สนค.สำรวจประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลังไทยกำลังจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม พบธุรกิจโรงแรม จัดงานแต่งงาน ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ประกันภัย การเงิน การให้คำปรึกษาและวางแผนครอบครัว บันเทิงและนันทนาการ มีโอกาสเติบโต แนะฉวยจังหวะดันไทยเป็นศูนย์การจัดงานแต่งงานของทุกเพศสภาพในเอเชีย แต่รัฐต้องสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดกลุ่ม LGBTQIA+ เข้ามา
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการสำรวจประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทย ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พบว่านอกจากจะช่วยยกระดับด้านความเท่าเทียมทางเพศของไทยแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะธุรกิจบริการในหลากหลายสาขา เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจทางการเงิน ธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักหลากหลายเพศ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและนันทนาการ โดยเฉพาะซีรีส์วาย เป็นต้น
ทั้งนี้ มีผลการศึกษาของสถาบันด้านการวิจัย The William Institute ในสหรัฐฯ พบว่า ภายหลังที่สหรัฐฯ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศในช่วงปี 2558-2562 สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่คู่รักเพศเดียวกันใช้ในการจัดงานแต่งงานมูลค่าประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การใช้จ่ายด้านการเดินทางท่องเที่ยวของผู้เข้าร่วมงานแต่งงาน 543.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้จากการเก็บภาษีการจัดงานแต่งงาน 244.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และยังช่วยสร้างการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นถึง 45,000 ราย
สำหรับธุรกิจบริการที่มีโอกาสเติบโต โดยธุรกิจโรงแรมมีโอกาสเติบโตจากการจัดงานแต่งงานของกลุ่ม LGBTQIA+ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานแต่งงาน เช่น ธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ ธุรกิจเช่าชุดแต่งงาน จะขยายตัวตามไปด้วย ธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหาร ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เดินทางมาไทย จากการที่มีกฎหมายรองรับและสภาพสังคมที่เป็นมิตร จะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้รู้สึกปลอดภัยและสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ธุรกิจประกันภัยและธุรกิจทางการเงิน ที่จะเติบโตตามคู่รักหลากหลายเพศ ที่จะทำประกันชีวิต กู้เงินซื้อบ้าน ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินร่วมกัน ธุรกิจการให้คำปรึกษาและการวางแผนครอบครัวสำหรับคู่รักหลากหลายเพศ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความบันเทิงและนันทนาการ โดยเฉพาะซีรีส์วาย และการมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลระดับโลก World Pride ซึ่งจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในระดับสากลและก่อให้เกิดรายได้ในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องของไทย
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ไทยควรใช้โอกาสนี้ในการผลักดันเป็นศูนย์กลางการจัดงานแต่งงานของทุกเพศสภาพในเอเชีย เนื่องจากความพร้อมในด้านกฎหมาย ความเป็นเลิศในด้านการจัดงานและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องของไทย และการมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทางด้านธรรมชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแต่งงานและฮันนีมูน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ไทยเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยครอบคลุมถึงการอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ภาครัฐต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกในด้านการจดทะเบียนสมรส โดยเฉพาะในเรื่องเอกสาร วีซ่า ระยะเวลาในการดำเนินการ และสนับสนุนให้ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องในการจัดงานแต่งงานมีมาตรฐานและคุณภาพ เพื่อสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้แก่คู่รักต่างชาติ เพื่อที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ไทยเป็นจุดหมายยอดนิยมของคู่รัก LGBTQIA+ ทั่วโลกในการแต่งงาน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 สภาผู้แทนราษฎรไทยได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมวาระแรกแล้วและมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างกฎหมาย ซึ่งหากไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมบุคคลในทุกเพศให้สามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย และสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เท่าเทียมกับคู่รักชาย-หญิง และไทยจะกลายเป็นชาติที่ 37 ของโลกและชาติแรกของอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
Cr.mgronline