การดูแลรักษาเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศนั้น มีความแตกต่างกับการดูแลรักษา คนข้ามเพศในวัยผู้ใหญ่เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นนั้นเป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการ และมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคมอย่างต่อเนื่องตามวัย แพทย์และผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องพิจารณาช่วงอายุ พัฒนาการ และปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ที่อาจพบร่วมกันอย่างครบถ้วน เพื่อให้สามารถแนะนำทางเลือก ในการดูแลรักษาที่เหมาะสม สำหรับผู้รับบริการแต่ละราย

นิยามของเด็กและวัยรุ่น

  • เด็ก หมายถึง ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี
  • วัยรุ่น หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 10-21 ปี
  • วัยรุ่นตอนต้น หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 10-14 ปี
  • วัยรุ่นตอนกลาง หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 15-17 ปี
  • วัยรุ่นตอนปลาย หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 18-21 ปี

พัฒนาการทางเพศ

วัยทารกและวัยเด็ก

เป็นวัยที่ร่างกายมีการพัฒนาการทางเพศน้อย เนื่องจากกลไกการควบคุมการสร้างฮอร์โมนเพศนั้น ยังไม่เริ่มทำงาน อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางเพศในหลายๆ ด้าน เช่น อัตลักษณ์ทางเพศชายหรือหญิง ความรู้สึกว่าตนเองเป็นชายหรือหญิง และความพึงพอใจต่อเพศใดนั้น จะถูกเริ่มพัฒนาในช่วงวัยนี้เด็กอายุ 6-12 เดือน จะเริ่มแยกคนรอบตัวว่า เป็นเพศชายหรือเพศหญิงได้

เด็กอายุ 2-4 ปี 

จะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเพศ ได้จากรูปร่างหน้าตา สามารถบอกได้ว่าตนเองเป็นเพศอะไร และมักเลือกที่จะเล่นกับเด็กเพศเดียวกัน มากกว่าเพศตรงข้าม พร้อมๆ กับการเริ่มรู้จักบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกันในแต่ละเพศ โดยมองเหมือนเป็นกฎที่ทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนกัน เช่น ผู้ชายต้องไว้ผมสั้นหรือใส่กางเกง ผู้หญิงต้องไว้ผมยาวหรือใส่กระโปรง เป็นต้น

เด็กอายุ 4-6 ปี 

อาจมีพฤติกรรมเล่นอวัยวะเพศของตนเอง หรือทำท่าทางคล้ายการสำเร็จความใคร่ได้

เด็กวัยเรียน 

สามารถเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น โดยเข้าใจว่า ทุกอย่างอาจไม่ได้เป็นกฎเกณฑ์ เช่น ผู้ชายอาจไว้ผมยาวก็ได้ เป็นต้น ในบางช่วงนั้น เด็กอาจมีความอยากรู้อยากเห็นหรือเริ่มสำรวจเกี่ยวกับเรื่องเพศของตน เช่น อาจสนใจหรืออยากเล่นของเล่นของเพศตรงข้าม หรืออยากทดลองแต่งตัวแบบเพศตรงข้ามได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าเด็กมีความสนใจมากเป็นพิเศษ เช่น ชอบของเล่น หรือการแต่งตัวของเพศที่ตรงข้าม กับเพศของตนมากกว่าเด็กทั่วๆ ไปเป็นระยะเวลานาน ก็อาจเป็นการสัญญาณว่าจริงๆ แล้วเด็กอาจไม่พึงพอใจต่อเพศของตนที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจต้องติดตามต่อไปในช่วงวัยรุ่น

วัยรุ่นตอนต้น

เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสรีระ และอวัยวะในระบบสืบพันธุ์มากที่สุด จึงเป็นช่วงที่เด็กวัยรุ่นให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพศมากขึ้น ทั้งในเรื่องกายภาพและการทำงานของระบบสืบพันธุ์ โดยวัยรุ่นมักเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนในวัยเดียวกัน วัยรุ่นตอนต้นจะเริ่มมีการพัฒนาทัศนคติเรื่องเพศ เริ่มแสดงความสนใจเพศตรงข้ามแต่มักแสดงออกทางการปฏิสัมพันธ์ทั่วไป เช่น เริ่มคุยโทรศัพท์ ส่งอีเมล ส่งข้อความ หรือสนทนาผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น

