตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 27 คน ได้แก่ กรรมาธิการสัดส่วนของวุฒิสภา กรรมาธิการสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี และกรรมาธิการสัดส่วนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว. อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาว่า การเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้ามาถือได้ว่าเป็นความต้องการของประชาชน แต่ สว. คงไม่ตัดสินใจหรือพิจารณาไปตามกระแส เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาถึงขนาดนี้ คงต้องยอมรับสิ่งที่ประชาชนเสนอเข้ามา แต่เห็นว่าหากกฎหมายออกไปใช้แล้ว ต้องให้คนที่ใช้ชีวิตด้วยกันอยู่ด้วยกันได้

"เราให้โอกาสแต่งงานกัน จดทะเบียนกัน แต่อยู่ได้พักเดียวก็เลิกกันก็กลายเป็นปัญหาสังคม ดังนั้น เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย เช่น ก่อนจะจดทะเบียนสมรสกัน ให้ลองใช้ชีวิตด้วยกันก่อน 6 เดือน จึงมาจดทะเบียนกัน" นายเสรี เสนอความเห็น

นายเสรี กล่าวว่า เขาสนับสนุนกฎหมายนี้ แต่ในฐานะคนออกกฎหมายต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการใช้กฎหมายต่อไป

"กฎหมายนี้สังคมยอมรับได้ สภาออกกฎหมายให้ แต่ต้องคิดเผื่อไปว่าต้องให้พวกเขาอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนได้"

สำหรับการอภิปรายและข้อสังเกตอื่น ๆ ของ สว. มีดังนี้

หวั่นกรมการปกครอง แก้ระเบียบ-จัดทำใบสำคัญสมรสใหม่ ไม่ทัน 120 วัน


นายปัญญา งานเลิศ กรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินของ สว. นำเสนอข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ซึ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ. ที่กำหนดเวลาไว้ที่ 120 วัน และระยะเวลาที่ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทบทวนกฎหมาย 180 วัน ว่าหน่วยงานต่าง ๆ นั้นจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่

นายปัญญา กล่าวว่า กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ และระเบียบรวม 4 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.จดทะเบียนครอบครัว ปี 2478 พ.ร.บ.สัญชาติ ปี 2508 พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง ปี 2551 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว ปี 2541 อีกทั้งต้องปรับปรุงระบบปฏิบัติการของฐานข้อมูลและซักซ้อมความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่กรมการปกครองทั่วประเทศ

กรรมาธิการชุดนี้ของ สว. เห็นว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียน ทางกรมการปกครองต้องแก้ระเบียบและแบบฟอร์มต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน ภายใน 90-120 วัน และยังต้องไปแก้ไขแบบพิมพ์ของใบสำคัญการสมรส ใบสำคัญการหย่า ซึ่งทั้งสองแบบฟอร์มต้องไปแก้ไข คำว่า ชายและหญิง ที่อยู่ในเอกสาร ซึ่งทั้งหมดใช้เวลา 90 วัน เนื่องจากระยะเวลาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

สว.ผู้นี้ ได้สรุปว่า แม้ผู้แทนกรมการปกครองชี้แจงว่า สามารถแก้ได้เสร็จสิ้นภายใน 120 วัน แต่ระยะเวลาดังกล่าวอาจไม่เพียงพอ จึงเสนอว่าหากสามารถขยายระยะเวลาได้ จะทำให้การดำเนินการตามกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การกำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทบทวนกฎหมายภายใน 180 วัน ยังเป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการการกฎหมายของ สว. มีความกังวลว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันในเวลาหรือไม่ เพราะต้องมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากถึง 47 ฉบับ และบางฉบับอาจใช้เวลานาน จึงเห็นว่าควรมีการขยายเวลาให้กับหน่วยงานต่าง ๆ

เสนอให้มีบทบัญญัติคุ้มครองเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนสมรสที่นับถือศาสนาอิสลาม-คริสต์

ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ยังแสดงความกังวลถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางศาสนา

นายปัญญา อ่านข้อสังเกตของกรรมาธิการว่า เมื่อมีการประกาศแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลที่นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เนื่องจากการก่อตั้งครอบครัวตามหลักคำสอน ระบุว่าการสมรสต้องเป็นแต่ชายหญิงเท่านั้น พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีสองเพศ ให้ดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์ ดังนั้น การก่อตั้งครอบครัวของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อคำสอนทางศาสนา

คณะกรรมาธิการเห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่ในการรับจดทะเบียน ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกตามกฎหมายและหลักศาสนาไปพร้อม ๆ กัน ในกรณีที่ต้องปฏิบัติหน้าที่จดทะเบียนสมรส ระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน อาทิ ศาสนาอิสลาม

"หากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนับถือศาสนาอิสลาม จะไม่สามารถเป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันได้ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียนจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่หากเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนก็จะมีความผิดตามหลักศาสนา ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมในศาสนานั้น" นายปัญญา อธิบายถึงเหตุผล

กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จากสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา

ความละเอียดอ่อนเรื่องศาสนาของกฎหมายสมรสเท่าเทียม

วันชัย สอนศิริ สว. ในฐานะคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา กล่าวถึงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า ด้วยการที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมในลักษณะนี้มีอยู่ในไม่กี่ประเทศ และประเทศมุสลิมก็ไม่รับรองกฎหมายลักษณะนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการแก้ไขกฎหมายให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทางกรรมาธิการจึงเห็นว่า การแก้ไขควรมีการพิจารณาให้รอบคอบ

วันชัย ได้แจกแจงข้อสังเกตของกรรมาธิการว่า กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เป็นการบังคับให้กระทำการ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิ ดังนั้น หากศาสนาต่าง ๆ เห็นว่า ผิดหลักคำสอนของศาสนาก็ไม่ต้องกระทำภายใต้กฎหมายนี้ได้ พร้อมเห็นว่า องค์กรทางศาสนาควรเข้ามามีบทบาทในการสร้างความรู้ความเข้าใจ หาทางออกในเรื่องที่อาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคม และทำหน้าที่ป้องกันหรือระงับ ข้อพิพาททางความคิด เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้

"กฎหมายนี้เป็นการรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ซึ่งแต่ละศาสนาจะพิจารณาใช้สิทธิดังกล่าวได้ภายใต้ความเหมาะสมของหลักคำสอนของศาสนาที่ตนนับถือ และองค์กรทางศาสนาที่เกี่ยวข้องควรดำรงบทบาทในการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องของสาธารณชนเกี่ยวกับหลักการทางศาสนาด้วย"

นอกจากนี้ กรรมาธิการการศาสนาฯ ยังเสนอด้วยว่า ควรมีมาตรการเชิงสังคม ในการแก้ปัญหาที่อาจจะมีมากขึ้น หลังจากการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การลักลอบอุ้มบุญ การค้ามนุษย์ และควรมีมาตรการเชิงสังคม หรือนโยบายที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การกำหนดนโยบายส่งเสริมระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกันหรือผู้ที่มีลักษณะข้ามเพศ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและบุตรที่จดทะเบียน ให้มีสิทธิและศักดิ์ศรี รวมทั้งเป็นผู้สามารถสืบทอดวงศ์ตระกูลเช่นเดียวกับบุตรโดยทั่วไป

ภาคประชาชน เตรียมผลักดัน "บุพการีลำดับแรก" อีกครั้ง ในกรรมาธิการ สว.

น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น กมธ.วิสามัญฯ ของวุฒิสภา อีกครั้ง กล่าวกับบีบีซีไทยว่า กมธ. จากภาคประชาชน เตรียมผลักดันการเพิ่มประเด็น "บุพการีลำดับแรก" อีกครั้งในกรรมาธิการของวุฒิสภา หลังจากถูกตีตกจากสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา

"เราต้องการนำเสนอให้ทาง สว.เห็นว่า สมรสเท่าเทียมที่แก้มา ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ และปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก"

นัยนา กล่าวว่า การเสนอเรื่อง "บุพการีลำดับแรก" ก็เพื่อแก้ปัญหาการคุ้มครองสิทธิของครอบครัวเพศหลากหลาย แต่หากไม่ประสบความสำเร็จในการลงมติ ก็เห็นว่าเป็นประเด็นที่ควรถูกบันทึกไว้เป็นข้อสังเกตที่ สว. จะต้องมีการเสนอให้พิจารณาแก้ไขต่อไปโดยเร็ว ซึ่งจะมีผลให้ฝ่ายบริหาร ต้องไปศึกษาเพื่อยกร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขหมวดเกี่ยวกับ บิดา มารดา กับบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไป

"การปล่อยเอาไว้แบบนี้แล้วไม่ไปแตะต้องคำว่า บิดา มารดา กับบุตร ให้เป็นคำที่มีความเป็นกลางทางเพศ มันก็เท่ากับว่าครอบครัวของเพศหลากหลายไม่ได้รับการคุ้มครอง คือเพศหลากหลายสามารถสมรสกันได้ แต่ครอบครัวของเพศหลากหลายไม่ได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายนี้ และจะมีปัญหากับครอบครัวที่รับบุตรบุญธรรมด้วย" กรรมาธิการจากสัดส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ระบุ

"การที่คำว่า บิดา มารดา ยังคงอยู่ แล้วไม่มีคำที่เป็นกลางทางเพศ ทำให้ครอบครัวที่รับบุตรบุญธรรมก็ไม่ได้รับการคุ้มครองด้วยเหมือนกัน... เวลาครอบครัวเหล่านี้ไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ของทางราชการ ไปโรงเรียน ที่ว่าการอำเภอ โรงพยาบาล เขาก็จะถูกเรียกว่าบิดา มารดา ซึ่งครอบครัวเพศหลากหลายเขาไม่ยินดีจะให้เรียก"

cr.bbc