
การข้ามเพศหรือการแปลงเพศ
การเป็นสาวข้ามเพศแน่นอนว่า เพื่อปรับเพศสรีระจากชายเป็นหญิงต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล อย่างน้อยๆ ค่าใช้จ่ายฮอร์โมนเพศหญิง อย่างเช่น แอนโดคัวร์ (Androcur) ซึ่งเป็นสารต้านแอนโดรเจน ที่ยับยั้งฤทธิ์ฮอร์โมนเพศชาย และโปรกีโนวา (Progynova) คือยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง โดยพื้นฐานตัวยาสองชนิดนี้สาวข้ามเพศเราจะเสียเงินให้กับการใช้ฮอร์โมนเหล่านี้ประมาณ 600-700 บาทต่อเดือน และถ้าเราคูณมูลค่าไป เราอาจจะเสียเงินมากถึง 8,400 บาทต่อเดือน และถ้าเราใช้หลายๆ ปีค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น
นี่ยังไม่รวมกับการศัลยกรรมเพื่อทำให้เพศสรีระเรามีลักษณะที่สอดรับกับความเป็นผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่น การศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าที่มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นตั้งแต่ 10,000 บาทหรือมากกว่านั้น การทำศัลยกรรมหน้าอกมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 50,000 บาทหรือมากกว่านั้น และการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศ (ผ่าตัดแปลงเพศ) มีค่าใช้จ่าย 200,000 บาทหรือมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นประโยคที่บอกว่ากว่าจะข้ามเพศสำเร็จต้องใช้เงินเป็นล้าน จึงไม่เกินจริง!!!
อินโฟดังกล่าวถึงแม้จะคาดเคลื่อนไปบ้าง เช่น ยาคุมหรือการฉีดยาคุมไม่ปลอดภัยต่อสาวข้ามเพศ แต่สิ่งที่เห็นมันคือความยากลำบากที่สาวข้ามเพศที่ปรารถนาอยากจะมีเพศสรีระให้ตัวเองเหมือนผู้หญิง รวมถึงการยืนยันเพศต้องเสียเงินมูลค่ามหาศาล การที่มีข้อเรียกร้องว่าสิทธิของคนข้ามเพศให้เข้าถึงรัฐสวัสดิการ และการข้ามเพศคือเรื่องสุขภาพจึงเป็นข้อท้ายของสังคมไทย
ทุกวันนี้เมื่อเราหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุย คนข้ามเพศมักคนถูกทัวร์ลงว่าจะให้รัฐมาสนับสนุนความสวยงามของบุคคลคนหนึ่งเหรอ โดนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เราลืมมองไปหรือไม่ว่าในประเทศที่พัฒนา ที่มีการเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม เช่น สวีเดน เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เบลเยียม ฟินแลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฝรั่งเศส สามารถให้การศัลยกรรมบางส่วนและการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามระเบียบข้อกฎหมายที่กำหนดนอกจากนี้ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น ประจำคลินิกเพศหลากหลาย รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า คนข้ามเพศมีความต้องการด้านสุขภาพที่เฉพาะเจาะจง เช่น การรับฮอร์โมนเพศเพื่อเริ่มกระบวนการปรับเปลี่ยนสรีระ หรือการรับบริการผ่าตัดเพื่อข้ามเพศ ดังนั้นการมีบริการสุขภาพที่เกี่ยวกับการข้ามเพศโดยเฉพาะจึงเป็นเรื่องสำคัญมากและสัมพันธ์โดยตรงกับสุขภาพใจ เพราะคนข้ามเพศจำเป็นต้องเข้าถึงบริการสุขภาพด้านการข้ามเพศ เช่น การรับฮอร์โมนเพศ เพื่อลดภาวะความกังวลเรื่องความเป็นเพศของตน (Gender Dysphoria)
และ ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และอาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “การลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศในประเทศไทยต้องอาศัยการทำงานเชิงนโยบายที่เอื้อ ต่อคนข้ามเพศ การมีทัศนคติที่เข้าใจปัญหาที่คนข้ามเพศเผชิญหน้าในสังคมที่ยังมีปัญหาการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทำความเข้าใจและเห็นความเป็นมนุษย์ที่ทุกข์ร้อนจากระบบการบริการสุขภาพทั้งทางกาย และจิตใจที่ยังคงมีช่องว่างให้พัฒนา สังคมสามารถขับเคลื่อนไปได้เมื่อทำความเข้าใจและผลักดันไปด้วยกันเพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อสุขภาพกายและจิตที่ดีของคนข้ามเพศ และทุกคนในสังคม” นี่จึงเป็นภาพสะท้อนระบบการเมืองที่ดี ไม่ใช่การสนับสนุนความงามในเชิงปัจเจกที่ทำให้คนๆ หนึ่งโดยไม่เห็นหัวคนอื่นแต่อย่างใด
อ้างอิงจาก:
Young Pride Club
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กฎหมายยอมรับสถานะผู้ผ่าตัดแปลงเพศของประเทศในทวีปยุโรป เงื่อนไข : สถานะทางกฎหมายภายหลังการแปลงเพศ โดย นายวัชรินทร์ สังสีแก้ว อัยการประจำกรม