วัยรุ่นตอนกลาง

วัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระบบสืบพันธุ์ จนสมบูรณ์เทียบเท่าวัยผู้ใหญ่ ในช่วงนี้ร่างกายจะเริ่มมีแรงขับทางเพศมากขึ้น อาจเริ่มมีแฟนหรือเริ่มออกเดท แต่ส่วนมากความสัมพันธ์จะเกิดจากความสนใจมากกว่าความรู้สึกลึกซึ้งหรืออยากมีเพศสัมพันธ์ต่อกัน พฤติกรรมทางเพศส่วนใหญ่เป็นการค้นหาและทดลอง ว่าสิ่งใดเหมาะกับตนมากที่สุด โดยวัยรุ่นตอนกลางจะพยายามทำความเข้าใจกับรสนิยมทางเพศของตนเอง และค้นหาความหมายที่สำคัญของความรัก ความสัมพันธ์สำหรับตนเอง วัยรุ่นกลุ่มนี้ที่ไม่พึงพอใจในเพศสรีระของตนมักเข้าใจตนเองมากขึ้น และรับรู้ว่าตนเองมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบชายหรือหญิงหรืออื่นๆ

วัยรุ่นตอนปลาย

วัยรุ่นตอนปลายเป็นวัยที่จะเริ่มมีเอกลักษณ์ของตนเอง และมีอัตลักษณ์ทางเพศที่มั่นคงแล้ว วัยรุ่นตอนปลายนี้จะกล้าคบเพื่อนต่างเพศ มีการพูดเรื่องเพศอย่างเปิดเผยกับเพศตรงข้าม เริ่มรู้สึกรัก และมีความผูกพันที่เกิดกับคนรัก

ปัญหาของเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ

เด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ มักมีความทุกข์ทรมาน เนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับสรีระทางเพศของตน ทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพจิตมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นที่ไม่สามารถแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างเปิดเผย

เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ ยังมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศตามวัย ทำ ให้ไม่สามารถทำนายได้อย่างแน่ชัดว่า เด็กและวัยรุ่นข้ามเพศจะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ข้ามเพศ หรือมีการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองกลับไปกลับมา หรือที่เรียกว่า “เพศลื่นไหล” โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นตอนต้น (อายุ 10-13 ปี) ดังนั้น การที่เด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ มีที่ปรึกษาที่ดีโดยเฉพาะเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกต่อสังคมในช่วงการเปลี่ยนแปลงช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ก็จะสามารถลดความตึงเครียดทางจิตใจไปได้ โดยไม่ต้องใช้ยารักษา

การดูแลรักษาเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ

เด็กและวัยรุ่นข้ามเพศส่วนหนึ่ง ตัดสินใจไม่เข้ารับบริการจากบุคลากรทางสาธารณสุข เพื่อหลีกเลี่ยงประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการมารับบริการ แพทย์พยาบาล ผู้ให้คำปรึกษา และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ดูแลเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ ควรมีความเข้าใจทัศนคติที่ถูกต้องและไม่ตัดสิน ควรให้ความสำคัญกับรายละเอียดในการให้บริการตั้งแต่เรื่องการเรียกชื่อ หรือคำสรรพนามของเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ โดยผู้ให้บริการควรแนะนำตนเองก่อน และสอบถามเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศว่า สะดวกจะให้เรียกแทนชื่อว่าอย่างไร นอกจากนี้ บุคลากรทุกคนควรมีภาษากายที่เหมาะสมต่อเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศด้วย

