เป็นเวลา 9 เดือน นับตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรของไทย รับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวาระแรก
และเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลใช้บังคับในอีก 120 วันข้างหน้า หรือวันที่ 22 ม.ค. 2568
กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ไม่เพียงมอบสิทธิให้กับบุคคลหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) แต่มาพร้อมกับหน้าที่ในฐานะคู่สมรส โดยสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ในหลายด้านจะเป็นไปตามสิทธิที่คู่สมรสได้ในกฎหมายอื่น ๆ ทันที ขณะที่บางกรณี แม้จะสามารถจดทะเบียนสมรสได้แล้ว แต่ยังต้องรอการแก้ไขกฎหมายอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน
ในวาระที่การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมใกล้จะเกิดขึ้นจริงในต้นปีหน้า บีบีซีไทยสำรวจสิทธิต่าง ๆ ที่คู่สมรส LGBTQI+ จะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้
สิทธิและหน้าที่ที่มีผลทันที เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมใช้บังคับ
- การหมั้น - การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว (มาตรา 1435)
- การสมรส - การสมรสจะกระทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ (มาตรา 1448)
- การจดทะเบียนสมรส - การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย (มาตรา 1458)
- การหย่า – เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว (มาตรา 1515)
- การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สิน และการจัดการหนี้สินร่วมกัน
- สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส
- การให้ความยินยอมต่อการรักษาพยาบาล
- การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 1463)
- การอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส – ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคู่สมรส หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดู ไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ (มาตรา 1598/38)
- การรับบุตรบุญธรรมร่วมกันในฐานะคู่สมรส ใช้สิทธิตามกฎหมายแพ่งฯ ในมาตราว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรม
รับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ทันที
ภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับใหม่ คู่สมรส LGBTQI+ ที่จดทะเบียนตามกฎหมายนี้ สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ ตามกฎหมายรับบุตรบุญธรรมที่มีอยู่เดิม นั่นคือประมวลกฎหมายแพ่งฯ หมวด 4 ว่าด้วยบุตรบุญธรรม
เรื่องนี้ นัยนา สุภาพึ่ง กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม อธิบายในงานเสวนา "เตรียมประเทศไทยสู่กฎหมายสมรสเท่าเทียม" เมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า แม้ก่อนมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม บุคคล LGBTQI+ สามารถรับบุตรบุญธรรมได้ แต่สิทธิในการรับบุตรร่วมกันของคู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถทำได้ แต่ทันทีที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว การรับบุตรบุญธรรมทั้งคู่ก็สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย
“ในกฎหมายเดิมบอกว่า บุตรบุญธรรมจะต้องเป็นบุตรบุญธรรมของคนเดียว แต่ถ้าจดทะเบียนสมรสแล้วก็สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้” นัยนา กล่าว
นั่นหมายความว่า ก่อนมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม คู่รักหลากหลายทางเพศ แม้ก่อตั้งเป็นครอบครัว แต่ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายเป็นคู่สมรส ดังนั้นจึงไม่สามารถจะรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายได้ แต่เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ คู่สมรสไม่ว่าจะมีเพศใดก็ตามย่อมสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1598/26 ทันที ซึ่งอนุญาตให้มีการรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ เฉพาะในกรณีคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม รับเอาบุตรบุญธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นบุตรบุญธรรมของตน
จดทะเบียนสมรสกับต่างชาติได้ทันที แต่การได้สัญชาติตามคู่สมรสยังต้องรอแก้กฎหมาย
ในการเสวนาครั้งเดียวกัน นัยนากล่าวว่า คำถามยอดฮิตที่มีมาในช่วงนี้คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม สามารถใช้กับคนต่างชาติได้หรือไม่
คำตอบคือ "ได้" แต่การที่จะให้คู่สมรสได้สัญชาติไทยยังมีเงื่อนไขที่ยังไม่สามารถทำได้ทันที เพราะ ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ ระบุเฉพาะกรณีของภรรยาต่างชาติที่จะขอสัญชาติตามสามี ซึ่งต้องมีการแก้ไขกฎหมายนี้ตามมา
การได้สัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ 2508 ในมาตรา 9 ระบุว่า กรณีที่ภรรยาจะขอถือสัญชาติไทยตามสามี ต้องจดทะเบียนสมรสกับชายไทยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันที่ยื่นคำขอ และยังมีบทบัญญัติในมาตรา 10 ว่าคนที่ขอสัญชาติต้องมีความรู้ภาษาไทย โดยสามารถพูดภาษาไทยและฟังภาษาไทยเข้าใจ
นัยนาชี้ว่า นี่คือร่องรอยของสถานะที่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะ LGBTQI+ แต่ยังรวมถึงการเลือกปฏิบัติระหว่างชายหญิงที่เป็นมาอย่างช้านาน เพราะประมวลกฎหมายแพ่งฯ เขียนขึ้นมาในบริบทสังคมในอดีตที่ให้คุณค่าทางเพศต่างกัน
กมธ. ผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า หากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับ คำว่า “คู่สมรส” จะครอบคลุมทุกเพศ และคาดว่าจะทำให้เงื่อนไขในกฎหมายสัญชาตินี้ถูกแก้ไขไปด้วย
“ทันทีที่คำว่า คู่สมรสเปลี่ยนไป กฎหมายสัญชาติ ต้องเปลี่ยน ซึ่งจะเป็นอานิสงส์กับหญิงชายด้วยเหมือนกัน” นัยนากล่าว พร้อมบอกด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ มีกรอบเวลาที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ จะต้องแจ้งต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการทบทวนและแก้ไขภายใน 180 วัน
ยังมีบุตรหลอดแก้วจากการใช้สิทธิตามกฎหมายเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ไม่ได้
ก่อนหน้านี้ ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่กรรมาธิการร่างกฎหมายมองว่า เป็นอุปสรรคต่อการที่คู่สมรสเพศเดียวกันจะสามารถมีและใช้สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวได้อย่างเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง คือ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
ฉัตรชัย เอมราช ทนายความและที่ปรึกษา กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับบีบีซีไทยก่อนหน้านี้ว่า ข้อความใน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ที่ใช้บังคับเฉพาะคนที่ไม่อาจมีบุตรสืบสายโลหิตร่วมกันได้ตามธรรมชาติ ยังคงมีการยึดโยงกับความเป็นชายและหญิง และสถานะของการเป็นสามีและภริยา เนื่องจากบริบททางกฎหมายและสังคมในช่วงที่มีการยกร่าง พ.ร.บ. ในขณะนั้น ซึ่งมีการเขียนไว้ในกฎหมายหลายมาตรา เช่น
- มาตรา 19 กำหนดให้การผสมเทียมต้องกระทำต่อ “หญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย”
- มาตรา 21 กำหนดเงื่อนไขสำคัญของการตั้งครรภ์แทนว่า ต้องกระทำโดย “สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย”
“ข้อความเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วย และอาจเป็นอุปสรรคสำคัญของคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ไม่ได้มีสถานะเป็น "สามี" และ "ภริยา" ในการเข้าถึงบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นช่องทางเดียวในปัจจุบันที่อาจทำให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถมีครอบครัวได้”
สำหรับความคืบหน้าเรื่องการแก้กฎหมายฉบับนี้ คณะทำงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่ระหว่างการยกร่างแก้ไข
สิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่จะเป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ ยังมีอีกหลายเรื่อง ซึ่งมาตรา 67 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้เขียนไว้ด้วยว่า “บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีใดที่อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ด้วย”
Cr:bbc