การดูแลรักษาในช่วงวัยเด็กหรือก่อนเข้าสู่วัยรุ่น

เนื่องจากเด็กในวัยนี้ไม่มีคำแนะนำในการใช้ยาและฮอร์โมน การดูแลรักษาควรมุ่งเน้นประเด็นเรื่องการช่วยเหลือให้เด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ มีพัฒนาการด้านอัตลักษณ์ทางเพศของตน และเน้นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัวด้านจิตสังคม โดยคำนึงถึงเรื่องการยอมรับในสังคมที่เด็กอาศัยอยู่ รับทราบถึงความรู้สึกคับข้องใจของเด็ก เมื่อต้องเผชิญต่อการไม่ยอมรับจากคนบางกลุ่มในสังคม โดยในรายที่มีปัญหามาก อาจจำ เป็นต้องช่วยปรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศให้กับบุคคลรอบๆ ตัว เช่น ครอบครัว ครูอาจารย์และเพื่อน ให้มีความเข้าใจและยอมรับในอัตลักษณ์ของเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศมากขึ้น รวมทั้งควรพิจารณาปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสม เพื่อให้เด็กและวัยรุ่นข้ามเพศใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสบายใจ เช่น คำเรียกนำหน้าชื่อ การใส่เครื่องแบบ การใช้ห้องน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ให้คำปรึกษาควรช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ โดยคำนึงถึงพัฒนาการและการรับรู้ตามวัยของเด็ก พร้อมทั้งช่วยเหลือครอบครัวในการปรับทัศนคติให้เป็นกลาง ไม่ตัดสิน เพื่อให้เด็กสามารถสำรวจและยอมรับ อัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ในที่สุด หากเด็กข้ามเพศมีปัญหาทางสุขภาพจิตที่รุนแรงควรส่งปรึกษาจิตแพทย์เด็กเพื่อดูแลร่วมด้วย ในช่วงวัยนี้ผู้ให้คำปรึกษาอาจให้คำแนะนำล่วงหน้า ถึงข้อมูลเกี่ยวกับแผนการรักษาเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่นต่อไป

การดูแลรักษาเมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเข้าสู่วัยรุ่น

การรักษาระยะเริ่มต้นแบบที่สามารถเปลี่ยนกลับได้

เมื่อเด็กข้ามเพศ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเข้าสู่วัยรุ่น แพทย์ควรพิจารณาเริ่มให้การรักษาด้วยให้ยา Gonadotropin Releasing Hormone (GnRH) analogues เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนเพศ ซึ่งการให้ยาดังกล่าวนี้หากต่อมา  มีการหยุดการรักษา วัยรุ่นข้ามเพศจะยังสามารถสร้างฮอร์โมนจากต่อมเพศกำ เนิดของตนเองต่อไปได้ซึ่งยา GnRH analogues เป็นยาที่มีผลข้างเคียงในต่ำ ไม่เป็นพิษต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกายและไม่เพิ่มความเสี่ยงเรื่องการเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม สำหรับในประเทศไทยปัจจุบันการเบิกจ่าย GnRHanalogues จากโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังไม่ครอบคลุมกรณีเด็กข้ามเพศ (เบิกจ่ายได้เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคเข้าสู่หนุ่มหรือสาวก่อนวัยอันควรเท่านั้น)

จากการศึกษาพบว่า การรักษาด้วยยา GnRH analogues นี้สามารถลดความทุกข์ทรมาน อันเนื่องมาจากสรีระตามเพศกำเนิดไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศในเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศได้ อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางสรีระไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ในเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น เสียงห้าว มีเต้านมขึ้น เป็นต้น และยังเป็นการช่วยให้เด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ มีระยะเวลาที่จะสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ก่อนจะตัดสินใจรับการรักษาในลำดับต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงร่างกายในระยะยาว หรือสามารถเลือกตัดสินใจหยุดการรักษา ถ้าหากพบว่าตนไม่ใช่คนข้ามเพศ

ข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วย GnRH analogues ในเด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ
  • เมื่อเด็กหรือวัยรุ่นข้ามเพศมีภาวะที่มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก (Gender Dysphoria) ชัดเจนเป็นระยะเวลายาวนาน
  • เด็กหรือวัยรุ่นข้ามเพศมีเริ่มภาวะที่มีความไม่สอดคล้องอย่างมาก (Gender Dysphoria) หรือมีอาการแย่ลงเมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเข้าสู่วัยรุ่น
  • ได้ผ่านการประเมินและรักษาภาวะผิดปกติทางร่างกาย จิตใจ และสังคม จนสามารถควบคุมปัญหาดังกล่าวได้ดีแล้ว
  • ได้รับคำอธิบายอย่างครบถ้วน เข้าใจถึงข้อดีข้อเสีย ตลอดจนขั้นตอนการรักษา และลงนามคำยินยอมรับการรักษา (หากเด็กหรือวัยรุ่นข้ามเพศมีอายุน้อยกว่า 18 ปีจำเป็นต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอมด้วย)

การรักษาด้วยยาและฮอร์โมนแบบที่สามารถเปลี่ยนกลับได้บางส่วนหรือเปลี่ยนกลับไม่ได้บางส่วน

การให้ฮอร์โมนข้ามเพศในวัยรุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของร่างกายตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ซึ่งก่อนการเริ่มให้ยาหรือฮอร์โมนในวัยรุ่นข้ามเพศนั้น จะต้องได้รับการประเมินทางจิตใจและสังคมอย่างละเอียดครบถ้วนก่อน และต้องมีการเซ็นยินยอมจากผู้ที่จะรับฮอร์โมนด้วย (หากอายุน้อยกว่า 18 ปี จำเป็นต้องมีผู้ปกครองเซ็นให้คำยินยอมให้การรักษาด้วย)

การให้ยาและฮอร์โมนข้ามเพศส่วนใหญ่ เริ่มที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งในบางครั้งเด็กหรือวัยรุ่นข้ามเพศ อาจได้รับฮอร์โมนข้ามเพศเองตั้งแต่ก่อนเข้าวัยรุ่น (หรืออายุประมาณ 10-11 ปี) มาก่อนแล้ว โดยอาจได้รับคำแนะนำจากเพื่อนหรือรุ่นพี่หรือซื้อมาใช้ด้วยตนเอง ซึ่งอาจมีอันตรายจากการใช้ยาและฮอร์โมนที่ไม่เหมาะสมได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ให้คำปรึกษาพึงระวัง หากจะแนะนำให้เด็กหรือวัยรุ่นข้ามเพศหยุดการใช้ฮอร์โมนเหล่านั้นในทันทีเพราะอาจทำให้เด็กเสียความมั่นใจ และตัดสินใจไม่มาติดตามการรักษาต่อไปได้

หลักการในการดูแลเด็กหรือวัยรุ่นข้ามเพศ เรื่องการรักษาด้วยยาและฮอร์โมน ควรเริ่มจากการสร้างสัมพันธภาพที่ดี เพื่อให้เด็กหรือวัยรุ่นข้ามเพศเต็มใจที่จะเปิดเผยรายละเอียดการใช้ยา และฮอร์โมนข้ามเพศที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ หลังจากนั้น จึงค่อยเริ่มเข้าสู่กระบวนการให้ฮอร์โมนข้ามเพศ ดังนี้

  • ตรวจประเมินความเสี่ยงและข้อห้ามในการให้ยาและฮอร์โมนข้ามเพศ
  • แนะนำวิธีการใช้ยาและฮอร์โมนข้ามเพศ
  • ให้ยาและฮอร์โมนข้ามเพศ
  • แนะนำผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาและฮอร์โมนข้ามเพศ

แนวทางการรักษาเพื่อการข้ามเพศในเด็กและวัยรุ่น

อายุ 11-12 ปี

อายุ 15-16 ปี

การรักษา: ยา GnRHanalogues
การตรวจประเมินก่อนเริ่มการรักษา

  • ซักประวัติเกี่ยวกับโรคประจำตัว, ยาที่ใช้ประจำ และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
  • ตรวจร่างกายทั่วไป
  • วัดความดันโลหิต
  • คำนวณดัชนีมวลกาย (BMI)
  • ตรวจความหนาแน่นกระดูก
  • ตรวจเลือด
    • การทำงานของตับและไต
    • ระดับไขมันในเส้นเลือด
    • ระดับน้ำตาลในเลือด
  • ตรวจโครโมโซม หากมีข้อบ่งชี้

การรักษา: ยาและฮอร์โมนข้ามเพศ
การตรวจประเมินก่อนเริ่มการรักษา

  • ซักประวัติเกี่ยวกับโรคประจำตัว, ยาที่ใช้ประจำ และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
  • ตรวจร่างกายทั่วไป
  • วัดความดันโลหิต
  • คำนวณดัชนีมวลกาย (BMI)
  • ตรวจความหนาแน่นกระดูก
  • ตรวจเลือด
    • การทำงานของตับและไต
    • ระดับไขมันในเส้นเลือด
    • ระดับน้ำตาลในเลือด
  • ตรวจโครโมโซม หากมีข้อบ่งชี้
    ชายข้ามเพศ
    ตรวจความเข้มข้นเม็ดเลือดแดง
    หญิงข้ามเพศ
    ตรวจค่าฮอร์โมนโปรแลคติน

การตรวจติดตามทุก 3-6 เดือน

  • ตรวจร่างกายทั่วไป
  • ตรวจความหนาแน่นกระดูกทุก 2-3 ปี
  • ตรวจพัฒนาการตามภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย
  • ตรวจประเมินผลข้างเคียงของยาและฮอร์โมนที่ใช้รักษา

ชนิดและขนาดที่แนะนำของฮอร์โมนข้ามเพศ

การเหนี่ยวนำลักษณะทางเพศ แบบค่อยเป็นค่อยไป

  • หญิงข้ามเพศ: ให้ฮอร์โมน 17β-estradiol โดยเพิ่มขนาดยาทุก 6 เดือน เริ่มจาก
  • 5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม/วัน
  • 10 ไมโครกรัม/กิโลกรัม/วัน
  • 15 ไมโครกรัม/กิโลกรัม/วัน
  • 20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม/วัน
  • สูงสุด 2 มิลลิกรัม/วัน

ชายข้ามเพศ: ให้ฮอร์โมน Testosterone โดยเพิ่มขนาดยาทุก 6 เดือน เริ่มจาก

  • 25 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวกาย (ตร.ม.) ฉีดเข้ากล้ามทุก 2 สัปดาห์
  • 50 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวกาย (ตร.ม.) ฉีดเข้ากล้ามทุก 2 สัปดาห์
  • 75 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวกาย (ตร.ม.) ฉีดเข้ากล้ามทุก2 สัปดาห์
  • 100 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวกาย (ตร.ม.) ฉีดเข้ากล้ามทุก2 สัปดาห์

หากเริ่มต้นให้ฮอร์โมนที่อายุ 15-16 ปี

หญิงข้ามเพศ:

  • เริ่มต้นให้ 17β-estradiol 1 มิลลิกรัม/วัน
  • หลังจากครบ 6 เดือน ปรับเป็น 2 มิลลิกรัม/วัน

ชายข้ามเพศ:

  • เริ่มต้นให้ Testosterone 75 มิลลิกรัม/สัปดาห์
  • หลังจากครบ 6 เดือน ปรับเป็น 100 มิลลิกรัม/สัปดาห์

ผลข้างเคียงที่พบได้จากการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ

หญิงข้ามเพศที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน

ชายข้ามเพศที่ได้รับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

ผลข้างเคียงที่มีความเสี่ยงสูง

  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ

ผลข้างเคียงที่มีความเสี่ยงปานกลาง

  • เนื้องอกของต่อมใต้สมองชนิดโปรแลคติโนมา
  • มะเร็งเต้านม
  • โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
  • เส้นเลือดสมองตีบ
  • นิ่วในถุงน้ำดี
  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง

ผลข้างเคียงที่มีความเสี่ยงสูง

  • ภาวะเลือดข้น (ค่าฮีมาโทคริต >50%)

ผลข้างเคียงที่มีความเสี่ยงปานกลาง

  • ภาวะตับทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง (มีเอนไซม์ทรานซามิเนส สูงมากกว่า 3 เท่าของค่าปกติ)
  • โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
  • เส้นเลือดสมองตีบ
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • มะเร็งเต้านมและมะเร็งมดลูก

การรักษาด้วยการผ่าตัด

สำหรับการผ่าตัดแปลงเพศในวัยรุ่นข้ามเพศ ควรพิจารณาในกรณี ต่อไปนี้

  1. วัยรุ่นข้ามเพศที่อายุถึงเกณฑ์ที่กำหนดโดยในประเทศไทย อนุญาตให้ทำการผ่าตัดแปลงเพศได้ในวัยรุ่นข้ามเพศที่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  2. วัยรุ่นข้ามเพศทดลองใช้ชีวิตแบบเพศตรงข้าม ตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อกันอย่างน้อยนาน 12 เดือนเพื่อให้มีความมั่นใจในเพศที่จะผ่าตัดแปลงเพศ
  3. วัยรุ่นข้ามเพศต้องได้รับการประเมินและเห็นชอบ กับการผ่าตัดจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อย 2 ท่าน

 

ที่มา: เด็กและวัยรุ่นข้ามเพศ (Transgender Children and Adolescents) : คู่มือการให้บริการสุขภาพคนข้ามเพศประเทศไทย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (IHRI)